xs
xsm
sm
md
lg

จิตกับธรรม : จิตตนคร (ตอนที่ ๒๓) พระมหาสัตว์ผจญมาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “จิตฺตนคร” ขึ้นสำหรับบรรยายทางรายการวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประจำวันอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๒๓ และได้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกในเรื่อง การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑

พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน


พระมหาสัตว์ คือพระโพธิสัตว์ ได้ทรงมีสติสำรวมระวังความคิดของพระองค์เอง มิให้เป็นอกุศลวิตก (คือคิดไม่ดี) อยู่ตลอดเวลา แม้จะมีความคิดไม่ดีแลบเข้ามาบ้าง ก็ทรงมีสติพิจารณาระงับเสียโดยเร็วพลัน ดังที่พระองค์ได้ตรัสแสดงถึงการปฏิบัติของพระองค์เมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ ว่าได้ทรงทำวิตกคือความคิด เป็น ๒ ส่วน คือ อกุศลวิตกส่วนหนึ่ง กุศลวิตกส่วนหนึ่ง โดยทรงทำความรู้ทันความคิดที่เกิดขึ้นตามเป็นจริง พร้อมทั้งรู้คุณและโทษ อกุศลวิตกจึงระงับดับหายไป เหลือแต่กุศลวิตก

แต่ถ้าคิดไป แม้จะเป็นกุศลมากไปก็จะเกิดโทษ เช่นความเหน็ดเหนื่อยฟุ้งซ่าน จึงทรงสงบความคิด ทำพระจิตให้ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว สมุทัยจึงไม่ได้โอกาสที่จะแทรกซึมเข้าไปทางความคิดที่ไม่ดี

และเมื่อเห็นพระองค์ทรงปฏิบัติจริง ไม่หวั่นไหว ก็เกิดหวั่นไหวขึ้นเอง ว่าพระองค์จะทรงพ้นไปจากอำนาจตนเป็นแน่แล้ว จึงให้ระดมพลเสนาทั้งสิ้นเข้าโจมตีพระโพธิสัตว์ ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ ในวันที่พระองค์จะตรัสรู้ เพราะเห็นว่าจะรอช้าต่อไปอีกมิได้แล้ว

พระมหาสัตว์ได้ทรงตั้งจาตุรงคมหาปธานแล้ว พระมหาสัตว์ได้ทรงเสี่ยงพระบารมี ทรงเรียกพระบารมีทั้งปวงมาช่วย พร้อมทั้งบุรุษโยธาอีก ๗ จำพวก คือ สัทธาพล วิริยพล สติพล สมาธิพล ปัญญาพล หิริพล โอตตัปปพล พระบารมีทั้ง ๓๐ ทัศ พร้อมทั้งบุรุษโยธาก็มาประชุมพร้อมกันป้องกันพระมหาสัตว์ สมุทัยกับพรรคพวกที่เรียกว่า “มารและเสนามาร” ก็ไม่อาจจะเข้าใกล้ถึงพระองค์ได้ แต่ก็พยายามแสดงอาการคุกคามด้วยอาการต่างๆ อย่างน่าสะพรึงกลัว

ฝ่ายพระมหาสัตว์ก็มิได้ทรงพรั่นพรึง มีพระหฤทัยตั้งมั่นไม่หวั่นไหว และเพื่อที่จะทรงเผด็จศึกมาร จึงทรงยกพระดัชนีชี้ที่พื้นมหินทรา เพื่อเป็นสักขีพยานแห่งการที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาครบถ้วน ๓๐ ทัศ ด้วยอำนาจแห่งโพธิสมภาร ธรณีก็ปรากฏขึ้นมาเป็นสักขีพยาน และด้วยอำนาจแห่งนํ้าพระหฤทัยอันเปี่ยมไปด้วยพระเมตตากรุณา ก็ปรากฏอุทกธาราจากธรณีหลั่งไหลพัดพามารและพลพยุหเสนาออกไปจนหมดสิ้น

ดังที่ปรากฏในภาพคิดเขียนเป็นรูปพระพุทธเจ้าผจญมาร พระองค์ประทับบนบัลลังก์หญ้าคาภายใต้โพธิพฤกษ์ พระหัตถ์ขวาพาดชี้ลง มีรูปนารียืนอยู่ใต้บัลลังก์ บิดนํ้าในมวยผมไหลหลั่งออกมาเป็นท่อธาราทะเลหลวง นองท่วมหมู่มารเสนาทั้งหลาย

