xs
xsm
sm
md
lg

เที่ยวได้ตามใจ!! Self Drive North ขับรถเที่ยว “น่าน-แพร่-อุตรดิตถ์” เมืองสุดฮิตแห่งภาคเหนือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ทะเลหมอกยามเช้าบนดอยเสมอดาว
น้ำตาแทบจะไหลเมื่อได้สัมผัสลมหนาวของจริงเสียที หลังจากมีแต่ลมร้อนมานานแม้จะเข้าหน้าหนาวอย่างเป็นทางการตั้งนานแล้วก็ตาม หนาวนี้มีหรือจะพลาดมาเยือนเมืองเหนือ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ “ตะลอนเที่ยว” ได้มาเยือน 3 เมืองเหนือน่าเที่ยวอย่าง “น่าน-แพร่-อุตรดิตถ์” ที่มาคราวนี้ได้ขับรถเที่ยวเองกับโครงการ Self Drive North ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ภูมิภาคภาคเหนือ เขาจัดแพ็คเกจเช่ารถขับเที่ยวแบบสบายๆ ใช้บริการรถเช่าของ Hertz Car Rental เช่ารถที่น่าน ตระเวนขับรถเที่ยวไล่จากน่านไปแพร่ ไปอุตรดิตถ์ แล้วเอารถไปคืนที่สนามบินพิษณุโลกได้แบบไม่ต้องเสียค่าส่งรถต่างถิ่นอีกด้วย แจ๋วสุดๆ

สำหรับการท่องเที่ยวครั้งนี้ ได้มาเที่ยว “น่าน เมืองต้องห้าม...พลาด Plus แพร่” ซึ่งทั้งสองจังหวัดเป็นเมืองรองที่น่าเที่ยวและสามารถเดินทางเชื่อมโยงกันได้อย่างสะดวกสบาย ส่วนอำเภอลับแล อุตรดิตถ์ ก็เป็นเมืองที่มีตำนานเรื่องเล่า “เขาเล่าว่า...” ที่นี่เป็นเมืองที่ห้ามโกหก เรียกว่ามาครั้งนี้ได้เที่ยวทั้งสามเมืองเหนือที่มีความน่าสนใจต่างกันไป
พระประธานจตุรทิศภายในวิหารวัดภูมินทร์
เริ่มต้นกันที่เมืองน่าน เมื่อมาถึงน่านแล้ว ต้องแวะไปกราบพระเอาฤกษ์เอาชัยที่ “วัดภูมินทร์” กันเสียหน่อย วัดแห่งนี้ขึ้นชื่อเรื่องความงามอันประณีต วัดภูมินทร์มีพระวิหารและพระอุโบสถเป็นหลังเดียวกัน สร้างในรูปทรงจัตุรมุขที่ดูคล้ายตั้งอยู่บนหลังพญานาคขนาดใหญ่ 2 ตัว ซึ่งเทินพระอุโบสถไว้บนหลังกลางลำตัว เมื่อเข้าไปด้านในยิ่งน่าอัศจรรย์ใจเมื่อเห็นพระประธานปางมารวิชัยขนาดใหญ่ 4 องค์นั่งหันเบื้องปฤษฎางค์(หลัง)ชนกัน หันพระพักตร์ออกสู่ประตูทั้งสี่ทิศ งามแปลกแตกต่างเป็นหนึ่งเดียวในประเทศ

