• อาบน้ำแร่ แช่น้ำร้อน ช่วยผ่อนคลาย แต่อันตรายสำหรับคน 3 กลุ่ม
แม้ว่าการอาบน้ำแร่ แช่น้ำอุ่น น้ำพุร้อน จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตในร่างกาย ผ่อนคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ และลดความเครียดได้
แต่นายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข แนะนำว่า ขั้นตอนการลงแช่ต้องค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ร่างกายปรับตัว บุคคลที่ไม่ควรลงแช่ในน้ำประเภทนี้ มี 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เบาหวาน ซึ่งเป็นโรคที่มีผลต่อหลอดเลือดและหัวใจอยู่แล้ว โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน จะมีความเสี่ยงเกิดบาดแผลพุพองที่ผิวหนังที่เท้าอาจพบการติดเชื้อตามมาได้ 2.หญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากอุณหภูมิของน้ำจะทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย รวมทั้งที่มดลูกจะขยายตัว อาจเป็นอันตรายแก่เด็กในครรภ์และตนเอง 3.ผู้ที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อหรือมีบาดแผล อาจทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้น
นายแพทย์สุรเชษฐ์กล่าวต่อว่า ในกรณีของการแช่น้ำพุร้อน ควรอ่านป้ายคำแนะนำและปฏิบัติตามอย่างถูกต้อง สังเกตอุณหภูมิของน้ำที่ระบุไว้ ซึ่งอุณหภูมิที่เหมาะสมจะอยู่ที่ประมาณ 40 องศาเซลเซียส และไม่ควรแช่น้ำติดต่อกันเป็นเวลานาน วิธีที่ถูกต้องคือก่อนลงแช่น้ำให้อาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย 20 นาที และจุ่มมือทดสอบความร้อนของน้ำ จากนั้นค่อยๆหย่อนตัวลงแช่ในน้ำร้อนอย่างช้าๆ เพื่อให้ร่างกายปรับสภาพเข้ากับน้ำร้อน และแช่ประมาณ 10 นาที
• ใช้ยากันยุง ต้องระวัง!!
ย่างเข้าหน้าฝน เป็นช่วงที่โรคไข้เลือดออกระบาด วิธีเบื้องต้นที่จะป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออก คือ ต้องระวังไม่ให้โดนยุงลายกัด หนึ่งในวิธีการป้องกันอย่างง่ายๆ คือ ใช้ผลิตภัณฑ์ไล่ยุง
เภสัชกรประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้แนะนำวิธีเลือกซื้อและวิธีใช้ผลิตภัณฑ์ไล่ยุงอย่างถูกต้อง เพื่อความปลอดภัย โดยผลิตภัณฑ์ไล่ยุงชนิดที่ใช้สารเคมี บนฉลากต้องระบุเลขทะเบียน อย. วอส. ในกรอบเครื่องหมาย อย. และแสดงระยะเวลาในการป้องกันยุง หากเป็นผลิตภัณฑ์ไล่ยุงที่ใช้น้ำมันตะไคร้หอม บนฉลากต้องระบุเลขที่รับแจ้ง ผู้ใช้ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ควรอ่านฉลากและปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพควรมีฤทธิ์ในการไล่ยุงลายบ้านได้ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง
นอกจากนี้ ควรเก็บผลิตภัณฑ์ในที่มิดชิด ห่างจากเด็ก อาหาร และสัตว์เลี้ยง ควรปิดฝาให้สนิทและอย่าให้ถูกแสงแดด เปลวไฟ หรือความร้อน ผลิตภัณฑ์ไล่ยุงส่วนใหญ่ ห้ามใช้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปี (แต่อาจต่ำกว่า 4 ปีได้ ขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณสารออกฤทธิ์ในผลิตภัณฑ์)
สำหรับผลิตภัณฑ์ไล่ยุงประเภทแป้งหรือโลชั่น ห้ามนำไปทาแทนแป้งหรือโลชั่นทั่วไป ควรใช้เฉพาะที่เมื่อจำเป็นเท่านั้น อย่าใช้ติดต่อกันเป็นประจำ ก่อนใช้ควรทดสอบการแพ้ โดยการทาหรือพ่นที่บริเวณข้อพับแขน หากไม่เกิดอาการแพ้ หรือระคายเคือง จึงใช้บริเวณอื่นได้ อย่าทาบริเวณเนื้อเยื่ออ่อน เช่น บริเวณใกล้ตา ริมฝีปาก เปลือกตา รักแร้ หรือทาบริเวณแผล และล้างมือทุกครั้งหลังใช้
กรณีผู้บริโภคได้รับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือที่ E-mail : 1556@fda.moph.go.th