รูปนารีนี้หมายถึงธรณี จึงเรียกรู้กันว่า “พระนางธรณีบิดมวยผม” ในภาพเขียนเป็นรูปหมู่มารเสนาอยู่สองข้างพระพุทธองค์ ข้างหนึ่งกำลังเงือดเงื้ออาวุธนานาชนิดเพื่อทำร้ายพระองค์ มีพญามารสถิตอยู่เหนือคอช้างชื่อคีรีเมขละ มีพาหาข้างละพันทรงอาวุธต่างๆ อีกข้างหนึ่ง ถูกนํ้าท่วมพ่ายแพ้ไป และนํ้าในมวยผมนั้น หมายถึง นํ้าทักษิโณทก ที่พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญทานบารมี หลั่งลงบนแผ่นดินตั้งแต่เบื้องต้น ก็มากมายยิ่งกว่านํ้าในมหาสมุทร พระมหาสัตว์ทรงชนะมารและเสนาตั้งแต่เวลาเย็น ก่อนที่อาทิตย์จะอัสดง

ได้กล่าวแล้วว่าทุกคนมีมารคอยติดตามขัดขวางการทำความดี และล่อให้ทำความชั่วอยู่เสมอ ผู้ใดสู้ได้ คือไม่เลิกล้มความพยายามที่จะทำความดีใดๆก็ตาม เมื่อใดก็ตาม เรียกว่าผู้นั้นเป็นผู้ชนะมาร แม้จะยังไม่อาจชนะมารได้ยั่งยืนตลอดไป เช่นที่พระพุทธองค์ทรงชนะแล้ว ก็ยังดีกว่าที่จะไม่มีเวลาชนะเสียเลย

การพ่ายแพ้แก่มาร ก็คือการตามใจมารให้นำไปสู่การทำกรรมไม่ดีนานาประการนั่นเอง ซึ่งไม่เป็นสิ่งที่ผู้ใดควรทำไปเช่นนั้น ทุกคนควรมีสติ มีปัญญา มีหิริโอตตัปปะ และมีความเพียรเอาชนะมารให้ได้ นั่นแลจึงนับว่ามาบริหารจิตอย่างถูกต้อง

พระมหาสัตว์ชนะมารและตรัสรู้
เมื่อพระมหาสัตว์ทรงผจญมาร และทรงชนะมารและเสนา ตั้งแต่ก่อนอาทิตย์ตกในวันที่จะตรัสรู้ ทรงดำเนินปฏิบัติต่อไปในมัชฌิมาปฏิปทา ก็ทรงบรรลุพระญาณทั้งหลายดังที่ได้ตรัสเล่าแก่พระสาวกในภายหลัง กล่าวโดยย่อว่า

ทรงได้สมาธิแน่วแน่แล้ว ทรงน้อมจิตที่เป็นสมาธิไปเพื่อรู้ ก็ทรงได้พระญาณคือความรู้ขึ้นโดยลำดับ จนถึงพระสัมโพธิญาณ คือความตรัสรู้ในพระจตุราริยสัจ ทรงทำลายกิเลสอาสวะอนุสัยในสันดานให้สิ้นไปหมด ดังที่เรียกว่าได้ตรัสรู้พระธรรม ในปัจฉิมยามแห่งราตรีนั้น บังเกิดพระนามพิเศษขึ้นว่า “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า” หรือพระผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ

พระสัมโพธิญาณนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “พระสัพพัญญุตญาณ” แปลว่า พระญาณคือความรู้ธรรมทั้งหมด และเรียกพระนามพระพุทธองค์ผู้ทรงได้พระญาณนี้ว่า “พระสัพพัญญู” แปลว่าพระผู้รู้ธรรมทั้งหมด ไทยเราเรียกกันมาตั้งแต่โบราณกาลว่า พระสรรพัชญ์หรือพระสรรเพชญ์ และเรียกพระญาณว่าสรรเพชุดา

ครั้นพระองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว ได้ประทับเสวยวิมุตติสุข ณ ควงไม้ต่างๆ ต่อมาหลายสัปดาห์ ในสัปดาห์ที่ ๕ ท่านแสดงว่าได้ประทับที่ควงไม้อชปาลนิโครธ ซึ่งมารยังได้พยายามมารบกวนอีก ดังเรื่องเล่าว่า

