xs
xsm
sm
md
lg

ไกรลาส สวรรค์บนโลกมนุษย์ ที่สัมผัสได้จริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระอาทิตย์สาดแสงสีทอง อีกมุมหนึ่งที่งดงามของเขาไกรลาส
เหมือนดังภาพฝัน...
ภูเขาน้อยใหญ่ทอดตัวเรียงรายเป็นทิวยาว ยอดแหลมสูงพุ่งเสียดฟ้า แต่งามตระหง่านน่าเกร
ขามอยู่ท่ามกลางทะเลหมอก กลืนไปกับหิมะที่ปกคลุมขาวโพลน ยามต้องแสงอาทิตย์จ้าจะสะท้อนสีเงินระยิบระยับ หากพระอาทิตย์เคลื่อนคล้อยหรือโผล่พ้นขอบฟ้า ผืนฟ้านั้นก็จะฉาบด้วยแสงสีม่วงหรือสีทองเรืองอร่าม หากได้ขึ้นไปบนนั้นคงมีความสุขเหมือนอยู่บนสวรรค์

เหมือนเป็นเรื่องฝัน ถ้าบอกว่าทิวเขายาวที่พูดถึงนี้คือ “เขาไกรลาส” ชื่อที่คุ้นหูคุ้นตาในงานวรรณกรรม ตำนาน เรื่องเล่า หรือความเชื่อทางศาสนา

แต่ที่เอ่ยมาทั้งหมดข้างต้น มีอยู่จริงบนพื้นโลกมนุษย์เรา

ไกรลาสของแท้ หน้าตาเป็นอย่างไร

ในทางภูมิศาสตร์ เขาไกรลาส (Mount Kailash, Mount Kailas) มีชื่อภาษาทิเบตว่า “คัง-ติเซ” (Gang Tise) แปลว่า ธารน้ำแข็ง เป็นยอดเขาหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งเป็นเทือกเขาเดียวกับที่ตั้งของยอดเขาศักกะมารตาหรือเอฟเวอเรสต์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเขตปกครองตนเองทิเบต ประเทศจีน ทางตอนเหนือของยอดเขานันทาเทวีราว 100 ไมล์ ถ้าจะเปิดแผนที่ดู ต้องหาชื่อที่เป็นทางการว่า กังติ-สู-ชาน (Kangti-ssu-shan)

เขาไกรลาสมีอายุถึงปัจจุบัน 50 ล้านปี สูง 22,020 ฟุต ถือเป็นลำดับที่ 32 ของโลก และสูงเป็นลำดับดับที่ 19 ในบรรดายอดเขาของเทือกเขาหิมาลัย

ปกติภูเขานี้จะปกคลุมด้วยหิมะและน้ำแข็งดูขาวโพลนตลอดปี รูปทรงภูเขามนราบ หิมะที่จับขาวโพลนเมื่อต้องแสงอาทิตย์ ทำให้ดูประดุจแผ่นเงินหรือหน้าผาสีขาว จึงได้ชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “ภูเขาสีเงิน” (“ไกรลาส” หรือ “ไกลาส” เป็นคำวิเศษณ์ในภาษาสันสกฤต แปลว่า “สีเงินยวง”)

เชิงเขาไกรลาส ยังเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำที่ยาวที่สุดสี่สายแห่งเอเชีย ได้แก่ แม่น้ำพรหมบุตร (Brahmaputra River) ซึ่งไหลไปทางภาคกลางของทิเบต แล้วลงไปที่แคว้นอัสสัมของอินเดีย แม่น้ำสินธุ (Indus or Sindhus) ในปากีสถาน แม่น้ำสัตเลจ (Sutlej หรือ Sutudri) ซึ่งไหลรวมกับแม่น้ำสินธุ แม่น้ำการ์ลี ซึ่งได้กลายเป็นแม่น้ำคงคา (Ganges) ในอินเดีย

นอกจากนี้ ยังมีทะเลสาบอีก 7 แห่งอยู่รายรอบ ซึ่งแห่งที่สำคัญที่จะต้องกล่าวถึง คือ “ทะเลสาบมานัสโรวาร” (Manasrowar) หรือ “ทะเลสาบมานัสสะ” เป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ กว้าง 15 ไมล์ อยู่ทางใต้ของเขาไกรลาส ชาวทิเบตเรียกทะเลสาบนี้ว่า Tso Rinpoche แปลว่า ทะเลสาบอันมีค่า เชื่อกันว่าน้ำในทะเลสาบแห่งนี้สามารถรักษาโรคได้

