xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวสารผ่านโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ญี่ปุ่น : ชาวญี่ปุ่นนับพันร่วมขบวน ชักลากพระพุทธรูปองค์ใหญ่
ชาวญี่ปุ่นนับพันร่วมขบวน ชักลากพระพุทธรูปองค์ใหญ่

ญี่ปุ่น : เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2014 ขบวนอัญเชิญพระพุทธรูปองค์ใหญ่เคลื่อนไปอย่างช้าๆตามท้องถนนในเขตโชวะ เมืองนาโกยา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ที่หาดูได้ยาก ในบรรยากาศที่ศักดิ์สิทธิ์และน่าเลื่อมใสในสายตาผู้ที่ได้พบเห็น

พระพุทธรูปดังกล่าว คือ “หลวงพ่อโตไฮไซ” เป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง สูง 7.1 เมตร หนัก 7 ตัน หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ โดยใช้คนราว 1,000 คน ดึงเชือกชักลากองค์พระ เพื่ออัญเชิญไปประดิษฐานบนแท่นหน้าเจดีย์ 5 ชั้น ภายในบริเวณวัดยาโกโตยามะ โกโชจิ เป็นการชั่วคราว ซึ่งตลอดเส้นทาง 50 เมตรนั้น มีฝูงชนจำนวนมากพากันโปรยกลีบดอกไม้กระดาษหลากสี เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง

อนึ่ง หลวงพ่อโตไฮไซ สร้างขึ้นจากภาพวาดพระพุทธรูปที่แขวนอยู่ภายในวัดดังกล่าว ตั้งแต่เริ่มเปิดวัดในปี 1686 โดยใช้เวลาสร้างนานหนึ่งปีครึ่ง ซึ่งทางวัดได้เตรียมก่อสร้างอุโบสถ เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานอย่างถาวรให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี

(จาก The Asahi Shimbun)

วัดพุทธในออสเตรเลียริเริ่ม “การตักบาตร” อย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศ

ออสเตรเลีย : เช้าวันที่ 23 สิงหาคม 2014 ถือเป็นฤกษ์ดีที่ผู้คนในฟุตสแกรี่ อันเป็นย่านธุรกิจชานนครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย มีโอกาสได้เห็น “การตักบาตร” พระสงฆ์เป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการ ซึ่งการริเริ่มนี้ อาจสร้างกระแสให้ชาวพุทธในเมืองนี้นำไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

โดยมีพระติช ฟวก ตัน เจ้าอาวาสวัดกวงมิ่งห์ของเวียดนาม เป็นผู้ริเริ่ม พระติชกล่าวว่า “แม้ในอดีตจะเคยมีการตักบาตรตามพื้นที่ต่างๆหลายครั้ง แต่นี่ถือเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นอย่างเป็นทางการ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสภาเทศบาลและสมาคมพ่อค้าย่านฟุตสแกรี่อย่างเต็มที่

สาเหตุที่เราจัดขึ้น คือ เพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้ถึงประเพณีการตักบาตรอันดีงาม ที่ฆราวาสได้ช่วยสนับสนุนค้ำจุนพระสงฆ์ในการสืบทอดพระพุทธศาสนา และให้เห็นการตักบาตรที่แท้จริง เพื่อขจัดพวกมิจฉาชีพในคราบพระสงฆ์ ที่ออกบิณฑบาตไปทั่วเมือง สร้างความสับสนให้คนในชุมชน”

ทั้งนี้ มีเหล่าพระสงฆ์จากวัดเวียดนาม ไทย จีน และทิเบต เข้าร่วมในพิธี โดยพุทธศาสนิกชนจากชุมชนพุทธและชาวบ้านใกล้เคียงได้นำอาหารมาใส่บาตร บรรยากาศเต็มไปด้วยความสุขและสงบ มีการแจกใบปลิวให้ข้อมูลเรื่องการตักบาตรพระสงฆ์ ซึ่งกิจกรรมนี้ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวย่างในการเสริมสร้างความเข้าใจ และดำรงไว้ซึ่งความสุขสงบในสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม

(จาก Buddhistdoor)

เวียดนามเปิดผ้าคลุมพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เวียดนาม : เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2014 ได้มีพิธีเปิดผ้าคลุมพระศากยมุนีพุทธเจ้าปางแสดงธรรม ขนาดความสูง 14.8 เมตร ประทับนั่งบนบัลลังก์ดอกบัวสูง 2.8 เมตร หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์หนัก 150 ตัน มูลค่าราว 120 ล้านบาท ใช้เวลาสร้าง 2 ปี