มารนั่งเสียใจอยู่ที่หนทางใหญ่ ว่าเสียแรงได้ติดตามหาช่องทางที่จะขัดขวางความตรัสรู้มานานถึงเพียงนี้ ก็ไม่พบความผิดพลาดอะไร บัดนี้พระองค์ทรงล่วงวิสัยอำนาจของตนไปเสียแล้ว

คำว่า “มาร” ตามที่เรียกในที่นี้ เป็นการเรียกตามพระพุทธเจ้า ดังได้กล่าวแล้วว่า ผู้ที่ถูกเรียก คือสมุทัย หาได้ชอบใจไม่ สมุทัยไม่ปรารถนาจะให้ใครๆ รู้จักเข้าใจตนว่าเป็นมาร แต่ไม่อาจจะปิดบังสัญชาติแห่งตนจากพระสรรเพชุดาญาณได้ พระองค์ทรงเรียกระบุตรงๆว่า มารๆ ทุกครั้งที่เข้ามา

ในขณะที่มารหรือสมุทัยนั่งคิดระทมใจอยู่นั้น ธิดาทั้งสามของมาร คือนางตัณหา นางอรตี และนางราคา เห็นบิดาหายไป จึงเที่ยวค้นหา ก็ไปพบบิดานั่งระทมทุกข์อยู่ จึงไต่ถามความแล้วก็รับอาสาจะไปนำพระองค์มาไว้ในอำนาจของบิดาอีก

ฝ่ายสมุทัยกล่าวห้ามว่า ไม่มีใครจะสามารถทำพระองค์ไว้ในอำนาจได้ ธิดาทั้งสามก็กล่าวว่า พวกตนเป็นสตรี ย่อมรู้วิธีที่จะผูกใจบุรุษเพศ จะใช้บ่วงราคะเป็นต้น ผูกจูงมาให้จงได้ ขอให้บิดาอย่าได้วิตก

ครั้นแล้วนางทั้งสามได้เข้าไปหาพระพุทธองค์ กล่าวทูลว่าจะขอบีบนวดพระยุคลบาท พระพุทธองค์ไม่ทรงใส่พระหทัยในถ้อยคำของนางทั้งสาม ทั้งไม่ทรงลืมพระเนตรขึ้นดู ธิดามารคิดว่าอันความประสงค์ของบุรุษทั้งหลายย่อมสูงตํ่าต่างๆกัน บางคนชอบเด็กๆ บางคนชอบสตรีวัยแรก บางคนชอบวัยกลาง บางคนชอบคนแก่ก็มี จำจะประเล้าประโลมพระองค์ด้วยประการต่างๆ จึงแสดงบิดเบือนตนเป็นสตรีเพศเป็นอันมาก เช่น เด็กรุ่นสาวผู้ยังไม่มีบุตร ผู้ที่มีบุตรแล้วคนหนึ่งสองคน คนวัยกลาง จนถึงคนแก่ ครบทุกอย่าง เข้าไปเฝ้าพระองค์ ๖-๗ ครั้ง

พระพุทธองค์ทรงเข้าผลสมาบัติเสวยวิมุตติสุข ไม่ได้สนพระหทัยเลย ตรัสว่า “ผู้ใดชนะกิเลสเด็ดขาดแล้ว ไม่กลับแพ้ ไม่มีกิเลสอะไรในโลกจะมาตอแยได้ ผู้ใดไม่มีตัณหาที่เหมือนอย่างตาข่ายคล้องใจ ให้ติดนำไปที่ไหนๆ เจ้าทั้งหลายจักนำผู้นั้นซึ่งเป็นผู้รู้ มีที่เที่ยวไปแห่งพระญาณไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีร่องรอย ด้วยร่องรอยอะไรเล่า” ธิดามารทั้งหลายก็อันตรธานไป

สามัญชนย่อมมีบางโอกาสที่ชนะกิเลส และบางโอกาสแพ้กิเลส แม้จะยังไม่สามารถชนะกิเลสได้เด็ดขาด ไม่กลับแพ้ แต่ก็ควรจะพยายามให้โอกาสที่แพ้มีน้อยกว่าโอกาสที่ชนะ เพื่อจะได้มีโอกาสทำความดีมากกว่าทำความชั่ว และผลที่ได้รับก็จะเป็นความสุขมากกว่าความทุกข์

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 174 มิถุนายน 2558 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)


กำลังโหลดความคิดเห็น