เขาไกรลาสไม่ใช่เป็นเพียงยอดเขาน้ำแข็งที่งดงามชวนดู แต่ยังมีเสน่ห์ชวนค้นหา เพราะความผูกพันเกี่ยวโยงกับความเชื่อทางศาสนาหลายศาสนา ทั้งฮินดู พุทธ เชน (Jain) และบอนหรือเพิน (Bon ศาสนาดั้งเดิมของทิเบต นับถือผี แต่ต่อมาได้กลายมาเป็นนิกายหนึ่งในพุทธศาสนา) ซึ่งล้วนเชื่อว่า เขาไกรลาสเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ และทะเลสาบมานัสโรวาร์ก็ได้ชื่อว่าเป็นทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์ด้วย

ความผูกพันผ่านความเชื่อทางศาสนา

ความยิ่งใหญ่มหัศจรรย์ของเขาไกรลาส สอดแทรกเข้ามาอยู่ในความคิดความเชื่อของผู้คนที่อาศัยผูกพันอยู่โดยรอบเป็นรัศมีกว้างไกลมาแต่โบราณกาล กลุ่มความเชื่อทางศาสนาหลักๆในบริเวณนี้ ได้แก่ ฮินดู พุทธ และเชน ซึ่งมีวิธีอธิบายธรรมชาติอันเหมือนสวรรค์บนพื้นโลกนี้ต่างกันไป

ฮินดู
ชาวฮินดูนับถือเทพเจ้า เทพแต่ละองค์ประทับอยู่ ณ ที่ต่างๆกัน เช่น ท้าวจตุโลกบาลประทับอยู่ ณ สวรรค์ชั้นแรกนามว่าจาตุมหาราชิกา พระพรหมในไตรภูมิกล่าวว่าอยู่ในพรหมโลก ซึ่งมี 16 ชั้น แต่เป็นที่ประทับของพรหมประเภทต่างๆ ที่มีแต่จิตหรือมีรูปด้วย ส่วนพระพรหมนั้นอยู่ต่างหาก ณ พรหมพฤนทา และพระนารายณ์หรือพระวิษณุ ทรงประทับหลับสนิทบนขนดของพระยาอนันตนาคราช ณ เกษียรสมุทร คือทะเลน้ำนม บ้างก็ว่าทรงไสยาสน์อยู่ ณ สะดือทะเล

แต่พระศิวะ (พระอิศวร) ประทับอยู่ ณ เขาไกรลาส บนโลกมนุษย์ของเรานี่เอง เป็นยอดสูงสุดในตอนใต้ของทะเลสาบมานัสโรวาร์ ที่กั้นแดนทางเหนือของภารตวรรธ ซึ่งชาวฮินดูนับถือกันมาก ถือกันว่าเป็นที่สถิตแห่งเทพและประชาบดีหรือฤาษีสำคัญๆ

พระศิวะทรงเป็นเทพสูงสุดของชาวฮินดู เป็นเทพผู้ทำลายล้างและเทพผู้สร้างสรรค์ พระองค์จะทรงประทานพรวิเศษให้แก่คนผู้หมั่นกระทำความดี และยึดมั่นในศีลธรรมเท่านั้น หากผู้ใดประพฤติเพื่ออุทิศถวายแก่พระองค์แล้วปรารถนาสิ่งวิเศษใด ๆ ก็ให้พรนั้น พระศิวะจะประทานสิ่งวิเศษให้ในไม่ช้า แต่เมื่อได้พรสมปรารถนาแล้ว วันหน้าหากกระทำผิดไปจากความดีงาม คนผู้นั้นจะเกิดวิบัติในชีวิต พระศิวะจะกลายเป็นเทพผู้ทำลายทันที

พวกอารยันนับถือเขาไกรลาสมาตั้งแต่สมัยโบราณ ว่าเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ เป็นเขาที่ปรากฏในปกรณัมของศาสนาฮินดู เชื่อว่าคือที่ประทับของพระศิวะมาตั้งแต่ครั้งสร้างโลก และทะเลสาบมานัสโรวาร์คือที่ประทับของพระนางอุมาเทวี (พระนางปารวตี) พระมเหสี

