xs
xsm
sm
md
lg

กระดูกพรุน ป้องกันได้ 6 วิธีง่ายๆ เซฟกระดูกไว้ให้แข็งแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
       กระดูกพรุน คำนี้เมื่อฟังผ่านๆ แล้วคงรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ห่างไกลตัว เป็นเรื่องที่ไม่น่ากลัว ไม่อันตราย แต่จะมีสักกี่คนที่ใส่ใจกับอาการนี้และรู้ว่ากระดูกพรุนเป็นเรื่องที่น่ากลัว อันตราย เป็นภัยเงียบที่ต้องพึงระวังอย่างยิ่ง ถ้าเป็นแล้ว อาจจะทำให้ชีวิตประจำวันหรือกิจวัตรประจำวันเปลี่ยนไปทั้งชีวิตเลยก็ได้

อาการเตือนของโรคกระดูกพรุน ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแสดง จนกระทั่งเกิดภาวะกระดูกหัก ก็จะเกิดอาการเจ็บปวด หรือความผิดปกติของโครงสร้างกระดูก เช่น ปวดข้อมือ สะโพก หลัง หรือมาพบแพทย์ เพราะมีปัญหาว่าตัวเตี้ยลง หลังค่อมหรือหลังโก่งกว่าเดิม ซึ่งมักจะพบได้ในกรณีที่เป็นกระดูกพรุนและเกิดการหักชนิดทรุดตัวของกระดูกสันหลัง


ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน คือ

1. ผู้สูงอายุมีโอกาสเกิดกระดูกพรุนได้มากกว่าอายุน้อย

2. เพศหญิงจะมีการเกิดกระดูกพรุนมากและเร็วกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงวัยทองขาดเอสโตรเจนทำให้เกิดการละลายของกระดูกมากกว่าปกติ การรับประทานแคลเซียมเป็นประจำช่วยลดความเสี่ยงของกระดูกหักได้

3. สูบบุหรี่ เพราะสารพิษในควันบุหรี่ลดการทำงานของเซลล์สร้างกระดูกและยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดตีบ กระดูกจึงขาดอาหารจากขาดเลือดได้อีกด้วย

4. การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเป็นสาเหตุให้ขาดอาหาร

5. มีโรคเรื้อรังต่างๆ ที่ส่งผลถึงสุขภาพ ซึ่งรวมถึงสุขภาพของกระดูกด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงและโรคไขมันในเลือดสูง

6. ขนาดของร่างกาย ผู้ที่ผอมและตัวเล็กจะมีกระดูกพรุนได้ง่าย

7. มีพันธุกรรมที่คนในครอบครัวเป็นโรคนี้

8. การออกกำลังกายน้อย

9. การสร้างกระดูกใหม่จะสัมพันธ์กับแรงที่มากระทำที่กระดูก ดังนั้น หากมีการลงน้ำหนักที่กระดูกน้อย กระดูกก็จะบางลงเร็วกว่าปกติ จึงเป็นปัญหาในผู้สูงอายุที่ข้อเข่าข้อเท้าเริ่มเสื่อม ปวด ออกกำลังกายได้น้อย คนที่มีอาชีพต้องออกไปอยู่นอกโลกที่ไม่มีแรงโน้มถ่วง หรือคนที่ทำงานนั่งเป็นเวลานาน ๆ ติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี

การป้องกันภาวะกระดูกพรุน

1. หลีกเลี่ยงปัจจัยที่เสี่ยงให้หกล้ม
สิ่งที่ทำให้เกิดกระดูกหักได้บ่อยที่สุด ก็คือ การหกล้ม ที่พักอาศัยควรจะมีแสงสว่างเพียงพอ ติดตั้งราวจับหรือพื้นผิวที่ไม่ลื่น ป้องกันการล้ม

2. การออกกำลังกาย
การออกกำลังกายจะกระตุ้นให้เกิดการสร้างมวลกระดูกมากขึ้น ทั้งนี้ชนิดของการออกกำลังกายที่เหมาะสมก็ขึ้นอยู่กับโรคประจำตัวสภาพร่างกายเดิม และความหนาแน่นของมวลกระดูกเดิม

3. การรับประทานอาหารที่มีแคลเซี่ยมสูง
อาหารที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ นม เนยแข็ง ปลาที่กินได้ทั้งกระดูก (เช่น ปลาไส้ตัน) กุ้งแห้ง เต้าหู้แข็ง ถั่วแดง ผักสีเขียวเข้ม (เช่น คะน้า ใบชะพู) งาดำคั่ว

4. รักษาน้ำหนักตัวอย่าให้ต่ำกว่าเกณฑ์ เพราะคนผอมจะมีมวลกระดูกน้อย เสี่ยงต่อกระดูกพรุนได้ 

5. ไม่กินอาหารประเภทโปรตีนหรือเนื้อสัตว์มากเกินไป เพราะอาหารพวกนี้จะกระตุ้นให้ไตขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะมากเกินปกติ

6. ระวังการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาสตีรอยด์ ซึ่งจะเร่งการขับแคลเซียมออกจากร่างกาย

กระดูกพรุนเป็นโรคที่ไม่มีอาการมาก่อน ไม่มีสัญญาณเตือน เกิดขึ้นมาแบบเงียบๆ แต่เมื่อเป็นแล้วจะสร้างความเสียหายแก่คนที่เป็นได้มากเลยทีเดียว เมื่อรู้อย่างนี้แล้วเราควรจะหันมาใส่ใจสุขภาพของเรา ดูแลรักษาร่างกายก่อนจะสายเกินแก้กันดีกว่า
____________________________
ข่าวโดย : ปาณิสรา บุญม่วง

กำลังโหลดความคิดเห็น