พระพุทธรูปดังกล่าวประดิษฐานอยู่ภายในศูนย์พุทธศาสนา “ตรัค ลัม เทียน ตรอง” ในจังหวัดนัมดิ่งห์ ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ซึ่งได้มีพิธีเปิดศูนย์ฯในคราวเดียวกัน นับเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งทองสัมฤทธิ์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีความสำคัญทางจิตวิญญาณและวัฒนธรรมเป็นอย่างยิ่ง

(จาก VNA/VNS)

เส้นทางรถไฟทิเบตสายใหม่ ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรม “ธูปทิเบต”

จีน : รัฐบาลจีนเตรียมเปิดเดินรถไฟสายลาซา-ชิกัตเซ่ ในเขตปกครองตนเองทิเบต ซึ่งสร้างเสร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม 2014 เพื่อปูทางให้มีการเดินทางแลกเปลี่ยนระหว่างทิเบตและพื้นที่อื่นๆในประเทศมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลดีต่อธุรกิจอย่างหนึ่งในอำเภอนิมู ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานีบนเส้นทาง ที่จะได้รับประโยชน์จากการเดินรถสายนี้

อำเภอนิมูมีชื่อเสียงด้านการทำธูปทิเบตมากว่า 1,300 ปีแล้ว แต่ขบวนการผลิตในปัจจุบันยังคงเหมือนเดิมเป็นส่วนใหญ่ เริ่มจากการนำไม้ต้นสนมาตัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยมขนาดเท่าอิฐมอญ และนำเข้าเครื่องบดให้เป็นผง เทลงในภาชนะที่ทำจากเขาวัว และเติมส่วนผสมที่เก็บเป็นความลับลงไป จากนั้นรีดออกมาเป็นเส้นเพื่อนำไปตากแห้ง ก็จะได้ธูปที่ใช้กันแพร่หลายในวัดพุทธทั่วไป

กยัตโซ หนุ่มใหญ่ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตธูปทิเบตของอำเภอนิมูมานาน 30 ปี บอกว่า “ผมได้ดัดแปลงตำรับโบราณเล็กน้อย โดยใส่ส่วนผสมที่เป็นสมุนไพร 28 ชนิดลงไป ซึ่งผ่านการลองผิดลองถูก จนได้สูตรปัจจุบันที่ลูกค้านิยมชมชอบ ผมจัดส่งไปให้ลูกค้าที่มณฑลกวางตุ้งครั้งละ 500 ห่อ แต่ละห่อบรรจุธูป 30 ดอก”

ธูปทิเบตมักขายดีในช่วงฤดูร้อนของทุกปี ยิ่งสถานีรถไฟอยู่ห่างจากบ้านกยัตโซเพียง 500 เมตร ยิ่งสะดวกที่จะส่งสินค้าไปยังพื้นที่อื่นๆของจีน ปัจจุบัน เขาได้เปิดบริษัทของตัวเองอย่างเป็นทางการ และมีแผนที่จะเดินทางไปยังนครปักกิ่ง เพื่อโปรโมทสินค้าอันมีเอกลักษณ์ ผ่านเส้นทางรถไฟสายใหม่นี้

(จาก Xinhuanet)

วัดเส้าหลินเตรียมพัฒนาเกมกังฟู เพื่อขยายฐานสู่วัยโจ๋

จีน : บริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์วัดเส้าหลินประกาศว่า วัดเส้าหลินเตรียมพัฒนาวิดีโอเกมส์กังฟูรูปแบบใหม่ เพื่อขยายฐานในหมู่เยาวชน โดยบริษัทดังกล่าวซึ่งเป็นของวัดเส้าหลิน ได้ลงนามในข้อตกลงร่วมกันกับไชน่าโมบายเกมส์แอนด์เอนเทอร์เทนเมนท์กรุ๊ป (CMGE) ยินยอมให้ฝ่ายหลังนำเครื่องหมายการค้าวัดเส้าหลิน ไปใช้พัฒนาเกมส์สำหรับโทรศัพท์มือถือและโทรทัศน์ เพื่อดึงดูดเยาวชนให้หันมาสนใจวัฒนธรรมเซนของวัดเส้าหลิน และศิลปะกังฟูโบราณมากยิ่งขึ้น