และเชื่อว่าเขาไกรลาสคือแห่งเดียวกันกับ “เขาพระสุเมรุ” และทะเลสาบมานัสโรวาร์คือ “สระอโนดาต” ในป่าหิมพานต์ ตามความเชื่อเรื่องจักรวาลของศาสนาพุทธ

ทั้งยังเชื่ออีกว่า เขาไกรลาสหรือเขาพระสุเมรุ เป็นภูเขาที่เป็นหลักของโลก ตั้งอยู่จุดศูนย์กลางของโลกหรือจักรวาล มีพระอาทิตย์ พระจันทร์ และดวงดาวต่างๆหมุนโดยรอบ

เขาพระสุเมรุตั้งอยู่ท่ามกลางนทีสีทันดร มีภูเขา 3 ลูกเรียกว่า ตรีกูฏ รองรับอยู่ 3 จุด เป็นสามเส้า หนุนให้ตั้งอยู่เหนือน้ำ เป็นที่อยู่ของสิ่งมีวิญญาณในภพและภูมิต่างๆ นับแต่สัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน ไปถึงนาค ครุฑ ยักษ์มาร คนธรรพ์ ฤาษี เทวดา มีนทีสีทันดรล้อมรอบออกไปจนสุดกำแพงจักรวาล

มีทิวเขาทั้งเจ็ดที่เรียกว่า สัตบริภัณฑ์ ล้อมเขาพระสุเมรุเป็นวงแหวนอยู่รอบนอก ห่างกันทีละชั้น เป็น 7 ชั้น ด้านทั้งสี่ของเขาพระสุเมรุนั้นเชื่อมต่อกันด้วยยอดเขา เป็นเทือกเขายาวติดกันเป็นพืด เรียกว่าเขาจักรวาล

เชื่อกันว่าทะเลสาบมานัสโรวาร์เป็นสถานที่ที่เป็นต้นกำเนิดของหงส์ และหงส์จะบินกลับมาที่นี่ทุกปี บ้างก็ว่าครั้งหนึ่งพระศิวะก็เคยเกิดเป็นหงส์บินอยู่เหนือทะเลสาบแห่งนี้

มีการกล่าวถึงทะเลสาบมานัสโรวาร์ ในมหากาพย์รามายณะ และมหากาพย์มหาภารตะยุทธว่า ใครได้ถูกต้องสัมผัสหรือนำเอามาล้างร่างกาย หรือได้อาบน้ำในทะเลสาบนี้ ผู้นั้นจะได้ไปสู่สรวงสวรรค์ และถ้าใครได้ดื่มน้ำในทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์นี้ ก็จะได้ขึ้นไปอยู่ในสวรรค์ใกล้ที่สถิตของพระศิวะ

ปัจจุบัน ทะเลสาบมานัสโรวาห์ ยังมีความสำคัญต่อชาวอินเดีย เพราะเป็นที่ลอยเถ้ากระดูกของมหาตะมะ คานธี ผู้นำทางศาสนาและการเมืองที่ยิ่งใหญ่ของอินเดียและของโลก

พุทธศาสนา
ในทางพุทธศาสนา มีการอธิบายโครงสร้างและลักษณะต่างๆของจักรวาลไว้บ้างใน “ไตรภูมิ” แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบรรยายถึงรูปลักษณ์ของจักรวาลไว้โดยตรง หากทรงเน้นเรื่องการดับทุกข์มากกว่า ทรงเห็นว่ามนุษย์รู้เรื่องเหล่านี้ไปก็ไม่เกิดประโยชน์ ไม่ช่วยให้ดับทุกข์ได้เลย

คติทางพุทธศาสนาเชื่อว่า เขาพระสุเมรุคือเขาไกรลาส เป็นภูเขาซึ่งตั้งอยู่กึ่งกลางจักรวาล จึงถือเป็นเสาหลักของโลก มียอดเป็นที่ตั้งแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งเป็นที่ประทับของพระอินทร์ มีปลาอานนท์หนุนอยู่รอบๆเขาพระสุเมรุ

ต่อมามีผู้พยายามรวบรวบเรื่องราวเกี่ยวกับโลก จักรวาล และภพภูมิต่างๆ จากที่ปรากฏในพระไตรปิฎกและแหล่งอื่นๆ มาประกอบเรียบเรียงเป็นคัมภีร์ทางพุทธศาสนาประเภทหนึ่ง เรียกว่า คัมภีร์โลกศาสตร์ เฉพาะที่เกิดขึ้นในไทยและเป็นที่รู้จักกันดีมีอยู่ 2 ฉบับ คือ “ไตรภูมิกถา” หรือ “ไตรภูมิพระร่วง” และ “ไตรภูมิโลกวินิจฉัย”

