สมุนไพรโบราณ ที่ได้ถูกบันทึกไว้ในตำนานของชาวฮินดู ว่าเป็นไม้มงคลและศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่นับถือของคนไทย พม่า มอญ มาแต่โบราณ และได้ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงรัตนโกสินทร์ ว่า ใช้ไม้มาทำเป็นพระที่นั่งในพระราชพิธีราชาภิเษก ทำกระบวยตักน้ำเจิมถวาย ทำหม้อน้ำสำหรับกษัตริย์ทรงใช้ในพระราชพิธี สมุนไพรที่ว่านี้ คือ “มะเดื่อชุมพร”
มะเดื่อมีถิ่นกำเนิดในประเทศศรีลังกา จีนตอนใต้ เอเชียใต้ และตะวันออกเฉียงใต้ สายพันธุ์มะเดื่อที่มีอยู่ในโลก ซึ่งทางพฤกษศาสตร์ได้มีการรวบรวมไว้นั้นมีประมาณ 600 สายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่บ้านเรารู้จักกันดี คือ “มะเดื่อชุมพร” มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Ficus Racemosa Linn. (บางแห่งใช้ Ficus Glomerata Roxb.) ชื่อภาษาอังกฤษว่า Cluster Fig, Goolar Fig, Gular Fig มีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น กูแซ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), เดื่อเกลื้อง(ภาคกลาง, ภาคเหนือ), เดื่อน้ำ(ภาคใต้), มะเดื่อ(ลำปาง), มะเดื่อชุมพร มะเดื่ออุทุมพร(ภาคกลาง) เป็นต้น
ลักษณะเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ สูง 5-20 เมตร ลำต้นเกลี้ยงสีน้ำตาลหรือน้ำตาลปนเทา มีน้ำยางขาว กิ่งอ่อนสีเขียว กิ่งแก่มีสีน้ำตาลเกลี้ยง หรือมีขนปกคลุม ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่หรือรูปใบหอก ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ
ดอกออกเป็นช่อ มีรูปร่างคล้ายผล (คนส่วนใหญ่จึงเรียกช่อดอกนี้ว่าผลหรือลูกมะเดื่อ) ช่อดอกนี้เกิดภายในฐานรองดอกที่มีรูปร่างคล้ายผล ออกดอกระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม
ผลออกเป็นกระจุกตามกิ่งและลำต้น รูปกลมแป้นหรือรูปไข่ มีขน ภายในผลมีเกสรเล็กๆอยู่ ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อสุกมีสีแดงอ่อน จนถึงเข้ม ออกผลระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ขยายพันธุ์โดยเมล็ด
ต้นมะเดื่อเป็นสมุนไพรที่มีคุณค่ามากมาย เริ่มจาก
ราก : มีรสฝาดเย็น ในตำราแพทย์แผนโบราณระบุว่า มีสรรพคุณแก้ไข้ กระทุ้งพิษไข้ กล่อมเสมหะและโลหิต แก้ไข้หัวลม ไข้กาฬ ไข้พิษทุกชนิด
ส่วนตำรับยาสมุนไพรไทย ถือว่า ต้นมะเดื่อเป็นยาแก้ไข้สำคัญของไทย เป็นตำรับยาที่ได้รับการบรรจุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และจัดอยู่ใน “ยาห้าราก” หรือ “เบญจโลกวิเชียร” หรือ “ยาแก้วห้าดวง” หรือ “ยาเพชรสว่าง” คือ รากของสมุนไพร 5 อย่าง ได้แก่ รากต้นคนทา รากย่านาง รากต้นท้าวยายม่อม รากต้นชิงซี่ และรากต้นมะเดื่ออุทุมพร โดยจะใช้รากทั้ง 5 ในอัตราส่วนที่เสมอภาคหรือเท่ากัน ต้มรับประทานน้ำ บดเป็นผงละเอียดบรรจุใส่แคปซูล ปั้นเป็นยาลูกกลอน หรือยาพิมพ์เม็ด สามารถถอนพิษไข้ได้ทุกชนิด แก้ร้อนใน ขับเสมหะ แก้พิษร้อน ไข้พิษ ไข้กาฬ (ไข้ที่มีตุ่มที่อวัยวะภายในหรือที่ผิวหนัง ซึ่งตุ่มอาจมีสีดำ) และกระทุ้งพิษไข้ เพื่อไม่ให้ไข้หลบใน
ใบ : ช่วยลดน้ำตาลในเลือด ต้านเชื้อบิด ลดความดันโลหิตสูง คลายกล้ามเนื้อเรียบ ต้านเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส ลดไขมันในเลือด
เปลือก : มีรสฝาด ช่วยแก้อาเจียน ธาตุพิการ แก้อาการท้องเสีย ท้องร่วง (ที่ไม่ใช่บิดหรืออหิวาตกโรค) ช่วยห้ามเลือด ชะล้างบาดแผล สมานแผล แก้เม็ดผื่นคัน
มีผลการทดลองวิจัยในประเทศอินเดีย พบว่า เปลือกของมะเดื่อ ช่วยลดน้ำตาล และลดไขมันในเลือด
ผล : รสฝาดเย็นอมหวาน แก้ท้องร่วง และสมานแผล ผลสุกเป็นยาระบาย ซึ่งมีงานวิจัยออกมาว่า มะเดื่อแต่ละผลนั้นจะมีปริมาณน้ำตาลธรรมชาติอยู่ถึง 83% เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยแคลเซียม และไฟเบอร์สูง มีวิตามินเอ บี บี1 บี2 และวิตามินซีอยู่มาก ช่วยระบบขับถ่ายที่ดีเยี่ยม รวมทั้งยังมีแร่ธาตุที่สำคัญ เช่น เหล็ก แคลเซียม และทองแดง ซึ่งแร่ธาตุเหล่านี้มีประโยชน์ต่อเซลล์ในร่างกายและการฟอกเลือด มีประโยชน์สำหรับคนที่ขาดเลือด
ผลมะเดื่อมีน้ำตาลราว 18-30% ตามความสดและแห้ง ผลมะเดื่อสดปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงาน 70-267 แคลอรี เมื่อเทียบกับผลแห้ง ดังนั้น ผู้ที่รับประทานผลมะเดื่อจะมีกำลังวังชา และทนต่อความหนาวได้เป็นอย่างดี
ส่วนผู้ที่มีอาการปากเปื่อย ร้อนใน ใช้เปลือกต้นหรือผลมะเดื่อมาเคี้ยว แล้วอมไว้สักครู่ วันละ 2-3 ครั้ง จะช่วยสมานแผลแก้ร้อนในได้
ในทางเภสัชวิทยานั้น มะเดื่อมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต กดหัวใจ คลายกล้ามเนื้อเรียบ ทำให้หลอดเลือดคลายตัว ยับยั้งการฝังตัวของตัวอ่อน ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านไวรัส ขับพยาธิ คลายอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ แก้ปวดลดไข้ ลดการอักเสบ ลดไขมันในเลือด เป็นต้น
ล่าสุด สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการวิจัยพบว่า สารสกัดอะซีโตนของเปลือกไม้ต้นมะเดื่อชุมพร มีฤทธิ์ป้องกันความเป็นพิษของไต ระบบสืบพันธุ์เพศชาย และสารสกัดจากใบมะเดื่อชุมพร มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 170 กุมภาพันธ์ 2558 โดย มีคณา)