นอกจากจะได้กราบพระแล้ว ก็ยังจะได้ชม “ฮูปแต้ม” อันเลื่องชื่อของวัดภูมินทร์ที่สันนิษฐานว่า “หนานบัวผัน” ศิลปินพื้นเมืองชาวไทลื้อเป็นผู้วาดขึ้น ซึ่งภาพวาดได้แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และการแต่งกายของชาวเมือง โดยฮูปแต้มที่โดดเด่นเป็นพิเศษและเป็นที่กล่าวขวัญถึงมากที่สุดในวัดภูมินทร์ ต้องยกให้ภาพ “ปู่ม่าน ย่าม่าน” ภาพขนาดใกล้เคียงกับคนจริงของชายหนุ่มและหญิงสาวในชุดแต่งกายแบบพม่าหรือแบบไทยใหญ่ ในอิริยาบถคล้ายกำลังกระซิบกระซาบถ้อยคำบางอย่างแก่กัน
ทิวทัศน์บนดอยเสมอดาวมองเห็นแม่น้ำน่านเบื้องล่าง
จุดกางเต็นท์บนดอยเสมอดาว
จากนั้นเราขับรถออกจากเมืองน่านมาทางใต้ มุ่งหน้ามายัง อ.นาน้อย เพื่อจะมารับลมหนาว ชมความงามของ “ดอยเสมอดาว” ในอุทยานแห่งชาติศรีน่านกัน โดยที่นี่ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวไฮไลท์แห่งเมืองน่าน นักท่องเที่ยวสามารถกางเต็นท์พักค้างแรมได้โดยทางอุทยานฯ ได้จัดพื้นที่ไว้เป็นสัดส่วน พร้อมห้องน้ำ-ห้องอาบน้ำไว้ให้บริการ นักท่องเที่ยวที่มาเยือนจะสามารถชมทะเลหมอกและพระอาทิตย์ขึ้นเหนือยอดเขาในยามเช้า ส่วนยามเย็นที่นี่จะเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกชั้นดี และในยามราตรีก็เป็นจุดชมดาวแสนงามท่ามกลางบรรยากาศการนอนเต็นท์พักค้างแรม ในหน้าหนาวจึงมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากมาเยือนดอยเสมอดาวแห่งนี้
กระโดดเสมอดาว
คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่
จากนั้นเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองแพร่กันบ้าง เมื่อมาถึงเมืองแพร่แล้ว เราได้ไปแวะชม “คุ้มเจ้าหลวง” หรือคุ้มเจ้าเมืองแพร่ ที่ปัจจุบันจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เมือง คุ้มเจ้าหลวงแห่งนี้สร้างโดยเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองเมืองแพร่องค์สุดท้าย ในปี 2435 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ตกแต่งด้วยลายฉลุสวยงามทั้งภายนอก ภายใน อีกทั้งยังมีความพิเศษตรงที่อาคารหลังนี้ไม่มีการฝังเสาเข็ม หากแต่ใช้ไม้ซุงเป็นท่อนวางเรียงเป็นฐานรากแทน