ไตรภูมิ แปลว่า 3 โลก ไตรภูมิจึงกล่าวถึงโลกทั้งสาม ได้แก่ สวรรค์ มนุษย์ นรก (3 โลก = 1 จักรวาล)

ตามตำนานกล่าวถึงป่าหิมพานต์ว่าอยู่โลกมนุษย์นี่เอง ตั้งอยู่ในชมพูทวีป บนเขาหิมพานต์หรือหิมาลายา (หิมาลัย) มีเนื้อที่ประมาณ 3,000 โยชน์ (1 โยชน์ = 16 กิโลเมตร) วัดโดยรอบได้ 9,000 โยชน์ ประดับด้วยยอด 84,000 ยอด เป็นที่อาศัยของสัตว์หลายชนิด รวมทั้งมนุษย์ด้วย

ป่าหิมพานต์มีสระอยู่ 7 สระ ที่มีชื่อเสียงคือ สระอโนดาต และเป็นสระเดียวที่ชาวฮินดูนับถือด้วย โดยเชื่อว่า คือทะเลสาบมานัสโรวาร์ของชาวฮินดูนั่นเอง

สระนี้มีภูเขาล้อมรอบ 5 ลูก ที่จัดเป็นยอดเขาหิมพานต์ ได้แก่ สุทัศนกูฏ ซึ่งล้วนไปด้วยทอง จิตรกูฏ ซึ่งล้วนไปด้วยแก้ว กาลกูฏ ล้วนแล้วด้วยนิลมณี ไกรลาส ล้วนแล้วด้วยเงิน ที่สถิตของพระอิศวร และคันธมาทกูฏ ล้วนแล้วด้วยแก้วมณีและพันธ์ไม้หอมต่างๆ บางชนิดดอกหอม บางชนิดเปลือกหอม บางชนิดยางหอม บางชนิดรากหอม เขานี้ ถ้าเดือนมืดจะแลเห็นรุ่งเรืองเหมือนถ่านเพลิงอันลุกโชน ถ้าเดือนหงายก็เรืองเหมือนไฟไหม้ป่า

ส่วนที่เชิงเขามีผาชะโงก เรียกว่า นันทมูล เป็นที่ซึ่งพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายโปรดประทับ มีถ้ำคูหา 3 แห่ง คือสุวรรณคูหา มณีคูหา และรัชฏคูหา

น้ำในสระอโนดาตใสสะอาดและเต็มเปี่ยมอยู่เสมอ น้ำไหลออกตามซอกภูเขาที่อยู่รอบ 4 ทิศ มีท่าน้ำอยู่ 4 ท่า เป็นที่อาบน้ำของเทวดา เทพธิดาท่าหนึ่ง พระปัจจเจกพุทธเจ้าท่าหนึ่ง ฤาษีวิทยาธรท่าหนึ่ง พระอรหันต์ท่าหนึ่ง

สำหรับชาวทิเบต ภูเขาไกรลาสคือสถานศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวพุทธสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือ ชาวพุทธนิกายบอน พวกเขาเชื่อว่า บริเวณใกล้ภูเขาลูกนี้คือที่ประสูติของพระพุทธเจ้าเติมปา เชนรับ มิโวเช และภูเขาลูกนี้คือภูเขาศักดิ์สิทธิ์ “ยุงตรุง กูเซก” ซึ่งมีลักษณะเป็นสวัสดิกะเก้าชั้น แทนยานเก้าในพระพุทธศาสนา เป็นที่ประทับของพระชางชุง เมรี เทพยีตัม (Yidam) องค์สำคัญ ส่วนทะเลสาบมานัสโรวาร์คือสถานสรงน้ำของพระพุทธเจ้าเติมปา เชนรับ

ส่วนชาวพุทธทิเบตนิกายอื่นๆ เชื่อว่า ไกรลาสคือที่ประทับของพระจักรสัมภระ (Chakrasambhara หรือ Buddha Demchok) ซึ่งเป็นเทพยีตัมองค์สำคัญ และเป็นพระพุทธเจ้าศากยมุนีปางพิโรธ และที่ประทับของพระฑากินี วัชรวราหิ คู่ปฏิบัติธรรมของพระองค์

