สมุนไพรไทยอีกชนิดหนึ่งที่พบได้ทั่วไปตามข้างทาง และที่รกร้างว่างเปล่า ดูเหมือนเป็นวัชพืชที่ไม่มีคุณค่า ไม่ค่อยมีใครสนใจ ชื่อก็ฟังดูแปลก ไม่คุ้นหู แต่ว่ามีประโยชน์และสรรพคุณมากมาย นั่นคือ “โทงเทง”
“โทงเทง” มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Physalis angulata L. ชื่อภาษาอังกฤษว่า Hogweed, Ground Cherry, Chinese lantern plant มีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น ต้อมต๊อก บาตอมต๊อก บาต้อมต๊อก(เชียงใหม่), ปิงเป้ง(หนองคาย), ปุงปิง(ปัตตานี), ชาผ่อเหมาะ(กะเหรี่ยงแดง), จะเก๊าหลือ(ม้ง), ตะเงหลั่งเช้า(จีน), ขู่จี๋ หวงกูเหนียง(จีนกลาง), โคมจีน, โคมญี่ปุ่น เป็นต้น ขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด พบได้ทั่วไปในทุกภาคบริเวณที่ลุ่ม
ลักษณะเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก ลำต้นอวบน้ำ เปลือกเกลี้ยงสีเขียว แตกกิ่งจำนวนมากจนเป็นพุ่ม สูงประมาณ 25-120 ซม. ใบเป็นใบเดี่ยว รูปไข่ ออกเรียงสลับ ปลายใบแหลม โคนใบป้าน ขอบใบหยักเล็กน้อย
ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวๆ ตามซอกใบ เป็นดอกตูมทรงรีปลายแหลม เวลาบานเป็นรูปแตร กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูประฆัง ปลายเป็นแฉกตื้นๆ มีสีเหลืองอ่อน เหลืองอ่อนแกมเขียว หรือสีขาว ออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤศจิกายน
ผลเป็นรูปทรงรีเกือบกลม มีกลีบดอกชั้นนอกหุ้ม จนดูเหมือนโคมจีนสีเขียวอ่อนมีลายสีม่วง ผลภายในมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2ซม. ลักษณะกลมใสมีสีเขียวอ่อน เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ภายในผลมีเมล็ดรูปกลมแบนขนาดเล็กจำนวนมาก
ต้นโทงเทงจัดเป็นยาเย็น มีรสขม ออกฤทธิ์ต่อปอด ตับ และทางเดินปัสสาวะ แก้ปัสสาวะเป็นเลือด รักษาอาการดีซ่าน ใช้เป็นยาดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ หวัดแดด ไอร้อนในปอด ไอหืดเรื้อรัง แก้ต่อมน้ำลายอักเสบ หรือต่อมทอนซิลอักเสบ
ในตำราแพทย์แผนโบราณของไทยนั้น ระบุสรรพคุณของโทงเทงไว้ว่า แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ แก้เจ็บในลำคอ แก้ปวดแสบปวดร้อน ฝนหยอดตา แก้ตาแฉะ แก้ปวดเคืองในลูกตา แก้ตาอักเสบ ใบโทงเทงมีรสเปรี้ยว แก้เจ็บคอ แก้ฝีในคอ แก้น้ำลายพิการ
มีข้อมูลทางเภสัชวิทยาบอกว่า เมื่อนำโทงเทงทั้งต้นมาสกัดทำเป็นยาแก้ไอ ให้ผู้ป่วยโรคหลอดลมอักเสบจำนวน 36 คน รับประทาน พบว่า ผลการรักษาผู้ป่วยได้ผลดี
นอกจากนี้ ยังพบสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanins) ในโทงเทง ซึ่งเป็นสารที่ลดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้องอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากคุณสมบัติที่มีสรรพคุณในการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งนั้น จึงเป็นที่มาของการคิดค้นตำรับยารักษาโรคมะเร็งที่มีส่วนผสมของโทงเทงอยู่ในองค์ประกอบหลัก
ตำรายาสมุนไพรไทยได้บันทึกสรรพคุณของต้นโทงเทงไว้ว่า มีสรรพคุณแก้ต่อมทอนซิลอักเสบ ขับปัสสาวะ แก้ไอ แก้เจ็บคอ แก้ไข้ แก้ปวดศีรษะ แก้บิดมีตัว แก้พิษ ขับพยาธิในลำไส้ แก้ฟกช้ำ แก้ปวดหู แก้บวมน้ำ เป็นยาระบาย ใช้ทั้งต้น รักษาดีซ่าน ไอหืดเรื้อรัง แผลมีหนอง เจ็บคอ ส่วนรากมีสรรพคุณรักษาโรคเบาหวาน และใช้ขับพยาธิ
ในตำราสมุนไพรจีน กล่าวว่า โทงเทงมีสรรพคุณแก้โรคช่องปากอักเสบ ลิ้นอักเสบ หลอดลมอักเสบและไออย่างแรง หอบ คอเจ็บ โรคเสียงแหบต่างๆ น้ำปัสสาวะเป็นสีเหลือง
มีผลการวิจัยจากประเทศอินเดีย เมื่อ ค.ศ. 1973 ว่า สารสกัดจากสมุนไพรโทงเทง สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ส่วนที่ใช้ คือ ทั้งต้น ราก และเยื่อหุ้มผลแห้ง
ส่วนการวิจัยของสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า สารสกัดจากต้นโทงเทง มีฤทธิ์ในการยับยั้งเซลล์มะเร็งตับ
ข้อควรระวัง !!
• สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทาน
• ในช่วง 1-5 วันแรก เมื่อรับประทานแล้วอาจมีอาการเวียนศีรษะ นอนไม่หลับ อึดอัด หงุดหงิด หลังจากนั้นอาการเหล่านี้จะค่อยๆหายไปเอง
• กลีบเลี้ยงของต้นโทงเทง มีสารพิษโซลานิน (Solanine) ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร เมื่อรับประทานแล้วหลายชั่วโมงจะปวดแสบปวดร้อนที่ปากและคอหอย คลื่นไส้ เบื่ออาหาร อาเจียน ปวดท้อง และท้องร่วง อุณหภูมิร่างกายสูง เป็นต้น ถ้ายังไม่อาเจียนออก จะต้องล้างท้อง ให้น้ำเกลือ ระวังอาการไตวาย ให้ยาเคลือบกระเพาะอาหาร หรือถ้ามีอาการชักให้ใช้ยาแก้ชัก
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 167 พฤศจิกายน 2557 โดย มีคณา)