xs
xsm
sm
md
lg

จิตกับธรรม : จิตตนคร (ตอนที่ ๒๑) จิตตนคร เมืองต้นแบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “จิตฺตนคร” ขึ้นสำหรับบรรยายทางรายการวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประจำวันอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๒๓ และได้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกในเรื่อง การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑

พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน


ในบ้านเมืองทั่วไป มีกฎหมายห้ามการทำร้ายร่างกายและชีวิตคน แต่ไม่ห้ามการทำแก่สัตว์ดิรัจฉาน เหมือนอย่างคน และคนโดยมากบริโภคเนื้อสัตว์เป็นอาหาร สัตว์ดิรัจฉานจึงถูกฆ่าเป็นอาหารประจำวัน วันละมากมาย

นอกจากนี้ ในคราวสงคราม คนยังประหัตประหารกันเอง เพื่อรุกรานบ้าง เพื่อป้องกันบ้าง ชายฉกรรจ์ทั่วไปถือว่ามีหน้าที่จะต้องเป็นทหาร เพื่อป้องกันประเทศชาติ

และคนทั่วไปเมื่อโตขึ้นก็ต้องมีอาชีพคือทำงานหาเลี้ยงชีวิตตนเองและครอบครัว สร้างหลักฐาน เช่น ที่ดิน บ้านเรือน และทรัพย์ต่างๆขึ้น บางทีก็โดยทางสุจริต บางทีก็โดยทางทุจริต

แต่บางคนก็ลักขโมย ปล้นสะดมเขากิน ซึ่งเป็นการผิดกฏหมาย และบางคนก็ซื่อตรงต่อครอบครัว ไม่ประพฤตินอกใจ บางคนก็ประพฤตินอกใจ บางคนก็รักษาสัตย์ มีวาจาเชื่อได้ บางคนไม่ได้รักษาสัตย์ มีวาจาเชื่อไม่ได้ บางคนไม่ดื่มสุรายาเมา บางคนดื่มสุรายาเมา ในบ้านเมืองทั้งหลายก็มีโรงต้มกลั่นมากมาย มีสุราจำหน่ายนานาชนิด ทั้งยังมีโรงอะไรต่ออะไร สำหรับเที่ยวเตร่แสวงหาความสุขสนุกสนาน

ในบ้านเมืองที่เรียกกันว่าเจริญในปัจจุบัน มักจะมีสิ่งที่เรียกว่าอบายมุขทุกอย่าง แต่ทุกคนจะต้องปฏิบัติ
ตามกฏหมายของบ้านเมือง

นอกจากกฏหมาย ยังมีศาสนาเป็นที่พึ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจและความประพฤติ ศาสนาย่อมสอนศีลธรรมแก่ประชาชน บางทีก็ดูเหมือนขัดกัน เช่น ทางบ้านเมืองส่งเสริมอาชีพบางอย่างที่เกี่ยวกับการใช้เนื้อสัตว์เป็นอาหาร แต่ทางศาสนาห้ามการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ทางบ้านเมืองตั้งโรงต้มกลั่น แต่ทางศาสนาห้ามดื่มสุราเมรัย ดูขัดกันดังนี้ น่าจะอยู่ด้วยกันไม่ได้ แต่ก็อยู่ด้วยกันได้

ทั้งทางบ้านเมืองยังอุปถัมภ์ศาสนาอีกด้วย ก็เพราะการปฏิบัติศาสนาเป็นไปตามศรัทธาของแต่ละคน ใครยังไม่ศรัทธาจะยังไม่ปฏิบัติก็ได้ หรือยังไม่สะดวกก็ยังไม่ต้องปฏิบัติ

ส่วนกฎหมายเป็นการบังคับ เมื่อชาติต้องการใช้ หรือต้องการให้ช่วย ก็ต้องรับใช้ชาติช่วยชาติก่อน ว่างจากกิจจำเป็นของชาติ จึงปฏิบัติกิจทางศาสนาได้สะดวกตามศรัทธา

ศาสนาจึงไม่ขัดขวางต่อชาติ ทั้งยังช่วยชาติโดยเป็นเครื่องอบรมจิตใจคนให้ดีงามต่างๆ ที่กฎหมายไม่อาจทำได้

และคนในบ้านเมืองทั้งปวง ย่อมมีระดับแตกต่างกัน แม้จะอยู่ใต้กฎหมายเหมือนกัน ดังนั้น ผู้ที่ต้องการจะปฏิบัติให้ประณีตยิ่งขึ้นไปกว่ากฎหมาย ก็มาปฏิบัติศีลธรรมในทางศาสนาได้ จะปฏิบัติเร็วหรือช้าเท่าไรก็สุดแต่ใจสมัคร

ลักษณะและสิ่งที่เป็นไปในบ้านเมืองทั้งปวง ก็ถอดแบบมาจากจิตตนครทุกอย่างไม่มีผิดเพี้ยน เพราะนคร
สามีเชื่อฟังทั้งคู่บารมีและคู่อาสวะ จึงได้สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล สถานหรือการสงเคราะห์ต่างๆ ตลอดถึงวัดวาอารามขึ้น ด้วยคำแนะนำของคู่บารมี และได้สร้างโรงอบายมุขต่างๆขึ้นด้วยคำแนะนำของคู่อาสวะ ทั้งสองต่างเป็นคู่ปรับของกันและกัน ทั้งต่างก็ขวนขวายที่จะให้พรรคพวกเข้ามาสู่จิตตนครให้มากยิ่งขึ้น

ชาวจิตตนครจึงมีสิ่งหรือทางที่จะเลือกทำ เลือกปฏิบัติ เลือกเดิน ได้ทุกสิ่ง ทุกประการ ทุกทาง จะไปทางมนุษย์ ทางอบายภูมิ ทุคติภูมิก็ได้ จะไปทางสุคติภูมิ ตลอดถึงนิพพานก็ได้ คู่อาสวะและสมุทัยพยายามชักชวนเต็มที่ให้เดินไปตามทางของตน ใช้อารมณ์ที่น่าปรารถนาและสวรรค์ เป็นเครื่องโฆษณาล่อใจคนให้นิยม ซึ่งก็ได้ผลเป็นอันมาก

บรรดาผู้มาบริหารจิตทั้งหลาย คือผู้ที่ปรารถนาจะสามารถพาตนให้พ้นจากทางสายที่คู่อาสวะและสมุทัยแห่งจิตตนครพยายามชักชวนให้เดิน จึงนับว่าเป็นผู้มีความตั้งใจถูก ตั้งใจดี ที่จะทำให้สามารถก้าวเข้าไปสู่ทางสุคติได้ ถ้ามีความเพียรประกอบด้วยสติอยู่เสมอ

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 172 เมษายน 2558 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)

กำลังโหลดความคิดเห็น