xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ: งามดุจเนรมิต ตึกดอกบัวเปลี่ยนสี สัญลักษณ์วัฒนธรรม-แลนด์มาร์คเมืองหวู่จิ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวเมืองกำลังชมความงดงามและน่าตื่นตาตื่นใจของอาคารดอกบัวเปลี่ยนสียามค่ำคืน
"ดูซี กามนิต นั่นคือแม่คงคาในสถานสวรรค์ ขอให้เราปฏิญญาต่อพระคงคาในสวรรค์ซึ่งมีน้ำขาวดั่งเงินยวง เป็นที่เลี้ยงดอกบัวในทะเลบนสวรรค์โน้น ให้เรามุ่งดวงจิตแน่วแน่ เตรียมการไปประสบสุขนิรันดรกาลบนนั้นเถิด” (จากเรื่องกามนิต-วาสิฏฐี)

ภาพสรวงสวรรค์ของวาสิฏฐี มีดอกบัวเป็นส่วนหนึ่ง เพราะดอกบัวเกี่ยวพันกับความเชื่อในพระพุทธศาสนาและวิถีชีวิตชาวพุทธมาแต่โบราณกาล

เช่นเดียวกับอาคารสมัยใหม่ในสวนสาธารณะกลางเมืองของประเทศจีนแห่งนี้ ที่ยังสืบทอดเจตคติเกี่ยวกับดอกบัวไว้อย่างชวนตะลึง

เมื่อสระบัวกลางสายน้ำพระคงคา เป็นที่หมายของกามนิตและวาสิฏฐี ที่จะได้ไปพบกันหลังจบชีวิตบนโลกมนุษย์ สระบัวกลางเมืองหวู่จิ้น ทางใต้ของเมืองฉางโจว มณฑลเจียงซู ประเทศจีน ก็เป็นที่หมายของชาวเมืองหวู่จิ้นที่มาพักผ่อนหย่อนใจกันในสวนสวรรค์บนพื้นโลก
.........

ย่างก้าวบนพื้นถนนสู่สวนสาธารณะแห่งนี้ ค่อยๆเปิดทางให้เห็นอาคารสร้างใหม่สวยงามแปลกตาสามหลังติดกัน ผุดขึ้นกลางสระเทียมขนาดใหญ่ โดดเด่นสะดุดตาในแวดล้อมของอาคารรูปแบบเดิมๆ ที่ตั้งตรงแข็งทื่อเป็นฉากปราการ

ด้วยรูปลักษณ์ของอาคารกลางสระน้ำที่เห็น ไม่ต้องใช้จินตนาการอะไรก็บอกได้ทันทีว่า เป็นดอกบัวกลีบอ่อนช้อย งามวิจิตร สีชมพูเรื่อไล่ระดับ เส้นขอบต้องแสงแดดวาวระยับ

ถึงแม้จะยิ่งใหญ่อลังการ และงามสง่าคล้ายดอกบัวธรรมชาติ แต่นี่ไม่ใช่งานประติมากรรม เพื่อความสุนทรีย์เพียงอย่างเดียว อาคารรูปดอกบัวยังมีหน่วยราชการของเมืองหวู่จิ้นอย่างสำนักผังเมืองตั้งอยู่

หวู่จิ้น เป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ในภาคใต้ของมณฑลเจียงซู ซึ่งเป็นแหล่งอารยธรรมทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ปัจจุบันมีการพัฒนาให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมส่งออกและอุตสาหกรรมไฮเทค แต่บรรยากาศทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมก็ยังดำรงอยู่ เพราะหน่วยงานท้องถิ่นมุ่งหมายจะพัฒนาเมืองทั้งด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมควบคู่กันไป

ตึกดอกบัวจึงก่อกำเนิดขึ้น จากความต้องการสร้างสิ่งก่อสร้างที่มีลักษณะโดดเด่น เป็นสื่อสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม และเป็นแลนด์มาร์คของเมือง โดยพยายามกำหนดคุณค่าและสัญลักษณ์สำคัญให้กับเมือง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาต่อไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับเมืองอื่นๆ ของประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว

การพัฒนาเมืองในลักษณะนี้ จะทำให้เกิดความรู้สึกมีส่วนร่วม มีสถานที่ที่ทุกคนเป็นเจ้าของ เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ของชุมชน ให้มีความเจริญก้าวหน้า มีอนาคตที่สดใสเบ่งบานร่วมกัน การสร้างแลนด์มาร์คยังเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับแนวทางการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรมและการพัฒนาเมืองอีกด้วย

จากโจทก์ที่ต้องการสร้างประติมากรรมประเภทอาคารที่ดูเป็นธรรมชาติตั้งอยู่กลางทะเลสาบ ผลลัพธ์ที่ได้คือ การตัดสินใจเลือกดอกบัวมาเป็นสื่อสัญลักษณ์

ตามความเชื่อในวัฒนธรรมจีนที่ฝังรากลึกมาแต่โบราณกาลนั้น ดอกบัวเป็นสัญลักษณ์แห่งความดี ความสะอาด บริสุทธิ์ มีคุณค่า เจริญรุ่งเรือง มั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ โชคดี สามัคคี ปลอดภัย และเป็นสิ่งอันเป็นมงคล เพราะดอกบัวมีรูปลักษณ์งดงาม มีกลิ่นหอม สะอาดสะอ้านผุดผ่องกลางน้ำใส แม้จะแทงยอดขึ้นจากโคลนตม เติบโตชูก้านดอกเหนือผิวน้ำ แต่ดอกบัวก็ไม่เปื้อนดิน ไม่เปียกน้ำ หรือไม่แปดเปื้อนมลทินใดๆ

เราจะพบความเชื่อเกี่ยวกับดอกบัว แฝงอยู่ในวิถีชีวิตของชาวจีนหลายรูปแบบ ทั้งในภาพวาด บทกวี ตำนาน ในพุทธศาสนามหายาน ดอกบัวเป็นจุดเริ่มต้นของจักรวาล เป็นที่จุติของเทพบนสรวงสวรรค์แดนสุขาวดี แบบเดียวกับที่เรื่องกามนิต-วาสิฏฐีบรรยายไว้

เช่นเดียวกับในสัทธรรมปุณฑริกสูตร หรือพระสูตรบัวขาว ซึ่งเป็นพระสูตรที่สำคัญในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานของจีน กล่าวถึงบรรดาพระชินบุตร (พระสงฆ์) ทั้งหลายว่า อุบัติขึ้นโดยนั่งบนใจกลางดอกบัวอันปราศจากมลทิน และพระอมิตาภพุทธเจ้าประทับนั่งบนบัลลังก์ในใจกลางดอกบัว อันบริสุทธิ์ส่องแสงโอภาส

แต่ภาพที่คนไทยคุ้นเคย คือพระอวโลติเกศวรหรือพระโพธิสัตว์กวนอิม ประทับอยู่ในลักษณะยืนบ้าง นั่งบนแท่นดอกบัวบ้าง

ตึกดอกบัวกลางน้ำ มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “ตึกดอกบัว” (The Lotus Building) เป็นผลงานสร้างสรรค์ของบริษัทสถาปัตยกรรมจากออสเตรเลีย ชื่อ Studio 505 ประกอบด้วยอาคารรูปดอกบัวกลางทะเลสาบเทียม จำนวน 3 อาคาร ตั้งอยู่บนพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร และสวนสาธารณะเนื้อที่ 35,000 ตารางเมตร รูปทรงของตึกออกแบบให้มีกลีบบัวโอบหุ้มตัวอาคารไว้ กลีบบัวแสดงพัฒนาการของดอกบัวที่ค่อยๆเบ่งบานเป็น 3 ระดับ เริ่มตั้งแต่เป็นดอกตูมในอาคารที่ 1 ดอกเริ่มบานแย้มในอาคารที่ 2 และดอกบานเต็มที่ในอาคารที่ 3 โดยระหว่างอาคารมีทางเชื่อมต่อถึงกัน

