ผมตั้งใจจะไปอินเดียให้ได้ปีละครั้งครับ ปี 57 นี้ผมจะเดินทาง “ท่องเที่ยว ท่องธรรม” ไปยัง 4 สังเวชนียสถาน ประเทศอินเดีย ในช่วงต้นเดือนธันวาคม พร้อมกับผู้ชมรายการธรรมาภิวัตน์จำนวนหนึ่ง (หากใครสนใจจะร่วมเดินทางสามารถสอบถามข้อมูลและสำรองที่นั่งได้ที่โครงการธรรมาภิวัตน์ สถานีโทรทัศน์นิวส์วัน (NEWS1) หรือ ASTV เดิมได้เลยครับ)
หากถามว่า “จำเป็นหรือไม่” ที่พุทธศาสนิกชนจะต้องไปกราบพระพุทธเจ้าที่อินเดีย ตอบเลยครับว่า “ไม่จำเป็น” แต่หากมีโอกาส ผู้ถึงพร้อมด้วยปัจจัยก็ไม่ควรละทิ้งการเดินทางไปยังชมพูทวีป พร้อมด้วยศรัทธาอันแรงกล้า เพื่อไปสักการบูชาสังเวชนียสถานทุกแห่งขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และระลึกถึงพระพุทธคุณ เนื่องเพราะพระพุทธเจ้าเป็นผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ยากที่จักพรรณนาให้สิ้นสุดได้โดยง่าย พระคุณอันยิ่งใหญ่นั้นมี 3 ประการหลัก คือ
1. พระปัญญาธิคุณ
2. พระบริสุทธิคุณ
3. พระมหากรุณาธิคุณ
เราในฐานะพุทธมามกะจักต้องน้อมอภิวาทบูชา แด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้ดี ตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เอง
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์หนังสือชื่อ “ตำนานพระพุทธเจดีย์” ได้ทรงอธิบายความหมายของคำว่า “เจดีย์” หรือ เจติยะ หมายถึง “สิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งการเคารพบูชา” มีข้อความในคัมภีร์ กล่าวถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นเครื่องระลึกถึงพระพุทธเจ้าซึ่งปรินิพพานไปแล้ว 4 อย่าง คือ
1. ธาตุเจดีย์ คือ เจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
2. บริโภคเจดีย์ คือ สังเวชนียสถาน 4 แห่งที่พระพุทธองค์ตรัสให้มหาชนไปปลงธรรมสังเวชเมื่อระลึกถึงพระองค์ คือ สถานที่ประสูติ สถานที่ตรัสรู้ สถานที่ประทานปฐมเทศนา และสถานที่ปรินิพพาน
3. ธรรมเจดีย์ คือ จารึกข้อพระธรรมไว้บูชา ในชั้นเดิมมักเลือกเอาข้อพระธรรมที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เช่น คาถาแสดงพระอริยสัจ 4 มาจารึกไว้บูชา
4. อุเทสิกเจดีย์ คือ พุทธเจดีย์อย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับสามอย่างข้างต้น เช่น พระพุทธรูป ธรรมจักร รอยพระพุทธบาท พระแท่นวัชรอาสน์ หรือสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า เป็นต้น
ดังนั้น การเดินทางไปยังสังเวชนียสถาน 4 ของพุทธศาสนิกชนก็เพื่อระลึกถึงองค์พระศาสดานั่นเองครับ
สถูปเจดีย์นั้นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประเภทหนึ่งในหลายประเภท ที่คนอินเดียโบราณนิยมสร้าง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อยู่ในเชื้อชาติเดียวกันกับพระพุทธเจ้า (ศากยะ) ซึ่งพบว่า เมื่อญาติเสียชีวิตจะนิยมเผาศพและเก็บกระดูกไว้บูชา โดยสร้างสถานที่เก็บเอาไว้ (หากมีขนาดใหญ่โตก็เรียกว่าสถูป) เพื่อให้ผู้คนได้สักการบูชาระลึกถึงผู้ตาย ซึ่งเป็นรูปแบบของสิ่งก่อสร้างที่สัมพันธ์กับการฝังศพ โดยเฉพาะการฝังอัฐิธาตุซึ่งได้มีการใช้มาแล้วก่อนสมัยพุทธกาล
สถูปกับเจดีย์มีความหมายไม่เหมือนกันในที่นี้ กล่าวคือ
สถูปจะมีความหมายที่ใช้เฉพาะสิ่งก่อสร้างในทางสถาปัตยกรรม