• กินถั่วช่วยลดความเสี่ยงเสียชีวิตจากหลายโรค
การรับประทานถั่ว บางครั้งอาจจะทำให้ผมลาย(ผายลม)บ้างเล็กน้อย แต่ชีวิตจะยั่งยืนกว่าคนที่ไม่ชอบรับประทานถั่ว
เคยมีการศึกษาวิจัยก่อนหน้านี้ชี้ว่า การรับประทานถั่วช่วยลดความเสี่ยงจากโรคเบาหวาน โรคหัวใจ มะเร็งสำไส้ใหญ่ นิ่วในถุงน้ำดี และลำไส้ใหญ่อักเสบ เพราะถั่วมีสารอาหารสำคัญ เช่น โปรตีนคุณภาพสูง วิตามิน แร่ธาตุ ฯลฯ ที่ดีต่อสุขภาพ
ล่าสุดนักวิจัยในสหรัฐฯ พบว่า การรับประทานถั่วสามารถลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตได้จากหลายโรค โดยการทดลองในกลุ่มตัวอย่าง ผู้หญิง 76,000 คน และผู้ชาย 42,000 คน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 พบว่าคนที่รับประทานถั่วในปริมาณที่เหมาะสมจะมีโอกาสเสียชีวิตในช่วง 30 ปี น้อยกว่ากลุ่มที่รับประทานถั่วน้อย
นักวิจัยบอกว่า การรับประทานถั่วราว 28 กรัม 5 วันต่อสัปดาห์เป็นอย่างน้อย จะช่วยลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ 29% และลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง 11%
• อันตราย!! 6 โรคห้ามนวด
ผู้ที่ชอบไปนวดตามร้านนวดแผนไทย ต้องระวัง!! เพราะคุณอาจเป็นหนึ่งในผู้เป็นโรคที่ห้ามนวด
นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก บอกว่า การนวดมีข้อห้ามบางประการคือ ห้ามนวดในผู้ที่มีไข้สูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส หรือโรคติดเชื้อเฉียบพลัน ห้ามนวดบริเวณที่มีการอักเสบจากการติดเชื้อ กระดูกแตก หัก ปริ ร้าว ข้อเคลื่อน เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวานที่ยังควบคุมอาการให้เป็นปกติไม่ได้ โรคผิวหนังมีแผลเปิดเรื้อรัง โรคติดต่อระยะแพร่เชื้อ โรคมะเร็ง แผลหลังผ่าตัดยังไม่หายสนิท หลอดเลือดดำอักเสบ และกระดูกพรุนรุนแรง
พทป.สมชาย ช้างแก้วมณี แพทย์แผนไทยประยุกต์(พทป.) กรมการแพทย์แผนไทยฯ บอกว่า จุดที่ห้ามนวดเด็ดขาดคือ ตามแนวกระดูกและหลอดเลือด คือ แนวกระดูกต้นคอ สันหลัง ซี่โครง บริเวณข้างคอ ใต้หู หลังหู และต่อมน้ำเหลืองใต้คาง
ส่วนจุดที่ต้องระวังคือการกดจุดเปิดประตูลม ควรทำแค่ครั้งเดียว และจุดที่เป็นศูนย์รวมของเส้นประสาทต่างๆ เช่น ข้อพับแขน ข้อมือ และข้อพับขา ส่วนข้อควรระวังอื่นๆ คือไม่ควรนวดในกลุ่มเด็ก หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ โรคหลอดเลือด โรคเบาหวาน กระดูกพรุน เคยผ่าตัดใส่เหล็ก ข้อเทียม หรือจุดที่เคยทำศัลยกรรมตกแต่ง
• นอนดึกตื่นสายเสี่ยงเบาหวาน-โรคอ้วน มากกว่านอนเร็วตื่นเช้า
นักวิจัยในเกาหลีใต้พบว่า กลุ่มคนที่ชอบนอนดึกและตื่นสายมีความเสี่ยงเรื่องปัญหาสุขภาพ เช่น เบาหวาน และโรคอ้วน มากกว่าคนที่นอนเร็ว ตื่นเช้า แม้ทั้งสองกลุ่มจะมีชั่วโมงการนอนพอๆกันก็ตาม
เพราะคนที่ชอบนอนดึก รวมทั้งผู้ที่ทำงานเป็นกะซึ่งเวลาไม่ประจำ และผู้ที่เริ่มการทำงานช้าในแต่ละวัน จะมีความเสี่ยงจากโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น เนื่องจากระบบการทำงานของนาฬิกาชีวิตในร่างกายเสียไป รวมทั้งจากรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปด้วย เช่น ไม่ได้ออกกำลังกาย ติดบุหรี่ และรับประทานอาหารผิดเวลา
นักวิจัยอธิบายว่า ระบบนาฬิกาชีวิตจะเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับหน้าที่ต่างๆ ในแต่ละช่วงของวัน เช่น กระตุ้นร่างกายให้หิวและพร้อมย่อยอาหารในช่วงเช้า
ดังนั้น เมื่อระบบนาฬิกาชีวิตเสียไป เช่น คนนอนดึกและกินอาหารในเวลาที่ระบบการย่อยของร่างกายชะลอตัวลง ผลที่ตามมาก็คือโรคอ้วน เป็นต้น
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 175 กรกฎาคม 2558 โดย ธาราทิพย์)