ตัวตึกที่เห็นลอยเด่นบนผืนน้ำเป็นเพียงส่วนบน ยังมีข้างล่างที่ลงไปใต้น้ำเป็นชั้นใต้ดิน 2 ชั้น โดยพื้นที่ในส่วนพ้นน้ำออกแบบให้เกิดประโยชน์ใช้สอยของหน่วยงานราชการและประชาชนทั่วไป แบ่งออกเป็นที่ตั้งสำนักงานของสำนักผังเมือง โถงจัดนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย ห้องจัดเลี้ยง ร้านอาหาร แหล่งความบันเทิง ห้องประชุม และศูนย์การประชุม เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดของโครงการ ที่ต้องการให้สถานที่แห่งนี้เป็นศูนย์รวมของประชาชน

เนื่องจากตัวตึกตั้งอยู่กลางน้ำ การเข้าสู่อาคารจะต้องเข้าทางฐานอาคารไปตามอุโมงค์ใต้น้ำ แล้วจะพบกับห้องโถงสูงโล่งเป็นด่านแรก แสงและสีผสมผสานอย่างลงตัว ช่วยให้ภายในห้องโถงดูสว่างและโปร่ง ไม่ว่าสภาพอากาศข้างนอกจะฝนตกหรือแดดออกก็ตาม

บนยอดสุดของโถงมีโคมไฟระย้าขนาดใหญ่ ยาว 7 เมตร ดูเด่นสะดุดสายตา สะกดใจได้ทุกมุมไม่ว่าจะกวาดมองภายใน หรือละตาผ่านเลยออกไปภายนอก หากนั่งละเลียดมองให้ทั่ว ก็จะเพลิดเพลินกับเงาแสงที่สาดส่องผ่านกระจกเข้ามาเล่นลวดลายบนพื้นและผนัง ด้วยฝีมือสร้างสรรค์จากธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละชั่วโมงนาที

ส่วนที่ออกแบบเป็นกลีบดอกบัว ตกแต่งพื้นผิวภายนอกและภายในด้วยกระเบื้องโมเสคสแตนเลสรูปหกเหลี่ยมด้านเท่า สีขาว สีเบจ และสีชมพู ค่อยๆเล่นระดับสีจากอ่อนจางที่โคนกลีบ ไล่ขึ้นจนถึงสีเข้มที่สุดที่ปลายกลีบ ดูกลมกลืนและต่อเนื่อง เป็นงานฝีมือมนุษย์ที่สวยงามราวเนรมิต เพิ่มความน่าดูขึ้นไปอีกด้วยแสงจากโคมไฟระย้า มองดูคล้ายเกสรดอกบัว

การออกแบบตกแต่งภายในแต่ละส่วน รักษาคอนเซปต์ของดอกบัวได้ตลอด ไม่ว่าจะอยู่ห้องใดมุมใด ก็ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในดอกบัวที่มีเส้นโค้งของกลีบดอกอันอ่อนโยนแต่ดูทันสมัย อย่างเช่นห้องประชุมทรงโค้งและเพดานสูงแบบโดมที่มีลายเส้นเป็นกลีบบัว ใช้โทนสีน้ำตาลของไม้ที่พื้น ผนัง และเพดาน กับสีเงินของขอบเส้นโค้ง ดูจริงจัง อบอุ่น แต่สว่างโล่ง เหนือโต๊ะประชุมทรงกลมเป็นโคมไฟแขวนทันสมัยทรงโดนัท

ไม่ใช่แค่สวยงามดูเข้ากับธรรมชาติ แต่โครงการนี้ยังอนุรักษ์พลังงาน ด้วยการออกแบบให้ใช้พลังงานน้อยที่สุด คือ ปักเสาจำนวน 2,500 ท่อน ลงไปในทะเลสาบเทียม ฝังลึกถึงใต้พิภพ เพื่อดึงพลังงานความร้อนจากใต้พิภพมาใช้