ส่วนเจดีย์จะกินความหมายกว้างกว่า คือหมายถึงสิ่งก่อสร้างในทางสถาปัตยกรรม และมีความหมายรวมถึงวัตถุสิ่งของต่างๆ ที่ควรแก่การสักการบูชา เช่น พระพุทธรูป วิหาร พระไตรปิฎก ฯลฯ
แต่เจดีย์ที่มีความหมายตรงกับสถูปก็คือ เจดีย์ประเภทธาตุเจดีย์ ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างในทางสถาปัตยกรรมที่นำพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ภายใน ดังนั้นคำว่า “สถูป” กับเจดีย์ประเภท “ธาตุเจดีย์” จึงใช้เรียกแทนกันได้ในบางนัยยะครับ
นอกจากนี้ในคัมภีร์อรรถกถา พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุและพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค กล่าวถึงประเพณีการสร้างสถูปเจดีย์ว่า นิยมสร้างกันมาตั้งแต่สมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ เช่น เมื่อคราวที่พระสารีบุตร ผู้เป็นอัครสาวกเบื้องขวานิพพาน พระพุทธองค์โปรดให้สร้างเจดีย์ไว้ เพื่อให้พุทธบริษัทได้ทำสักการะ ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว การสร้างเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุจึงได้เป็นที่แพร่หลาย ถึงขั้นมีการแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุระหว่างกษัตริย์แคว้นต่างๆ เพื่อนำไปสร้างเจดีย์ไว้ในบ้านเมืองของตน เหตุที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะก่อนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน ได้ตรัสสั่งกับพระอานนท์ เกี่ยวกับบุคคลที่ควรสร้างเจดีย์ถวายเมื่อล่วงลับไปแล้ว คือ
1. พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
2. พระปัจเจกพุทธเจ้า
3. พระสาวกของพระตถาคต
4. พระเจ้าจักรพรรดิ และประโยชน์สุขที่จะได้รับจากการสักการบูชา
ดังนั้น การสร้างเจดีย์จึงเป็นพุทธประสงค์ของพระพุทธเจ้าโดยตรง และยังเป็นประเพณีนิยมที่สร้างขึ้น เพื่อวัตถุประสงค์ในการสักการบูชาด้วยครับ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังได้ทรงวินิจฉัยเอาไว้ด้วยว่า ประเพณีการสร้างสถูปเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุนี้ มีมาก่อนสมัยพุทธกาล และไม่เฉพาะสำหรับบรรจุอัฐิธาตุของพระเจ้าจักรพรรดิเท่านั้น สถูปเจดีย์ที่สร้างบรรจุอัฐิธาตุบุคคลอื่นๆ ก็มี เช่น พวกเดียรถีย์นิครนถ์ ก็สร้างสถูปเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของศาสดาจารย์เป็นทำนองเดียวกัน
นับตั้งแต่พระพุทธองค์ทรงอุบัติและสั่งสอนเวไนยสัตว์สืบมาตราบจนนิพพาน บรรดาพุทธสาวกต่างร่วมใจกันเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างใหญ่ไพศาลกว่าเดิม
ในอินเดียมีกษัตริย์หลายพระองค์ที่ทรงสนพระทัยนับถือและทำนุบำรุงพุทธศาสนาเป็นอย่างดี โดยเฉพาะยุคของพระเจ้าอโศกมหาราช แห่งราชวงศ์เมารยะ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 3 ซึ่งมีบันทึกเอาไว้ในการเดินทางของหลวงจีนเหี้ยนจังหรือพระถังซำจั๋งและหลวงจีนฟาเหียนในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11 ทว่า พบเห็นแต่ซากร่องรอยอารยะแห่งพุทธศาสนา