ภายในที่จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์นั้นแบ่งพื้นที่ออกเป็นห้องต่างๆ อาทิ ห้องพิริยภูมิศิลป์ นำเสนอมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่น) ห้องพิริยทัศนา นำเสนอแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดแพร่ ห้องพิริยสวามิภักดิ์ เป็นห้องเทิดพระเกียรติ ห้องพิริยอาลัยนำเสนอประวัติเจ้าหลวง เป็นต้น พร้อมข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่ เฟอร์นิเจอร์ รูปภาพเก่า ฯลฯ อีกทั้งใต้ถุนของตัวอาคารที่ในอดีตใช้เป็นที่คุมขังนักโทษหรือคุกในชั้นใต้ดิน ก็ยังเปิดให้เข้าชมบรรยากาศคุกเก่าโบราณได้อีกด้วย โดยใครที่จะลงไปชม คนเมืองแพร่เขามีเคล็ดอยู่ว่า อย่าเดินหน้าหันหน้าเข้าคุกเป็นอันขาด แต่ให้เดินถอยหลังเข้าคุกแทน ส่วนตอนออกก็เดินหน้าออกมาอย่าหันหลังไปมองคุก เพราะอาจจะทำให้ต้องโทษเข้าคุกในอนาคตได้
ห้องจัดแสดงภายในคุ้มเจ้าหลวง
พระรูปของท่านเจ้าของคุ้ม
ตักบาตรบนเมก
เช้าวันใหม่ในเมืองแพร่ เราได้มาตักบาตรบนเมกกัน “เมก” ที่ว่านี้ไม่ได้สะกดผิด เพราะคำว่าเมกนี้หมายถึงกำแพงเมืองเก่าของเมืองแพร่ ที่ปัจจุบันเหลือแต่แนวคันดินความสูงประมาณ 5 ม. กว้าง 10 ม. มีคูเมืองอยู่ชิดรอบนอกคันดิน โดยคูเมืองที่เหลืออยู่นี้ปัจจุบันเมืองแพร่ได้ปรับปรุงให้เป็นทางเดินออกกำลังกาย ชมทิวทัศน์ และเป็นที่นั่งเล่นพักผ่อนหย่อนใจของชาวเมืองแพร่ ซึ่งในเช้าวันนี้ที่เรามาเที่ยวเมืองแพร่กันเป็นหมู่คณะ จึงมีโอกาสได้ “ตักบาตรบนเมก” หรือตักบาตรกันบนกำแพงเมืองแพร่นั่นเอง
สถานีรถไฟบ้านปินในสไตล์บาวาเรียน
จากนั้นมุ่งหน้าไปยังอำเภอลอง อำเภอชื่อสั้นๆ แต่มีสิ่งน่าสนใจหลากหลายไม่น้อย โดยเราได้มาชม “สถานีรถไฟบ้านปิน” กันเป็นแห่งแรก สถานีรถไฟที่สร้างในสมัย ร.6 ในปี 2457 นี้มีความพิเศษตรงที่เป็นสถานีรถไฟแห่งเดียวของไทยที่สร้างในสไตล์ “เฟรมเฮาส์” แบบบาวาเรียน ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในแคว้นบาวาเรียนของประเทศเยอรมัน โดยเมืองแพร่นั้นอุดมไปด้วยไม้สัก จึงทำให้นายช่างชาวเยอรมันออกแบบสถานีแห่งนี้ด้วยสไตล์บาวาเรียนซึ่งเป็นสไตล์ที่ใช้ไม้เป็นวัสดุสำคัญ ออกแบบผสมผสานกับเรือนปั้นหยาแบบไทยๆ ออกมาเป็นสถานีรถไฟบ้านปินอันเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร และยังได้รับการดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพดีอีกด้วย
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นโกมลผ้าโบราณ
ไม่ไกลจากสถานีรถไฟบ้านปิน เป็นที่ตั้งของ “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นโกมลผ้าโบราณ” ของ อ.โกมล พานิชพันธ์ ผู้ซึ่งสนใจในศิลปะของผ้าทอ โดยเฉพาะผ้าโบราณของเมืองลอง ผ้าซิ่นตีนจกของกลุ่มไทโยนกเมืองลอง และผ้าโบราณของล้านนา ไม่ว่าจะเป็นตีนจกแม่แจ่ม ตีนจกไหล่หิน ตีนจกนาน้อย ตีนจกหาดเสี้ยว ฯลฯ และได้นำเอาผ้าทอที่สะสมไว้นั้นมาจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์อันล้ำค่าสำหรับคนรักงานผ้าขึ้น

และนอกจากผ้าโบราณแล้ว ที่นี่ก็ยังมีการจัดแสดงผ้าที่ทางพิพิธภัณฑ์จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการแสดงภาพยนตร์หรือละครเรื่องต่างๆ อาทิ ภาพยนตร์เรื่องสุริโยทัย ละครเรื่องรอยไหม เป็นต้น และยังมีห้องจัดแสดงตุ๊กตาบาร์บี้ ที่แปลงโฉมมาแต่งตัวแบบชาวล้านนา นุ่งซิ่นตีนจกสวยๆ น่ารักมากทีเดียว
อ.โกมล และผ้าที่สะสมไว้ในพิพิธภัณฑ์
สักการะพระเจ้าพร้าโต้
จากพิพิธภัณฑ์ผ้า เปลี่ยนบรรยากาศมาเที่ยววัดไหว้พระกันบ้าง ที่ “วัดศรีดอนคำ” ใน อ.ลอง เช่นเดิม ที่นี่เป็นที่ประดิษฐาน “พระเจ้าพร้าโต้” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองลอง เป็นพระพุทธรูปไม้ปางมารวิชัย สร้างตั้งแต่ปี 2236 มีความพิเศษตรงที่ผู้สร้างพระพุทธรูปได้ใช้มีดอีโต้ (พร้าโต้) ถากแกะสลักไม้สักทองท่อนเดียว ให้ออกมาเป็นพระพุทธรูปในแบบศิลปะพื้นบ้านล้านนาอันขรึมขลัง เป็นที่เคารพศรัทธาของผู้คนในแถบนี้