ศาสนาเชน
เขาไกรลาสมีลักษณะคล้ายโดม ทางด้านใต้มีแนวที่เกิดจากการกัดเซาะของลมและพายุตัดลึกของช่องเขา ดูดั่งเครื่องหมายสวัสดิกะ (Swastika) อันเป็นสัญลักษณ์โบราณของอินเดียที่แสดงถึงอำนาจ
ในศาสนาเชน เครื่องหมายสวัสดิกะคือสัญลักษณ์ของพระอาทิตย์และรัศมีแห่งพระอาทิตย์ ศาสนาเชนเชื่อว่าเขาไกรลาสคืออัษฏาปทะ (Astapada) เป็นที่ตรัสรู้ของนักบวชคนแรก คือ ฤษภะ (Rishabha)

คำว่าเชนมาจากคำว่า “ชินะ” มีความหมายว่าผู้ชนะ หมายถึงปรมาจารย์ของศาสนาที่มีชัยชนะต่อกิเลสตัณหาและความต้องการของร่างกายได้ มีหลักธรรมที่สำคัญคือ อหิงสา คือ ไม่เบียดเบียน และไม่ใช้ความรุนแรง

อิทธิพลความเชื่อเขาไกรลาสในสถาปัตยกรรม

ด้านวรรณคดีไทย ได้รับเอาเขาพระสุเมรุเข้ามาตั้งแต่สุโขทัย ในไตรภูมิพระร่วง นอกจากนี้ ยังมีปรากฎในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ในมหาเวสสันดรชาดก สมุทรโฆษคำฉันท์ โองการแช่งน้ำ ขุนช้างขุนแผน

ด้านสถาปัตยกรรม เช่น คติการสร้างพระเมรุ เพื่อใช้เป็นที่พระราชทานเพลิงพระศพ ณ ท้องสนามหลวง เป็นวัฒนธรรมแบบเทวนิยมที่สังคมไทยรับมา เชื่อกันว่าวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพจะเสด็จคืนสู่สวรรค์ ณ ดินแดนเขาพระสุเมรุ จึงต้องจัดสถานที่สำหรับพระราชทานเพลิง ให้มีลักษณะอย่างเขาพระสุเมรุขึ้นใจกลางพระนคร สร้างตามลักษณะผังเขาพระสุเมรุที่เชื่อกันว่าเป็นศูนย์กลางจักรวาล ทิพยวิมานที่สถิตของเทพยดา รายล้อมด้วยเขาสัตตบริภัณฑ์ทั้ง 7 และมหานทีสีทันดร มีป่าหิมพานต์ ที่อยู่ของสัตว์นานาชนิด นี่คือสถานที่จำลองแดนสวรรค์ในโลกมนุษย์ที่ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย

นอกจากไทยแล้ว ประเทศเพื่อนบ้านเรายังได้รับอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมด้วย เช่น ปราสาทพระวิหาร ภาษาเขมรเรียกว่า “Phrear Vihear” เป็นปราสาทหินที่สร้างขึ้นเพื่อบูชาพระอิศวร เทพเจ้าสูงสุดตามแนวคิดของฮินดู ด้วยคติความเชื่อในการเป็นยอดเขาไกรลาส ศูนย์กลางจักรวาล

คติความเชื่อเรื่องไตรภูมิที่มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล ก็ปรากฏมายมายที่พม่าด้วยเช่นเดียวกัน เห็นได้จากการสร้างเมือง การสร้างปราสาทราชวัง ที่มีคูน้ำล้อมรอบ อันแสดงถึงความเป็นศูนย์กลางจักวาล ที่มีมหานทีสีทันดรล้อมรอบ เช่น พระราชวังมัณฑเลย์ที่สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2400-2402 โดยพระเจ้ามินดง เพื่อเป็นศูนย์กลางของจักรวาลตามคติพุทธศาสนา

ความเชื่อเรื่องศูนย์กลางจักรวาลของเขาพระสุเมรุ อันหมายถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็ปรากฏคติความเชื่อนี้ที่ลาวด้วย เช่น ในเรื่องของยอดจั่วหัวท้ายของอุโบสถ (สิม) ซึ่งภาคกลางก็คือช่อฟ้า สิมทำเป็นรูปปราสาท และที่สำคัญคือประดับอยู่สันหลังคา โดยมีความหมายถึงปราสาทของพระอินทร์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ สิมจึงเสมือนเป็นศูนย์กลางจักรวาลนั่นเอง

