xs
xsm
sm
md
lg

จิตกับธรรม : จิตตนคร (ตอนที่ ๒๒) ศาสนาในจิตตนคร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “จิตฺตนคร” ขึ้นสำหรับบรรยายทางรายการวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประจำวันอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๒๓ และได้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกในเรื่อง การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑

พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน


ในจิตตนครมีศาสนาต่างๆมากมาย กล่าวได้โดยไม่ผิดว่า มีครบทุกศาสนา เหมือนดังที่มีอยู่ในโลก ฉะนั้น พระพุทธศาสนาก็ได้มีอยู่ในจิตตนครเช่นเดียวกัน

ศาสนาทั้งหลายที่มีมาก่อนและที่มีในภายหลังก็ดูคล้ายๆกับมีในจิตตนครโดยครบถ้วน แต่ชาวจิตตนครนับถือศาสนากันอีกแบบหนึ่ง ต่างจากโลกภายนอก

เมื่อพระพุทธเจ้ายังเป็นพระโพธิสัตว์ ยังมิได้ตรัสรู้ ได้มีพระปณิธานต่อพระโพธิญาณ ทรงบำเพ็ญพระบารมี ๑๐ ประการ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐานะ เมตตา อุเบกขา อย่างเต็มที่

เมื่อพระบารมีแก่กล้าขึ้น ก็ได้ทรงละทางที่ผิด ทรงพบทางที่ถูกต้องขึ้นโดยลำดับ จนถึงได้ทรงพบมัชฌิมาปฏิปทา คือ ทางสายกลาง ไม่ข้องแวะด้วยทางที่พัวพันด้วยสุขสดในกาม และไม่ข้องแวะด้วยทางทรมานตนให้ลำบากเปล่า คือ ทางมีองค์ ๘ ประการ ได้แก่

• ความเห็นชอบ
• ความดำริชอบ
• วาจาชอบ
• การงานชอบ
• เลี้ยงชีวิตชอบ
• พยายามชอบ
• สติชอบ
• สมาธิชอบ


ในวันที่จะตรัสรู้พระโพธิญาณ ได้ทรงตั้งจาตุรงคมหาปธาน คือความเพียรประกอบด้วยองค์ ๔ ว่า เลือดเนื้อจะเหือดแห้งไปหมด เหลือแต่หนัง เอ็น กระดูก ก็ตามที ยังไม่ทรงบรรลุธรรมที่จะพึงบรรลุได้ด้วยกำลังเรี่ยวแรงของบุรุษ ก็จะไม่ทรงลุกขึ้นจากที่นั่งอันนี้ ทรงตั้งความเพียรยกเอาเลือดเนื้อ ๑ หนัง ๑ เอ็น ๑ กระดูก ๑ รวม ๔ ประการขึ้นอ้างอิง จึงเรียกว่าประกอบด้วยองค์ ๔

ฝ่ายสมุทัยกับพรรคพวกได้เห็นพระโพธิสัตว์ทรงปฏิบัติดังนั้นก็ไม่พอใจ เพราะเป็นการปฏิบัติที่จะให้พ้นจากอำนาจของตน จึงได้พยายามขัดขวางต่างๆ ตั้งแต่เบื้องต้น ดังที่พระอาจารย์ได้เขียนเล่าไว้ว่า เมื่อพระมหาสัตว์ (คือพระสิทธัตถราชกุมาร) ได้ทรงสละรัชชสิริสมบัติ ทรงม้ากัณฐกะ มีนายฉันนะเป็นสหาย เสด็จออกจากพระนคร

ฝ่ายมารได้มายืนที่ประตูนคร กล่าวห้ามว่า “กลับเสียเถิดสิทธัตถะ จักรรัตนสมบัติจักมีปรากฏแก่พระองค์ในวันที่ ๗ แต่วันนี้”

พระองค์ตรัสว่า “ดูก่อนมาร เรารู้จักท่าน เราไม่ต้องการด้วยจักรรัตนสมบัติ”

“ถ้าอย่างนั้นพระองค์ต้องการอะไร”

“เราต้องการพระสัพพัญญุตญาณ (ความตรัสรู้ธรรมทั้งปวง)”

“ถ้าอย่างนั้น ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ถ้าพระองค์จักคิดไม่ดีสักอย่างหนึ่ง เป็นต้นว่าคิดไปในกาม ข้าพเจ้าจะรู้กิจที่พึงทำแก่พระองค์”


มารที่พระอาจารย์เล่าถึงในเรื่องนี้ก็คือ สมุทัยกับพรรคพวกนี่แหละ เพราะเป็นผู้คอยขัดขวางทำลายความเพียรเพื่อโพธิญาณของทุกๆคน แต่สมุทัยไม่ยอมรับคำนี้ ไม่ชอบคำนี้ เช่นเดียวกันกับคนทำชั่วทำทุจริตทั้งหลายที่ไม่ชอบให้ใครตราหน้าตนว่าเป็นคนชั่วคนทุจริต

สมุทัยชอบแสดงตนว่า เป็นผู้สร้างเสริมความสุขความดีงามทั้งปวง พอใจให้ใครๆ เข้าใจตนไปเช่นนั้นและพูดถึงเช่นนั้น ก็เหมือนอย่างคนชั่วทุจริตทั้งหลายที่มักชอบแสดงตนว่าเป็นคนดี ชอบที่ใครๆจะพูดถึงว่าเป็นคนดี
สมุทัยได้ติดตามหาช่องโอกาสที่จะทำลายความเพียรและความตั้งใจของพระมหาสัตว์ตั้งแต่เสด็จออกผนวชเรื่อยมาถึง ๖ ปี

ทุกคนมีสมุทัยคือมาร คอยติดตามขัดขวางการทำความดีอยู่เสมอ ความมีสติรู้เท่าทันจะทำให้สามารถรู้ได้ว่า เมื่อใดมารดำเนินงาน ปัญญาและความเพียรจะทำให้สามารถเอาชนะมารได้เป็นขั้นไป ตามกำลังของปัญญาและความเพียร

บรรดาผู้มาบริหารจิตทั้งหลาย คือผู้กำลังอบรมเพิ่มพูนสติให้รู้ทันมารคือสมุทัย อบรมเพิ่มพูนปัญญาและความเพียรให้สามารถเอาชนะมารได้ มารคือผู้ทำลาย ผู้ทำให้เกิดทุกข์ ผู้ใดสามารถเอาชนะมารได้ ผู้นั้นย่อมสิ้นทุกข์ มีสุข ตามควรแก่การปฏิบัติของตน

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 173 พฤษภาคม 2558 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)

กำลังโหลดความคิดเห็น