ที่นี่เราได้ยินตำนานเกี่ยวกับ “คนแพร่แห่ระเบิด” ที่มีความเกี่ยวข้องกับวัดแห่งนี้ด้วย โดยตำนานดังกล่าวเล่ากันว่า ช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมืองแพร่ได้ถูกทหารฝ่ายสัมพันธมิตรนำเครื่องบินมาทิ้งระเบิดทำลายสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำยม บริเวณปากลำห้วยแม่ต้า เพื่อสกัดไม่ให้ทหารญี่ปุ่นเดินทางไปเชียงใหม่ และข้ามแดนต่อไปยังพม่า แต่พลาดถูกยิงตก ระเบิดหลายลูกที่เครื่องบินบรรทุกมายังไม่ระเบิด เมื่อคนงานรถไฟไปพบเข้าจึงไปช่วยกันเก็บกู้ลูกระเบิด โดยถอดชนวนแล้วใช้เลื่อยตัดเหล็กตัดส่วนหางของลูกระเบิดออก ควักดินระเบิดที่บรรจุอยู่ภายในทิ้ง ก่อนช่วยกันยกใส่เกวียนลากมาพักไว้ที่บ้านแม่หลู้
ระฆังที่ทำจากระเบิดภายในวัดศรีดอนคำ
แต่มีระเบิดหนึ่งอยู่ลูกหนึ่งจมอยู่ในหลุมทรายลึกจนต้องใช้ช้างมาฉุดลาก แล้วจึงนำไปไว้บนเกวียนบรรทุกเข้าหมู่บ้านเพื่อจะนำไปไว้ที่วัด เมื่อชาวบ้านทราบข่าวก็ออกมามุงดู บางคนได้นำฆ้อง กลอง ฉาบ ฉิ่ง ออกมาต้อนรับขบวนช้างแล้วแห่เข้าวัดเพื่อ โดยหลังจากถอดชนวน นำดินระเบิดออกจนหมด ได้นำซากลูกระเบิดไปทำความสะอาด ตัดเอาส่วนหัวที่เป็นเหล็กมาดัดแปลงทำเป็นระฆังถวายให้แก่วัดใน อ.ลอง 3 ลูก ใน 3 วัด คือ ที่วัดแม่ลานเหนือ วัดนาตุ้ม และวัดศรีดอนคำแห่งนี้

และนอกจากนั้น ที่วัดศรีดอนคำยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมาก ไม่ว่าจะเป็น พระธาตุห้วยอ้อ เจดีย์สีทองอร่ามคู่วัด และพิพิภัณฑ์วัดศรีดอนคำ ที่ภายในเก็บรักษาพระพุทธรูปเก่าแก่ หีบพระธรรมลวดลายวิจิตร ขันดอกโบราณ ขันแก้วตั้งสาม ข้าวของเครื่องใช้โบราณของคนเมืองลองในอดีต
บรรยากาศบริเวณหน้าวัดสะแล่ง
อีกหนึ่งวัดไม่ควรพลาดของ อ.ลองก็คือ “วัดสะแล่ง” วัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี ที่เคยเป็นวัดร้างมาหลายยุคหลายสมัย ครั้งสุดท้ายเป็นวัดร้างกว่า 300 ปี แต่เมื่อปี 2506 พระครูวิจิตรนวการโกศล หรือ พระครูบาสมจิต ติตฺตคุตฺโต ได้เข้ามาบูรณปฏิสังขรณ์วัดขึ้นจนมีความงดงามไม่แพ้วัดดังแห่งอื่นๆ

ภายในวัดสะแล่งมีพระพุทธรูปสำคัญคือ “พระเจ้าไม้แก่นจันทน์” ที่แกะสลักจากไม้แก่นจันทน์ มีขนาดหน้าตัก 14 นิ้ว เล่าว่าไม้จันทน์ท่อนนี้มีอายุกว่าพันปี เป็นไม้ของพระมหากษัตริย์พม่าสืบช่วงมาหลายพระองค์ ชาวบ้านเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์นี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการดลบันดาลโชคลาภ เรื่องของสุขภาพการเจ็บป่วยหายไข้ ความสำเร็จต่างๆ เป็นต้น อีกทั้งภายในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์เก็บสะสมโบราณวัตถุต่างๆ ที่น่าชมมากอีกด้วย
วิหารประดิษฐานพระเจ้าแก่นจันทน์
ภายในพิพิธภัณฑ์ของวัดสะแล่ง
ซุ้มประตูเมืองลับแล
เมื่อออกมาจากวัดสะแล่ง ก็ได้เวลาที่เราจะเดินทางเข้าสู่อุตรดิตถ์กันแล้ว โดยครั้งนี้เรามุ่งหน้ามาที่อำเภอลับแล มาตามเรื่องราว “เขาเล่าว่า...” ว่าเมืองนี้เป็นเมืองที่ห้ามพูดโกหก โดยหากจะท่องเที่ยวในเมืองลับแลแบบสะดวกที่สุดก็ต้องเป็นการนั่งรถรางเที่ยว โดยจุดขึ้นรถรางท่องเที่ยวนั้นอยู่บริเวณพิพิธภัณฑ์เมืองลับแล ด้านหน้าซุ้มประตูเมืองลับแล ที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของเมืองนี้

