xs
xsm
sm
md
lg

รอบรู้โรคภัย : มหันตภัยร้าย “เมอร์ส” โรคติดต่ออันตรายที่ยังไม่มียารักษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ขณะนี้โรคระบาดอันตรายที่กำลังแพร่กระจายและเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วโลกก็คือ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ 2012 ที่ยังไม่มียาใดสามารถรักษาได้

โดยเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558 องค์การอนามัยโลกรายงานพบผู้ป่วยจาก 26 ประเทศ คือ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ อิหร่าน จอร์แดน คูเวต เลบานอน กาตาร์ โอมาน เยเมน ออสเตรีย ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ ตุรกี อังกฤษ อัลจีเรีย ตูนีเซีย สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ จีน และไทย จํานวน 1,339 ราย เสียชีวิต 476 ราย

ส่วนการระบาดในประเทศเกาหลีใต้ ณ วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558 พบผู้ป่วยจํานวน 175 ราย เสียชีวิต 27 ราย

โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ 2012 คืออะไร
โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ 2012 หรืออีกชื่อหนึ่ง คือ กลุ่มอาการระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันในประเทศตะวันออกกลาง (Middle East Respiratory Syndrome Corona Virus : MERS-CoV) หรือโรคเมอร์ส คือ โรคระบบทางเดินหายใจชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (MERS-CoV) ซึ่งตรวจพบเป็นครั้งแรกที่ประเทศซาอุดีอาระเบียเมื่อ พ.ศ. 2555

โคโรนาไวรัสจัดเป็นวงศ์(family)ใหญ่ของไวรัสวงศ์หนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคได้หลายโรค ตั้งแต่โรคหวัดธรรมดาไปจนถึงโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (โรคซาร์ส-SARS)

แหล่งของเชื้อไวรัสโคโรน่า คืออะไร?
จากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังไม่สามารถระบุถึงแหล่งที่มาของเชื้อนี้ อย่างไรก็ตาม ได้มีการแยกเชื้อไวรัส โคโรน่าชนิดเดียวกับที่พบในคน ได้จากอูฐในอียิปต์ กาตาร์ และซาอุดีอาระเบีย จากการศึกษาพบว่า มีการตรวจพบ สารภูมิต้านทาน (antibody) ต่อเชื้อไวรัสโคโรน่าในอูฐทั่วแอฟริกาและตะวันออกกลาง

การศึกษาสารพันธุกรรมในคนและอูฐ พบมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันระหว่างไวรัสที่พบในอูฐ และที่พบในคน มีความเป็นไปได้ว่า อาจจะมีแหล่งรังโรคอื่นๆ นอกจากนี้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เท่าที่มีการตรวจหาสารภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสโคโรน่า ในสัตว์อื่น ๆ เช่น แพะ วัว แกะ ควาย สุกรและนกในธรรมชาติ จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่พบสารภูมิต้านทานในสัตว์เหล่านี้แต่อย่างใด

ผลการศึกษาทั้งหมดที่กล่าวมาจึงสนับสนุนข้อสันนิษฐานในขณะนี้ว่า อูฐน่าจะเป็นแหล่งที่มาของการติดเชื้อในมนุษย์

ผู้ป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า มีอาการอย่างไร?
ผู้ที่ป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า มักจะมีอาการไข้ไอ หายใจหอบและหายใจลําบาก เมื่อตรวจร่างกายมักพบว่าเป็นปอดอักเสบ

นอกจากนี้ ในผู้ป่วยอีกจํานวนมากจะมีอาการในระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ ท้องร่วง ร่วมด้วย ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจมีภาวการณ์หายใจล้มเหลว ซึ่งจําเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจประกอบกับการดูแลด้านอื่นๆ ผู้ป่วยบางรายมีภาวะอวัยวะล้มเหลวโดยเฉพาะไตวาย หรือมีภาวะช็อคจากการติดเชื้อ ประมาณร้อยละ 50 ของผู้ป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าจะเสียชีวิต

สําหรับผู้ที่มีโรคประจําตัว ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน มะเร็ง และโรคปอดเรื้อรัง อาการป่วยจะรุนแรงขึ้น

คนทั่วไปสามารถติดเชื้อโรคเมอร์ส์ แต่ไม่แสดงอาการป่วย ได้หรือไม่?
ได้..บางคนที่ติดเชื้อไวรัส อาจจะไม่แสดงอาการใดๆ แต่สามารถตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรน่าได้ระหว่างการศึกษาเพื่อติดตามอาการในกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสชนิดนี้

ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลระบุได้ว่า คนติดเชื้อไวรัสโคโรน่าได้อย่างไร สําหรับผู้ป่วยบางราย พบว่าติดเชื้อไวรัสจากผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า โดยการคลุกคลีใกล้ชิด ซึ่งมักเกิดขึ้นกับสมาชิกในครอบครัว ผู้ป่วยอื่น และเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลผู้ป่วย

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีรายงานการติดเชื้อในสถานพยาบาลเพิ่มมากขึ้น ในชุมชนบางแห่งพบผู้ป่วย แต่หาแหล่งที่น่าจะเป็นต้นเหตุของการติดเชื้อไม่พบ มีความเป็นไปได้ว่าผู้ป่วยเหล่านี้ติดเชื้อจากการสัมผัสสัตว์ หรือจากแหล่งอื่นๆ หรือจากคนอื่น

โรคนี้ติดต่อได้โดยการสัมผัสใช่หรือไม่ ?
ใช่.. แต่การแพร่กระจายอยู่ในวงจํากัด เชื้อไวรัสนี้ไม่แพร่กระจายได้โดยง่ายจากคนสู่คน หากไม่มีการสัมผัสคลุกคลีอย่างใกล้ชิด เช่น โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสามารถแพร่กระจายไปยังผู้ที่ให้การดูแลผู้ป่วยโดยไม่ปกป้องตนเอง

มีรายงานว่าพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนในสถานพยาบาล อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานการแพร่เชื้ออย่างต่อเนื่องในชุมชน

มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือไม่?
ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน หรือยารักษาเฉพาะโรคหรือกลุ่มอาการดังกล่าวนี้ การรักษาในปัจจุบันเป็นการรักษาแบบประคับประคอง และการรักษาตามอาการของผู้ป่วย

การป้องกัน

สําหรับประชาชนทั่วไป
- หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ หรือผู้ที่มีอาการไอ หรือจาม
- ควรล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่ โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วยหรือสิ่งแวดล้อมที่ผู้ป่วยสัมผัส ก่อนรับประทานอาหารและหลังขับถ่าย
- ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่แออัด หรือที่ชุมชนสาธารณะที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก หากจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่แออัด ควรใส่หน้ากากอนามัย เพื่อลดความเสี่ยงในการติดโรค
- แนะนำให้ผู้ป่วยใส่หน้ากากอนามัย ปิดปาก ปิดจมูก เวลาไอหรือจาม
- ปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยที่ดี ได้แก่ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ

สําหรับผู้เดินทาง/นักท่องเที่ยว
จากข้อมูลที่มีในปัจจุบัน พบว่ากลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการป่วยรุนแรง ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคปอดเรื้อรัง โรคไตวาย หรือผู้ที่ภูมิต้านทานต่ำ ควรระมัดระวังเป็นพิเศษหากเดินทางเข้าในประเทศที่มีการระบาด และเข้าเยี่ยมชมฟาร์ม หรือสถานที่เก็บผลผลิตทางการเกษตร และหรือในพื้นที่ตลาดที่มีอูฐอยู่ และควรปฏิบัติตน ดังนี้

- หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ หรือผู้ที่มีอาการไอ หรือจาม
- ผู้มีโรคประจําตัวที่เสี่ยงต่อการป่วย อาจพิจารณาสวมหน้ากากป้องกันโรค และเปลี่ยนบ่อยๆ เมื่อเข้าไปในสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันมากๆ
- ควรล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่ โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วยหรือสิ่งแวดล้อมที่ผู้ป่วยสัมผัส
- หลีกเลี่ยงการเข้าไปสัมผัสกับฟาร์มสัตว์หรือสัตว์ป่าต่างๆ หรือดื่มนมสัตว์โดยเฉพาะอูฐ ซึ่งอาจเป็นแหล่งรังโรคของเชื้อได้
- ถ้ามีอาการไข้ไอ มีน้ำมูกเจ็บคอ (มีอาการรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อกิจวัตรประจําวันปกติ) ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสคลุกคลีกับบุคคลอื่น เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ เมื่อไอหรือจามควรใช้กระดาษชําระปิดปาก และจมูกทุกครั้ง และทิ้งกระดาษชําระที่ใช้แล้วลงในถังขยะที่ปิดมิดชิด และล้างมือให้สะอาด กรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ ควรไอหรือจามลงบนเสื้อผ้าบริเวณต้นแขน ไม่ควรจามรดมือ และรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ สาธารณสุขในพื้นที่

ผู้ที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคนี้ สามารถติดต่อสอบถามสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง

(ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 175 กรกฎาคม 2558 โดย กองบรรณาธิการ)

กำลังโหลดความคิดเห็น