อนึ่ง วัดเส้าหลินได้ชื่อว่าเป็นแหล่งกำเนิดกังฟู ตั้งอยู่ในมณฑลเหอหนาน ประเทศจีน เป็นวัดเก่าแก่อายุมากกว่า 1,500 ปี ซึ่งพระชิ ยงซิน เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันเชื่อว่า วัดเส้าหลินจำเป็นต้องก้าวให้ทันเทคโนโลยี เพื่อใช้เผยแพร่ศาสนาและดึงดูดคนใหม่ๆเข้าวัด

วัดเส้าหลินเป็นวัดแห่งแรกของจีน ที่นำระบบดิจิตอลมาใช้ทำธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทในเครือ 9 แห่ง ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการสอนศิลปะกังฟู ศิลปะการคัดลายมือ ยาแผนโบราณ อาหาร และภาพยนตร์ ในปี 2001 ทางวัดได้เปิดเว็บไซต์เผยแพร่ความลับของศิลปะกังฟูแห่งวัดเส้าหลินเป็นครั้งแรก และในปี 2008 ได้เริ่มขายสินค้าที่เกี่ยวกับวัดเส้าหลิน เช่น เสื้อยืด นาฬิกา ตำรายา บนเว็บไซต์ Taobao

(จาก Xinhua)

ฟื้นแล้ว “นาลันทา” ม.สงฆ์แห่งแรกของโลก หลังล่มสลายกว่า 800 ปี

อินเดีย : มหาวิทยาลัยนาลันทา เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดของโลก สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 5 สมัยจักรวรรดิคุปตะ ของอินเดียโบราณ นอกจากจะเป็นศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่มีชื่อเสียงในอดีตแล้ว ยังเปิดสอนหลากหลายสาขา อาทิ พุทธปรัชญา ไวยากรณ์ วรรณคดี แพทยศาสตร์ ตรรกศาสตร์ และนิติศาสตร์ อีกด้วย

ในยุคที่รุ่งเรืองที่สุด มีนักศึกษาราว 10,000 คน ส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์ที่เดินทางมาจากจีน ทิเบต ญี่ปุ่น เกาหลี และประเทศต่างๆในเอเชีย รวมถึงภิกษุจีนชื่อดัง ได้แก่ หลวงจีนฟาเหียน และพระเสวียนจั้ง (พระถังซัมจั๋ง)

อย่างไรก็ดี ในปี 1193 กองทัพมุสลิมเติร์กเข้ามารุกรานและครอบครองชมพูทวีป ได้เผาทำลายวัดและปูชนียสถานในพุทธศาสนาเกือบหมดสิ้น รวมทั้งมหาวิทยาลัยนาลันทา ซึ่งล่มสลายนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ต่อมาในปี 2006 อินเดีย จีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และไทย ประกาศแผนการฟื้นฟูมหาวิทยาลัยนาลันทาขึ้นใหม่ โดยคงแนวคิดดั้งเดิมที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ระดับนานาชาติ มหาวิทยาลัยใหม่นี้จะสร้างบนเนื้อที่ราว 1,130 ไร่ ในเมืองราชคฤห์ รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ห่างจากมหาวิทยาลัยเดิมราว 15 กม. โดยได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลอินเดีย และ 18 ประเทศในที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2020 และจะเปิดสอนทั้งสิ้น 7 สาขา ที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ปรัชญา ศาสนา และสังคมศาสตร์

แต่ขณะนี้ได้เปิดสอนอย่างเป็นทางการแล้ว 2 สาขา เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2014 โดยใช้ศูนย์ประชุมท้องถิ่นเป็นห้องเรียนชั่วคราว เบื้องต้นมีนักศึกษา 15 คน ผ่านการคัดเลือกจากทั้งหมดกว่า 1,000 คน ใน 40 ประเทศ ให้เข้าเรียนในหลักสูตรปริญญาโทสาขาประวัติศาสตร์ และสาขานิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม

(จาก BBC News)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 166 ตุลาคม 2557 โดย เภตรา)
ออสเตรเลีย : วัดพุทธในออสเตรเลียริเริ่ม “การตักบาตร” อย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศ
เวียดนาม : เปิดผ้าคลุมพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เวียดนาม : เปิดผ้าคลุมพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จีน : เส้นทางรถไฟทิเบตสายใหม่ ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรม “ธูปทิเบต”
จีน : เส้นทางรถไฟทิเบตสายใหม่ ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรม “ธูปทิเบต”
อินเดีย : ฟื้นแล้ว “นาลันทา” ม.สงฆ์แห่งแรกของโลก หลังล่มสลายกว่า 800 ปี
อินเดีย : ฟื้นแล้ว “นาลันทา” ม.สงฆ์แห่งแรกของโลก หลังล่มสลายกว่า 800 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น