ด้านข้างซุ้มประตูเป็นที่ตั้งของ “ประติมากรรมแม่หม้ายเมืองลับแล” ที่แสดงถึงตำนานของเมืองลับแล ที่เล่าสืบขายกันมาว่า ชายหนุ่มคนหนึ่งได้พลัดหลงเข้าไปยังเมืองลับแล และได้พบรักกับหญิงสาวชาวลับแลจนเกิดความรักใคร่กัน หญิงสาวได้พาชายหนุ่มมาอยู่กินเป็นสามีภรรยาและมีลูกน้อยหนึ่งคน ภายใต้กฎของเมืองลับแลที่ว่า “ห้ามพูดโกหก”
บ้านเก่าในเส้นทางท่องเที่ยวรถรางเมืองลับแล
แต่วันหนึ่งสามีก็ทำผิดกฎที่ว่านี้ เมื่อภรรยาออกไปข้างนอก สามีต้องอยู่บ้านเลี้ยงลูกที่กำลังงอแง จึงเป็นเหตุให้พลั้งเผลอโกหกลูกว่า แม่กลับมาแล้วเพื่อให้ลูกหยุดร้องไห้ กฎก็ต้องเป็นกฎ ดังนั้นฝ่ายหญิงจึงจำเป็นต้องให้สามีไปเสียจากเมืองลับแล พร้อมทั้งจัดข้าวของใส่ย่ามให้สามีสำหรับการเดินทางกลับบ้าน แต่ระหว่างทางสามีรู้สึกว่าย่ามที่สะพายหนักขึ้นๆ เมื่อเปิดดูก็เห็นแต่แท่งขมิ้นอยู่ในย่ามจึงทิ้งไปจนเกือบหมด แต่พอกลับถึงบ้านและเปิดถุงย่ามออกก็พบว่าแท่งขมิ้นที่เหลือกลายเป็นทองคำ จึงเกิดความเสียดายและตัดสินใจเดินทางกลับไปเมืองลับแล แต่พยายามอย่างไรก็หาเมืองลับแลไม่พบอีก
ภายในพิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจก ไท-ยวน ลับแล
ตำนานและที่มาของชื่อเมืองลับแลนี้เราได้ฟังกันระหว่างนั่งบนรถรางชมเมืองลับแล และนอกจากตำนานเหล่านี้แล้ว ในเส้นทางรถรางก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “ถนนคนกิน” หรือ "ถนนราษฎร์อุทิศ" ที่มีของอร่อยหลากหลาย เช่น ร้าน “เจ๊นีย์ของทอดลับแล” ที่ขายของทอดต่างๆ คลุกแป้งสูตรเฉพาะ ร้าน “หมี่พันป้าหว่าง” หมี่พันของขึ้นชื่อใน อ.ลับแล ที่นำหมี่มาห่อด้วยข้าวแคบเป็นม้วน อร่อยติดใจไปตามๆ กัน นอกจากนั้นยังมีพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจอย่าง "พิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจก ไท-ยวน ลับแล" โดย จงจรูญ มะโนคำ หรือคุณโจ เป็นผู้ก่อตั้งเพื่อจัดแสดงผ้าเก่าอายุนับร้อยปี และผ้าพื้นเมืองแบบต่างๆ อันทรงคุณค่าอีกด้วย
แกะน้อยเล็มหญ้าอยู่ใต้ซุ้มต้นองุ่น
อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจในอุตรดิตถ์ที่ไม่อยากให้พลาดกันก็คือ “ไร่องุ่นคานาอัน” ไร่องุ่นแห่งแรกในจังหวัดอุตรดิตถ์ อยู่ใน อ.ทองแสนขัน ห่างจากตัวเมืองเพียง 18 ก.ม. ที่นี่เป็นไรองุ่นปลูกเพื่อกินผลสด มีให้กินและให้ชมได้ตลอดปี มีองุ่นหลากหลายพันธุ์ อาทิ พันธุ์ลูสเพอร์เลต ผลสีเขียวหวานอร่อย พันธุ์แบล็กโอปอล องุ่นสีดำลูกใหญ่ โดยที่นี่จะให้นักท่องเที่ยวสามารถลองตัดผลไม้องุ่นด้วยตนเอง เป็นกิจกรรมสนุกสนานอีกด้วย
พวงองุ่นห้อยระย้าที่ไร่องุ่นคานาอัน
นักท่องเที่ยวกำลังตกเหล็กน้ำพี้
และไม่ไกลกับไร่องุ่นคานาอัน เป็นที่ตั้งของ “บ่อเหล็กน้ำพี้” บ่อเหล็กกล้าชนิดหนึ่งที่ถือว่าเป็นของดี ของขลัง ไว้แก้อาถรรพ์ ป้องกันสิ่งชั่วร้ายต่างๆ ปัจจุบันบ่อที่ปรากฏให้เห็นชัดเจนมี 2 บ่อ คือบ่อพระขรรค์ และบ่อพระแสง ที่ปัจจุบันมีกิจกรรม “ตกเหล็กน้ำพี้” ให้นักท่องเที่ยวได้มาใช้เบ็ดไม้ยาวๆ ที่ปลายเบ็ดมีเชือกห้อยแม่เหล็กไว้ เมื่อหย่อนเบ็ดลงไปในบ่อ เศษเหล็กน้ำพี้ชิ้นเล็กๆ ก็จะติดแม่เหล็กขึ้นมา คนที่ตกได้ก็สามารถนำเหล็กน้ำพี้เหล่านั้นกลับบ้านไปได้เลย
เหล็กน้ำพี่ที่ตกขึ้นมาได้
มีดหมอที่ทำจากเหล็กน้ำพี้
เที่ยวที่อุตรดิตถ์เรียบร้อยแล้วเราขับรถกลับมาคืนที่สนามบินพิษณุโลก ใช้เวลาชั่วโมงกว่าๆ เท่านั้นก็ถึงแล้ว ทริปนี้เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน ที่เราได้ท่องเที่ยวใน 3 จังหวัด น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ขอบอกว่าคนที่ชอบขับรถเที่ยวไม่ควรพลาดมาเที่ยวแบบ Self Drive และอากาศหนาวๆ อย่างนี้มาเที่ยวเหนือเหมาะที่สุด ไม่อยากให้พลาดกัน