น้ำในทะเลสาบและพื้นดินข้างใต้ ทำหน้าที่ทั้งระบายความร้อน (ในหน้าร้อน) และเพิ่มความอุ่น (ในหน้าหนาว) การสับเปลี่ยนพลังงานความร้อนนี้ ช่วยลดค่าใช้จ่ายสำหรับเครื่องปรับอากาศได้ตลอดทั้งปี ทั้งในตัวอาคารรูปดอกบัวเหนือพื้นดินและส่วนที่เป็นชั้นใต้ดิน

นอกจากนี้ ยังมีการระบายอากาศตามธรรมชาติ โดยใช้การระเหยของน้ำที่ผิวทะเลสาบ ช่วยเพิ่มความเย็นสดชื่นผ่านช่องระบายอากาศเข้ามาภายในอาคารอีกด้วย

ในยามค่ำคืน ตึกดอกบัวช่วยสร้างสีสันให้กับเมืองหวู่จิ้นอย่างมาก ระบบแสงสว่างถูกตั้งโปรแกรมทำงานไว้ให้เปลี่ยนสีไปเรื่อยๆ รอบละ 30 วินาที โดยสีของดอกบัวจะคงเดิมนาน 20 วินาที แล้วจะค่อยๆเปลี่ยนไปทีละน้อยๆ จนเป็นสีใหม่ในอีก 10 วินาทีถัดไป ภาพตึกดอกบัวที่เห็นก็จะต่างกันไปตามสีนั้นๆ แสงสีสดใสตื่นตาตื่นใจ ดึงดูดให้ชาวเมืองมารอชมกันอย่างเพลิดเพลิน ตึกดอกบัวและสวนสาธารณะแห่งนี้ จึงเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์คที่เป็นที่นิยมที่สุดในเมืองหวู่จิ้น

สำหรับชาวเมืองหวู่จิ้น ที่นี่เป็นอาณาจักรของความรื่นรมย์ มีชีวิตชีวา ที่สะท้อนถึงรากทางวัฒนธรรมอันเก่าแก่ ซึ่งแสดงออกในรูปแบบสมัยใหม่ และเป็นที่รวมความหลากหลายของกิจกรรมในโลกยุคนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการของชาวเมือง สร้างความภาคภูมิใจ และความรู้สึกมีส่วนร่วมได้อย่างลงตัว

รู้หรือไม่

นอกจากชาวพุทธและฮินดูเชื่อว่า ดอกบัวเป็นดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์แล้ว ชาวอียิปต์ก็มีความเชื่อเรื่องดอกบัวด้วย พวกเขาเชื่อว่า ดอกบัวนั้นมีความหมายคือการกำเนิดและการกลับมาเกิดใหม่

ในสมัยอียิปต์โบราณเชื่อว่า เทพธิดาไอซิสนั้นถือกำเนิดมาจากดอกบัว และในการทำมัมมี่จะมีการวางดอกบัวไว้ในหลุมศพด้วย เพื่อแสดงถึงการมีชีวิตใหม่อีกครั้ง

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 171 มีนาคม 2558 โดย วิรีย์พร)
ชาวเมืองกำลังชมความงดงามและน่าตื่นตาตื่นใจของอาคารดอกบัวเปลี่ยนสียามค่ำคืน
ชาวเมืองกำลังชมความงดงามและน่าตื่นตาตื่นใจของอาคารดอกบัวเปลี่ยนสียามค่ำคืน
ชาวเมืองกำลังชมความงดงามและน่าตื่นตาตื่นใจของอาคารดอกบัวเปลี่ยนสียามค่ำคืน
อาคารดอกบัว 3 อาคาร
กลีบดอกบัวนอกอาคาร ที่ดูอ่อนช้อย
ห้องโถงใหญ่ภายในอาคาร ที่มีโคมไฟระย้าขนาดใหญ่ห้อยอยู่
ห้องประชุมภายในอาคาร
ยามค่ำคืนแสงจากโคมไฟที่สะท้อนกระจกดูคล้ายเกสรดอกบัว
กำลังโหลดความคิดเห็น