“ไกรลาสยาตรา” การแสวงบุญสู่เขาศักดิ์สิทธิ์

เขาไกรลาสถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของหลายศาสนาดังกล่าว การเดินขึ้นเขาไกรลาสถือเป็นกุศลยิ่งใหญ่ ว่าได้เข้าใกล้พระเจ้ามากที่สุดแล้ว ดังนั้น เราจึงเห็นนักแสวงบุญจากที่ต่างๆพยายามเดินทางไปให้ถึงเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้

ชาวอินเดียเดินทางไปแสวงบุญที่เขาไกรลาสตั้งแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์ แต่เนื่องจากเป็นเขตที่โจรผู้ร้ายชุกชุม อีกทั้งการเดินทางไปกลับก็กินเวลาอย่างน้อย 3 เดือน ดังนั้น คนที่มีศรัทธาแก่กล้าเท่านั้นจึงจะเดินทางไป

ในแต่ละปีมีชาวฮินดูจำนวนมากมาทำ “ไกรลาสยาตรา” จาริกแสวงบุญยังภูเขาและทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์ ด้วยการเดินสวดมนต์เวียนขวาไปตามเส้นทางแสวงบุญรอบๆทะเลสาบ และชำระล้างร่างกาย โดยเชื่อว่าเป็นการบูชาและได้อยู่ใกล้พระศิวะ

นักแสวงบุญบางคนก็ว่า โดยรูปทรงของเขาไกรลาส เป็นรูปทรงของ “วิศวะลึงค์” (Vishwalinga) หรือศิวลึงค์ของโลก ผู้ที่ได้เห็นเพียงครั้งเดียวจะประสบความสุข และแสงสว่างของภูเขาก็คือแสงสว่างของพระเป็นเจ้า

บางคนเชื่อว่าการเดินรอบเขาไกรลาสได้ครบ 108 รอบ จะได้ไปเสวยสุขบนสรวงสวรรค์ (คนทั่วไปเดิน 3 วัน จึงจะได้ 1 รอบ ถ้า 108 รอบ ก็เอา 3 คูณเข้าไป เรียกว่างานนี้อาศัยศรัทธาล้วนๆ)

นักแสวงบุญชาวทิเบตเชื่อว่า การเดินภาวนาที่เรียกว่า คอรา (Kora) รอบภูเขา ถือเป็นการเดินรอบองค์พระพุทธเจ้าผู้ให้พรแก่สถานที่ และเชื่อว่าประทับอยู่ที่นั่น และเป็นการทำความเคารพคุรุอาจารย์ผู้เดินทางมาปฏิบัติธรรม ณ ภูเขาแห่งนี้

ในขณะเดินนั้นมีข้อห้ามมากมาย เช่น ห้ามพูดปด หรือนอนลงบนพื้น แต่ทำความเคารพด้วยการกราบแบบอัษฎางคประดิษฐ์ได้ (กราบโดยให้อวัยวะทั้ง 8 จุดจรดแตะแผ่นดิน ได้แก่ หน้าผาก 1 ฝ่ามือ 2 หน้าอก 2 เข่า 2 และปลายเท้าสอง)

บริเวณริมทะเลสาบมานัสโรวาร์มีกองหินอันเปรียบเสมือนสถูป ที่ผู้เดินทางมาทำการบูชาสร้างขึ้นอยู่มากมาย พวกไกรลาสยาตราจะนำว่าวที่มีรูปวงล้อออกมาชักขึ้นไปบนท้องฟ้าเป็นการบูชา และมีการปักธงหลากสีแบบชาวทิเบตด้วย

เขาไกรลาสที่มองเพียงผาดอย่างห่างไกล อาจมีแค่ความสวยประทับใจอย่างภาพฝัน แต่ถ้าได้มาเห็นด้วยตา สัมผัสด้วยใจ อย่างรู้จริงถึงความคิดความเชื่อ และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่ใกล้ชิดกับสภาพธรรมชาติอันน่าตื่นตะลึงแล้ว ไม่ว่าใครก็ย่อมจะอดหลงรักตัวตนที่แท้จริงของภูเขาในความฝันแห่งนี้ไม่ได้