* * * * * * * * * * * * * * * * * * *


ททท.ภูมิภาคภาคเหนือได้จัดทำแพ็คเกจ “Self Drive North เที่ยวเหนือไม่ธรรมดา” เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวสามารถไปเยือนแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยแพ็คเกจนี้มีข้อเสนอพิเศษคือยกเว้นค่าธรรมเนียมในการส่งคืนรถต่างถิ่นได้ใน 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน สุโขทัย และพิษณุโลก และการซื้อผ่านบัตรท่องเที่ยวธนาคารกรุงเทพ รับส่วนลดทันที 500 บาท รวมทั้งของสมนาคุณจากพันธมิตรที่เข้าร่วมโครงการ โดยได้แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบคือ “Self Drive Package” รถเช่า 3 วัน+ที่พัก+อาหาร 1 มื้อ เริ่มต้นที่ 2,500 บาท/คน และ “Mini Caravan Package” รถเช่า 3 วัน+ที่พัก+อาหาร 1 มื้อ+เจ้าหน้าที่นำเที่ยว เริ่มต้นที่ 5,990 บาท สำหรับกลุ่มครอบครัว ใช้รถ 6-12 คัน/ทริป ใน 4 เส้นทาง คือ “น่าน-แพร่-อุตรดิตถ์-พิษณุโลก” “พิษณุโลก-สุโขทัย-พิษณุโลก” “เชียงราย-พะเยา-น่าน” และ “เชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง-พะเยา-เชียงราย” สอบถามรายละเอียดได้ที่ บริษัท วินวิน สไมล์ โทร.0 2153 8119 ถึง 20, 08 6062 4747, 09 8015 0026 ถึง 7 หรือบริษัทเพื่อนธรรมชาติ โทร. 0 2642 4426 ถึง 8, 08 1458 6386, 08 9811 3973
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น