xs
xsm
sm
md
lg

หนุ่มสาวจีนเมินงานในระบบยุติธรรม ร้องไส้แห้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ระหว่างภาวะสมองไหลเกิดขึ้นในระบบงานยุติธรรมจีน ศาลสูงสุดของแผ่นดินใหญ่ ก็ระบุว่าจะขึ้นเงินเดือน และเพิ่มการดูแลความปลอดภัยให้แก่ผู้พิพากษา (ภาพ: เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์)
เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์- สำรวจเผย ระบบงานยุติธรรมในจีนกำลังเผชิญสภาวะสมองไหล หนุ่มสาวแห่ออกจากงานเพราะงานหนักและรายได้น้อย
สื่อจีนเผยสถานการณ์สมองไหลในระบบงานยุติธรรมจีน พบว่า ข้าราชการพลเรือนหนุ่มสาวมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่า พวกเขาได้เงินเดือนแค่ 4,530 หยวน หรือราวๆ 22,050 บาท สันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน (Communist Youth League) สาขาปักกิ่ง ระบุ

นอกจากนี้ การสำรวจยังพบว่า ปีที่ผ่านมา (2557) ข้าราชการพลเรือนที่อายุประมาณ 34 ปี หรือผู้ที่เกิดช่วงหลังปี 1980 จำนวนมากกว่า 2,000 คน ต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจ นอกเหนือไปจากความกดดันในภาระงานที่เผชิญอยู่ เว็ปท่าพีเพิลส์ เดลี รายงาน (People’s Daily)

สำทับด้วยความเห็นจากกลุ่มผู้พิพากษาในวีแชต (WeChat) ไมโครบล็อคชื่อดังของจีน กลุ่มหนึ่ง ซึ่งระบุว่า งานผู้พิพากษาหนักมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขากลับต้องหัวเสียเพราะเงินเดือนประจำน้อยมาก อีโคโนมิค ออปเซอร์เวอร์ (economic observer) ระบุ

ระหว่างปี 2551-2555 ศาลปักกิ่งว่าจ้างผู้พิพากษาทั้งหมด 2,053 คน แต่ลาออกไป 348 คน นอกจากนี้ในมณฑลเจียงซู ปัญหานี้ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะแค่ช่วงปี 2551-2556 ก็มีผู้พิพากษาลาออกไปเกือบ 2,000 คนแล้ว ส่วนในมณฑลก่วงตง ช่วงเวลาเดียวกัน ลาออกกันไปมากกว่า 1,600 คน เว็ปท่าของ ซินหวา เดลี (Xinhua Daily) รายงาน

ในขณะที่ในปักกิ่ง สถานการณ์สมองไหลนี้เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา เหตุเพราะผู้พิพากษาที่รัฐบรรจุเข้ามาในปี 2550 เพิ่งทำงานครบกำหนดสัญญาในปีดังกล่าว

ด้านผู้พิพากษาปักกิ่งรายหนึ่ง กล่าวถึงเหตุผลที่ผู้พิพากษาพากันลาออกไว้อย่างน่าสนใจว่า “หลายคนบอกว่า งานที่น่าทำ คืองานที่ทำให้คุณดูแลครอบครัวได้ หรือไม่ก็ต้องเป็นงานที่คุณทำแล้วมีความสุข ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา งานในศาลฝึกให้ผมคิดแบบนักกฎหมาย แต่ไม่ตอบสนองความต้องการของผมด้านอื่นเลย” อีโคโนมิค ออปเซอร์เวอร์ รายงานอ้างคำกล่าวของผู้พิพากษา ที่ใช้นามแฝงว่า อู่ เจิ้นหมิง ซึ่งระบุชัดเจนว่า “แค่ 11 เดือนที่ผ่านมา ผมทำคดีไป 260 คดีแล้ว” ในขณะที่จำนวนคดีที่ผู้พิพากษาในปักกิ่งต้องรับผิดชอบ เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 160 คดี ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยคดีความทั่วประเทศถึง 2.7 เท่าตัว

“เมื่อก่อนตอนที่คนจะเปลี่ยนงาน เขาก็จะบอกกันในเครือข่าย แต่ตอนนี้พวกเขาเลิกพูดกันแล้วเพราะเกรงว่าจะกระทบเรื่องขวัญและกำลังใจ” นายอู่ กล่าว

ด้านศาลสูงสุดของแผ่นดินใหญ่ ระบุในเดือนธ.ค. ที่ผ่านมาว่า จะมีการขึ้นเงินเดือน และเพิ่มการดูแลความมั่นคงให้แก่ผู้พิพากษา ในโครงการนำร่องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูประบบงานยุติธรรมของประเทศที่กำลังดำเนินอยู่ ทว่า นโยบายดังกล่าวก็ไม่อาจรั้งผู้พิพากษาหนุ่มสาวเอาไว้ได้ โดยเฉพาะในปีงบประมาณถัดไป

อีโคโนมิค ออปเซอร์เวอร์ เผยว่า หากย้ายไปทำกับบริษัทกฎหมายเอกชน อดีตผู้พิพากษาจะได้ค่าตอบแทนก้อนโต ปีละ 300,000 หยวน หรือราวๆ ปีละ 1,500,000 บาท

ส่วนศาลท้องถิ่นก็พยายามดึงผู้พิพากษาของตนเองไว้ด้วยการเสนอให้สวัสดิการเพิ่ม แต่บางรายก็เด็ดเดี่ยวถึงขั้นปฎิเสธสวัสดิการบ้านพัก รายงานระบุ

ในขณะที่มีข่าวลือว่า ผู้พิพากษาบางคนในปักกิ่ง ถึงขั้นลงทุนแกล้งป่วยซึมเศร้าอยู่ 2 เดือน เพื่อให้ศาลสั่งให้ออกจากงาน

อนึ่ง กลุ่มผู้พิพากษาในวีแชต กลุ่มดังกล่าวตั้งขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา (2557) สมาชิกของกลุ่มส่วนใหญ่เป็นอดีตผู้พิพากษาปักกิ่ง และผู้พิพากษาที่เตรียมจะออกจากงาน รวมทั้งสิ้น 230 ราย แต่ก่อนหน้านี้จำนวนสมาชิกกลุ่มฯ มีจำนวนมากทะลุ 500 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่วีแชตจำกัดไว้ ไปหลายครั้งแล้ว

ผู้พิพากษารายหนึ่งในกลุ่มวีแชตนี้ ระบุว่า กลุ่มในวีแชตเหมือนที่รวม “เพื่อนเก่าที่เคยร่วมชะตากรรม” นอกจากนี้ทางกลุ่มยังคอยช่วยเหลือให้คำปรึกษากับผู้พิพากษาที่กำลังคิดจะลาออกอีกด้วย

ปัจจุบัน หลังจากที่กลุ่มฯ ถูกผู้พิพากษาอาวุโสหลายคนตำหนิว่า กระตุ้นให้ผู้พิพากษาคนอื่นออกจากงาน ทางกลุ่มฯ จึงรับสมาชิกเฉพาะที่เป็นอดีตผู้พิพากษาเท่านั้น

กำลังโหลดความคิดเห็น