xs
xsm
sm
md
lg

ฮือฮา! พบภาพเขียนสีโบราณแห่งใหม่ที่อ่าวลึก จ.กระบี่ คาดเป็นจุดพักเรือขนสินค้าเมื่อหลายพันปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กระบี่ - ฮือฮา! พบภาพเขียนสีโบราณแห่งใหม่ในพื้นที่ อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ คาดเป็นจุดพักเรือขนสินค้าในยุคประวัติศาสตร์ อายุหลายพันปี

นายบุญพาศ รักนุ้ย นายอำเภออ่าวลึก จ.กระบี่ เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบภาพเขียนสีโบราณ ในพื้นที่บ้านอ่าวม่วง ม.2 ต.แหลมสัก อ.อ่าวลึก พร้อมด้วย นายนิวัฒน์ วัฒนยมนาพร กรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดกระบี่ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี หลังรับแจ้งว่า พบแหล่งภาพเขียนสีโบราณจำนวนมาก และยังไม่เคยมีเจ้าหน้าที่เข้ามาสำรวจมาก่อน การเดินทางค่อนข้างลำบากต้องเดินเท้าลุยป่าชายเลนเข้าไปเป็นระยะทางกว่า 500 เมตร

เมื่อไปถึงจุดแรกพบถ้ำหินงอกหินย้อยรูปร่างสวยงาม มีธารน้ำไหลผ่าน และมีถ้ำเล็กๆ อีก 2 ถ้ำ ลักษณะใกล้เคียงกัน ตามพื้น และผนังถ้ำพบซากหอยแครงพันธุ์สี่เหลี่ยมขนาดใหญ่เท่าฝ่ามือจำนวนมาก คาดว่าเป็นหอยแครงที่ได้สูญพันธุ์ไปจากกระบี่เมื่อหลายปีก่อน จากนั้นเจ้าหน้าที่เดินเลียบแนวเพิงผาอ้อมไปประมาณ 20 เมตร ก็พบภาพเขียนสีโบราณจำนวนมากตลอดแนวเพิงผายาวกว่า 10 เมตร เขียนด้วยสีน้ำตาล มีทั้งรูปคน มีนิ้วสามนิ้ว รูปปลา และลายเส้นต่างๆ รวมกว่า10 ภาพ

บางส่วนก็เริ่มจางเนื่องจากผิวผนังเพิงผาผุกร่อนไปตามกาลเวลา ส่วนภาพปลา มีลักษณะลายเส้นคล้ายกับภาพเขียนสีที่เขาขนาบน้ำ คาดว่าเป็นแหล่งอาศัยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ราว 3,000-5,000 ปี สูงจากพื้นประมาณ 7-8 เมตร พบภาพเขียนลายเส้นสีดำ เป็นรูปเรือใบอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ขนาดกว้างประมาณ 30-40 เซนติเมตร เป็นภาพเดียวที่ต่างไปจากภาพอื่นๆ สร้างความตื่นเต้นแก่เจ้าหน้าที่เป็นอย่างมาก คาดว่าอยู่ในยุคประวัติศาสตร์ที่เริ่มมีการเดินเรือสินค้ามายังจอดหลบคลื่นลมบริเวณดังกล่าว

นายบุญพาศ กล่าวว่า ก่อนที่จะพบกับภาพเขียนสีโบราณแห่งใหม่นี้ ได้ทราบจากชาวบ้านที่มาขุดขี้ค้างคาว ว่า พบภาพเขียนสีอยู่จำนวนมากจึงได้เข้ามาสำรวจ ในเบื้องต้น พบว่ามีภาพเขียนสีทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 30 ภาพ แต่บางภาพก็มองไม่ชัดเนื่องจากมีรอยผุกร่อนของผิวผนังถ้ำ นับเป็นแหล่งภาพเขียนสีแห่งใหม่ที่พบในจังหวัดกระบี่ ส่วนภาพเรือใบนั้น คาดว่าอยู่ในยุคประวัติศาสตร์ราว 1,000 ปี คาดว่าเป็นเรือขนสินค้าจากประเทศจีน มาพักที่บริเวณดังกล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องให้เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรเข้ามาสำรวจเพื่อระบุความเป็นมาที่ชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งหลังจากนี้จะให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เข้ามาดูแลป้องกันไม่ให้มีการทำลาย และเตรียมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงโบราณคดี สามารถเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล ในพื้นที่ตำบลแหลมสัก และพื้นที่ใกล้เคียงได้เป็นอย่างดี



 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น