เดินทางไป เหนื่อยกาย แต่ใจสุข
เขาไกรลาสตั้งอยู่ในทิเบต ในเขตปกครองพิเศษของจีน เส้นทางการเดินทางไปจาริกแสวงบุญมีการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ทางการเมือง เส้นทางที่ชาวฮินดูเดินทางจากอินเดียมาจาริกแสวงบุญผ่านเทือกเขาหิมาลัยถูกปิด รัฐบาลอินเดียพยายามเจรจากับรัฐบาลจีนขอให้เปิดเส้นทางผ่านทางฝั่งทิเบต ปัจจุบันทางการจีนจึงลดความเข้มงวดในการอนุญาตผ่านทาง

1. บินไปเมืองกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล แล้วต่อรถข้ามแดนไปทิเบต
2. บินไปเดลลี ประเทศอินเดีย ต่อรถไฟไปชายแดนอินเดีย แล้วเดินข้ามแดนไปยังทิเบต มีข่าวว่าทางการจีนปิดเส้นทางนี้แล้ว ผู้สนใจควรตรวจสอบก่อน
3. บินไปจีน แล้วต่อรถไปทิเบต จากเมืองลาซา เขตปกครองพิเศษในจีน มีบริษัททัวร์จัดแพ็กเกจเดินทางไปเขาไกรลาส แต่ก็ต้องรอจำนวนคนให้ครบตามที่บริษัทตั้งไว้

การเตรียมตัว
แม้มีทิวทิศน์ที่งดงาม แต่ด้วยเส้นทางยาวไกลที่เต็มไปด้วยอุปสรรค การเดินทางยากลำบาก ต้องใช้เวลาหลายวัน กลางวันแดดแรงจ้า กลางคืนเย็นยะเยือก อากาศเบาบาง มีออกซิเจนน้อยนิด เรื่องน้ำดื่มและอาหารการกินก็มีจำกัด เรื่องโจรผู้ร้ายชุกชุม ดังนั้น ผู้เดินทางจะต้องเตรียมสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์เต็มที่ และหัวใจที่มุ่งมั่นเข้มแข็งและศรัทธาเต็มเปี่ยม พร้อมลุย

สิ่งที่ต้องเตรียมไป
- แท่นชาร์จแบตเตอรี่ในรถยนต์
- ปลั๊กไฟแบบแผง เพื่อจะได้ชาร์จอุปกรณ์ไฟฟ้าได้หลายอย่างในเวลาเดียวกัน เพราะที่ทิเบตใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีช่วงเวลาสำหรับชาร์จไฟเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น
- อุปกรณ์กันหนาว (ที่สุด) แบบจัดเต็ม เช่น หมวกหน้ากากกันหนาว ถุงนอนอุ่นๆ ที่นั่นหนาวขนาดน้ำค้างแข็งเกาะเต็นท์
- นอกจากยาสามัญและยาประจำตัวแล้ว ควรจะต้องเตรียมยาแก้แพ้ความสูงไปด้วย เพราะการแพ้ความสูง (High altitude sickness) เกิดจากเมื่อขึ้นบนที่สูงมาก ระดับความดันอากาศและออกซิเจนจะลดลง ร่างกายต้องปรับสมดุลกับระดับความสูง ทำให้อ่อนเพลีย หายใจได้สั้นๆ ต้องหายใจถี่ขึ้น เหนื่อยง่าย ปวดหัว คลื่นไส้ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ท้องเสีย ไอ

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 169 มกราคม 2558 โดย วิรีย์พร)

ทะเลสาบมานัสโรวาร์ หรือสระอโนดาต ตามความเชื่อของชาวฮินดู
หิมะและน้ำแข็งปกคลุมเขาไกรลาสตลอดปี

ธงมนตราของทิเบตโบกสะบัดพลิ้ว แลเห็นเขาไกรลาสอยู่ไม่ไกล
ธงมนตราของทิเบตโบกสะบัดพลิ้ว แลเห็นเขาไกรลาสอยู่ไม่ไกล
เขาไกรลาสทองคำในยามเช้า
“ไกรลาสยาตรา” ของผู้แสวงบุญชาวทิเบต
“ไกรลาสยาตรา” ของผู้แสวงบุญชาวทิเบต
“ไกรลาสยาตรา” ของผู้แสวงบุญชาวทิเบต
กองหินอันเปรียบเสมือนสถูป บริเวณทะเลสาบมานัสโรวาร์


กำลังโหลดความคิดเห็น