xs
xsm
sm
md
lg

จิตกับธรรม : จิตตนคร (ตอนที่ ๒๐) คู่อาสวะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “จิตฺตนคร” ขึ้นสำหรับบรรยายทางรายการวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประจำวันอาทิตย์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๒๓ และได้รวบรวมพิมพ์ครั้งแรกในเรื่อง การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑

พระนิพนธ์เรื่องนี้ ทรงนำเอาเรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆมาผูกเป็นเรื่องราวทำนองปุคคลาธิษฐาน


ได้กล่าวถึงสถานการณ์ในจิตตนครเมื่อนครสามีอ่อนแอ ไม่เข้มแข็งเด็ดขาด ยอมให้คู่บารมีนำศีลและหิริโอตตัปปะ เข้าช่วยปกครองจิตตนครให้ร่มเย็นเป็นสุขดีแล้ว ครั้นสมุทัยใช้คารมหว่านล้อมมากเข้า ก็โอนอ่อนยอมให้สมุทัยกับพรรคพวกมีอำนาจในจิตตนครยิ่งกว่าคู่บารมีกับพรรคพวก ผลร้ายก็เกิดขึ้น คือคู่บารมีกับพรรคพวกพากันหลีกถอยไป ปล่อยให้สมุทัยกับพรรคพวกแสดงอำนาจ ก่อความพิบัติขึ้นทั่วไปในจิตตนคร จนจิตตนครจะเกิดเป็นไฟอยู่แล้ว เมื่อทุกข์ร้อนกันหนักเข้า ชาวจิตตนครก็กลับระลึกถึงศีลและหิริโอตตัปปะ

คู่บารมีที่หลีกทางให้สมุทัยกลับมาอีก ได้ชี้แจงให้นครสามีเห็นความจริงว่า สมุทัยเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ มิเป็นเหตุให้เกิดสุข ครั้นนครสามียอมเห็นด้วย ก็เสนอขอให้เรียกเจ้าหน้าที่มาประจำการ ช่วยศีลและหิริโอตตัปปะเพิ่มขึ้นอีก ๓ คือ ๑. อินทรียสังวร ๒. สติสัมปชัญญะ และ ๓. สันโดษ

นครสามียินยอม จิตตนครก็กลับคืนสู่ความสงบสุข เหตุพิบัติต่างๆ เริ่มลดน้อยถอยลงโดยลำดับ เพราะสมุทัยหลบหนีไป ไม่กล้าทนต่อการพิสูจน์ของฝ่ายบารมี

การที่สมุทัยถอยร่นหลบหน้าออกไปนั้น ก็มิใช่ว่าจะยอมพ่ายแพ้ สมุทัยแถลงว่า ถอยเพื่อจะตั้งตัวที่จะรุกให้มาก เหมือนอย่างถอยหลังครึ่งก้าว เพื่อที่จะกระโดดไกลไปทีเดียวหลายก้าว แต่ก็เป็นถ้อยแถลงกู้หน้าเท่านั้น เพราะสมุทัยไม่กล้าอยู่สู้หน้าคู่บารมีจริงๆ

ฉะนั้น จึงคิดว่าจะหาใครให้เป็นคู่ปรับกับคู่บารมีได้ ไม่เช่นนั้นก็จะต้องคอยถอยอยู่เรื่อยไป สังเกตดูคู่บารมีก็ชักจะเข้ามายุ่งมากขึ้น มิใช่นานๆ จึงจะเข้ามาสักครั้งหนึ่ง นึกขึ้นมาได้ถึง “คู่อาสวะ” ซึ่งเป็นอีกฝ่ายหนึ่งของนครสามี เห็นว่าจะมีกำลังต้านทานคู่บารมีได้ จึงเข้าพบคู่อาสวะ ชักชวนให้กำราบปราบปรามคู่บารมีลงเสียให้ได้

คู่อาสวะแถลงว่า ได้คอยช่วยสมุทัยอยู่ตลอดมาแล้ว แต่ได้ช่วยอยู่ลับๆในภายใน เมื่อคู่บารมีแนะนำอะไร คู่อาสวะก็คอยคัดค้านอยู่ทุกครั้ง ด้วยวิธีกระซิบเบาๆที่กกหู หรือที่ใจ บางทีก็เหมือนอย่างมาอภิปรายโต้วาทะกันต่อหน้านครสามี

