กาญจนบุรี - นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี แนะประชาชน 6 วิธีป้องกันโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส
วันนี้ (22 มิ.ย.) นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า โรคเมอร์ส มีชื่อทางการว่า โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (Middle East Respiratory Syndrome : MERS) โดยโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส เป็นโรคของระบบทางเดินหายใจ โดยเชื้อที่เป็นสาเหตุ คือ เชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งค้นพบครั้งแรกในปี 2012 ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย โคโรนาไวรัสจัดอยู่ในตระกูลเดียวกับเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคทางระบบทางเดินหายใจตั้งแต่โรคที่มีอาการไม่รุนแรง เช่น ไข้หวัด จนถึงอาการรุนแรง เช่น ซาร์ส โรคเมอร์ส เป็นโรคติดต่อ
เชื้อนี้เป็นเชื้อไวรัสที่พบในสัตว์ และเชื่อกันว่าคนสามารถติดเชื้อผ่านมาจากการสัมผัสทางตรงและทางอ้อมกับอูฐโหนกเดียวที่มีการติดเชื้อในแถบตะวันออกกลาง โรคนี้ไม่ได้มีการติดต่อจากคนสู่คนอย่างง่ายดาย แต่จะพบการติดต่อจากคนสู่คนได้ในกรณีมีการสัมผัสคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย โดยเฉพาะในกลุ่มที่ต้องมีการดูแลผู้ป่วยแต่ไม่ได้สวมอุปกรณ์ป้องกันร่างกาย
ส่วนมากจึงพบในสถานพยาบาล และเป็นการติดต่อจากคนสู่คนโดยเฉพาะในกลุ่มที่สัมผัสคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย และไม่ได้สวมอุปกรณ์ในการป้องกันร่างกาย หากติดเชื้อจะมีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก หรือเจ็บคอ บางรายอาจมีท้องเสีย อาเจียน หากมีอาการรุนแรงจะทำให้หายใจลำบาก หอบ ปอดอักเสบ ไตวาย และเสียชีวิตได้ โดยไวรัสชนิดนี้จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน มะเร็ง และโรคปอดเรื้อรัง
นพ.นรินทร์รัชต์ กล่าวต่อว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี ได้ขอความร่วมมือเตรียมความพร้อมการป้องกันโรคแก่สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง โรงพยาบาลเอกชน คลินิก และร้านขายยา 400 แห่ง ในจังหวัดกาญจนบุรี รวมทั้งขอความร่วมมือโรงแรม และรีสอร์ตในจังหวัดกาญจนบุรีทุกแห่ง แพท่องเที่ยว และร้านอาหารให้แจ้งมัคคุเทศก์ช่วยดูแลนักท่องเที่ยว หรือผู้เกี่ยวข้องที่เดินทางมาจาก 7 ประเทศที่เฝ้าระวัง ได้แก่ ประเทศซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิหร่าน เกาหลีใต้ และจีน หากมีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก หรือเจ็บคอภายใน 14 วัน ให้รีบพบแพทย์ทันที
และโปรดแจ้งประวัติการเดินทางกลับมาจากประเทศดังกล่าวให้โรงพยาบาลทราบทันทีตามระบบและแจ้งแพทย์ถึงประวัติการเดินทาง ให้คำแนะนำประชาชน หรือผู้เดินทาง นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปประเทศที่มีการระบาดของโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีโรคประจำตัว เช่น กลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน โรคปอดเรื้อรัง โรคไตวาย หรือผู้ที่ภูมิต้านทานต่ำ ผู้สูงอายุ ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในประเทศที่มีการระบาดในช่วงที่มีการระบาดของโรค
สำหรับผู้เดินทางทั่วไปควรปฏิบัติตนดังนี้
1.หากไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานพยาบาลในช่วงที่มีการระบาด 2.หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ หรือผู้ที่มีอาการไอหรือจาม
3.หลีกเลี่ยงการเข้าไป หรือสัมผัสฟาร์มสัตว์ หรือสัตว์ป่าต่างๆ หรือดื่มน้ำนมดิบโดยไม่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคโดยเฉพาะน้ำนมอูฐ ซึ่งอาจเป็นแหล่งรังโรคของเชื้อได้ 4.ปฏิบัติตามสุขอนามัย กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำ และสบู่
5.ถ้ามีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสคลุกคลีกับบุคคลอื่นเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ เมื่อไอ หรือจามควรใช้กระดาษชาระปิดปาก และจมูกทุกครั้ง และทิ้งกระดาษชาระที่ใช้แล้วลงในถังขยะที่ปิดมิดชิด และล้างมือให้สะอาด สวมหน้ากากอนามัย กรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ ควรไอ หรือจามลงบนเสื้อผ้าบริเวณต้นแขน ไม่ควรจามรดมือ และรีบไปพบแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่
6.หลังจากกลับจากการเดินทาง หากภายใน 14 วัน มีอาการไข้ ไอ หรือเจ็บคอ หรือมีน้ำมูก ให้รีบไปพบแพทย์ทันที หรือโทร. 1669 พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่านกรมควบคุมโรค 1422 ซึ่งให้บริการ 30 คู่สายตลอด 24 ชั่วโมง
ประชาชนสามารถติดตามแนวทาง คำแนะนำ และข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เป็นปัจจุบันได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค หมายเลข 1422 หรือเว็บไซต์สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค(http://beid.ddc.moph.go.th)