อันที่จริงคู่อาสวะเป็นคนต่างเมืองต่างถิ่น คือมิใช่เป็นชาวจิตตนครโดยตรง แต่เป็นคนจรหมอนหมิ่น มาจากต่างเมืองที่ห่างไกล เป็นผู้สามารถทำให้นครสามีเกิดความรักใคร่ เกิดความเป็นเราเป็นเขา และเกิดความงงงวยหลงใหล จึงกลายเป็นคนใกล้ชิดสนิทสนม จนถึงเข้าอยู่ประจำองค์นครสามี ไม่ยอมออกห่าง เหมาะที่จะยืมคำว่า “คู่” มาเรียก ดังที่เรียกว่า “คู่อาสวะ” นั้นแหละ

คู่อาสวะถือว่าตนก็เป็นคนในเช่นเดียวกับคู่บารมี จึงไม่ค่อยยอมถอยหลังกรูดเมื่อคู่บารมีเข้ามา ยังคอยกระซิบใจนครสามี โต้แย้งคัดค้านมิให้เชื่อคู่บารมี แต่ให้เชื่อสมุทัย

และคู่บารมีเองเมื่อถูกปะทะบ่อยเข้าก็ยิ่งเข้มแข็ง ยิ่งเข้าประจำนครสามี และแนะนำตักเตือนบ่อยครั้งเข้า เมื่อถูกโต้แย้งมา ก็โต้ตอบกลับไปตามสัจจะคือความจริง เป็นเหตุให้นครสามีเกิดความลังเลสับสน เรียกใช้ฝ่ายนี้บ้างฝ่ายโน้นบ้าง บางทีก็เรียกใช้ทั้งสองฝ่าย โดยแบ่งปันขอบเขตหรือส่วนสิ่งกัน เช่นไตรทวารของจิตตนคร บางคราวศีลและวินัยเข้ารักษาทั้งหมด บางคราวทุจริตเข้ายึดไว้ได้จากศีลทั้งหมด บางคราวศีลวินัยรักษาไว้ได้แต่บางส่วนบางสิ่ง ทุจริตยึดไปได้บางส่วนบางสิ่ง

อนึ่ง หิริโอตตัปปะทำหน้าที่ “นครบาล” เที่ยวตรวจตราทั่วจิตตนครในบางเวลา แล้วก็ถูกพวกตัณหาพรรคพวกของสมุทัยรังแกขับไล่ไปเสียได้บ้างในบางเวลา อินทรียสังวร สติสัมปชัญญะ สันโดษก็เช่นเดียวกัน คือปฏิบัติหน้าที่ได้ในบางคราว หรือในบางส่วนของจิตตนคร เพราะพรรคพวกของสมุทัยเข้ายึดหน้าที่ในบางคราวหรือบางส่วน

ฉะนั้น สถานะของจิตตนครจึงมีทั้งสงบสุข ทั้งทุกข์เดือดร้อน ถ้าเป็นสีก็เปรียบเหมือนสีขาวดำ มีทั้งดีทั้งชั่ว ถ้าต้องการจะมองให้เห็นเป็นภาพ ก็น่าจะดูเทียบได้กับบ้านเมืองทั่วไป เพราะบ้านเมืองทั่วไปก็สร้างลอกแบบออกมาจากจิตตนครนี้แหละ

บรรดาผู้มาบริหารจิตทั้งหลาย แม้ต้องการจะทำจิตของตนให้เป็นจิตที่ดี ที่พ้นจากอำนาจของทุจริตแล้ว ก็ต้องไม่อ่อนแอเช่นนครสามี เดี๋ยวยอมให้ชั่วมีอำนาจ แต่ต้องเข้มแข็งเด็ดขาด ให้ดีเท่านั้นเป็นใหญ่ในใจตน ชั่วแล้ว ทุจริตแล้ว ปัดไปให้พ้นโดยเด็ดขาด จึงจะประสบผลสำเร็จสูงสุดในการบริหารจิต ได้มีจิตวิเศษสุด ที่จะให้ความสุขที่สุดได้

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 171 มีนาคม 2558 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)

กำลังโหลดความคิดเห็น