การสร้างสถูปเป็นพุทธเจดีย์นั้น เป็นที่แพร่หลายในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อพระองค์ได้เสด็จจาริกแสวงบุญไปในที่ต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าหรือพุทธสาวกที่สำคัญ เช่น สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน พร้อมกับทรงสร้างสถูปและเสาอโศกประดิษฐานไว้ยังสถานที่นั้นๆ เพื่อเป็นที่สักการบูชาของคนในท้องถิ่น และเป็นเครื่องชี้ให้คนรุ่นหลังได้รู้ว่า สถานที่แห่งนี้มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนี้ พระองค์ยังได้แจกพระบรมธาตุไปประดิษฐานไว้ในประเทศต่างๆ และประสงค์จะให้สร้างสถูป (หรือเจดีย์) บรรจุอัฐิธาตุของพระสังฆเถระ เป็นบริวารของมหาสถูปทั่วชมพูทวีป เป็นจำนวน 84,000 องค์ด้วย
การที่พระเจ้าอโศกทรงรับสั่งให้สร้างเจดีย์ และรวบรวมพระบรมสารีริกธาตุแบ่งไปประดิษฐานไว้ในเจดีย์นั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงวินิจฉัยไว้ว่า
ก่อนนั้นมาพุทธเจดีย์มีแต่บริโภคเจดีย์ ที่พระพุทธเจ้าได้ประทานอนุญาตไว้ 4 แห่ง กับพระธาตุเจดีย์ที่สร้างไว้ ณ เมืองต่างๆ ซึ่งได้พระบรมธาตุไปเมื่อแบ่งแจกครั้งแรกอีก 8 แห่ง ครั้นพระเจ้าอโศกทรงบำรุงพระพุทธศาสนารุ่งเรืองนับถือกันแพร่หลายไปทั่ว ตลอดจนถึงต่างประเทศ ผู้อยู่ไกลจะไปกระทำสักการบูชาถึงพุทธเจดีย์ก็ไม่สะดวก
พระองค์ยังทรงเห็นว่า เจดีย์นั้นสร้างไว้ที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องสร้างไว้ในวัด ฆราวาสผู้ประกอบอาชีพบางทีไม่ประสงค์จะเข้าวัด เพราะต้องเสียเวลามาก หรือบางกรณีอาจเกรงใจพระภิกษุที่อยู่ในวัด เกรงว่าจะเป็นการรบกวน แต่ก็ประสงค์บุญ เมื่อมีการสร้างเจดีย์ไว้ในสถานที่ต่างๆ ซึ่งไม่ได้เป็นบริเวณของวัดใดวัดหนึ่ง ชาวบ้านก็ไปกราบไหว้บูชากันตามสะดวก โดยไม่ต้องเกรงว่าจะเป็นการรบกวนพระภิกษุ พระเจ้าอโศกจึงให้รวบรวมพระธาตุมาแบ่งใหม่เป็นส่วนละน้อย แล้วประทานไปให้สร้างเจดีย์ประดิษฐานไว้ตามบรรดาเมืองที่มีผู้คนเลื่อมใสพระพุทธศาสนา ให้เป็นที่สักการบูชาประจำอยู่ในเมืองนั้นๆ
พระเจ้าอโศกมหาราชทรงมีส่วนในการสร้างเจดีย์สำคัญทางพระพุทธศาสนาในอินเดีย ซึ่งประดิษฐานเป็นที่สักการบูชามาจนถึงปัจจุบัน อาทิ
• “เจดีย์ศรีมหาโพธิ” ที่พุทธคยา สถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ สันนิษฐานว่า เริ่มก่อสร้างในสมัยพระเจ้าอโศก เจดีย์องค์นี้สร้างต่อเติมแบบที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันมีความสูง 180 ฟุต ลดต่ำลงไปจากพื้น อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของต้นพระศรีมหาโพธิ์หน่อที่ 4
ราวพุทธศตวรรษที่ 7 พระมหาเจดีย์ได้เริ่มมีการบูรณะซ่อมแซมและดำเนินการมาแล้วหลายครั้ง พระถังซำจั๋งได้บันทึกเอาไว้ว่า “ตัวอาคารล้อมรอบด้วยทองแดงชุบ ประตูและหน้าต่างตกแต่งด้วยลวดลายอันวิจิตร ประดับด้วยทอง เงิน มุก และรัตนะต่างๆ ด้านขวาซ้ายประตูนอกเป็นซอกๆ คล้ายห้อง ด้านซ้ายมีรูปพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ด้านขวาเป็นพระเมตไตรยโพธิสัตว์ รูปเหล่านี้ทำด้วยเงินขาวสูง 60 ฟุต“
ภายในพระมหาเจดีย์ประดิษฐาน “พระพุทธเมตตา” พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะปาละ ซึ่งมีพุทธลักษณะที่งดงาม รอบบริเวณมีเสาหินที่สร้างขึ้นสมัยพระเจ้าอโศก มีรั้วล้อมรอบไว้อย่างแข็งแรง ด้านตะวันตกของพระมหาเจดีย์เป็นโพธิบัลลังก์ ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธทั่วโลก ผู้มีศรัทธาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เดินทางมาสักการะกันอย่างมิขาดสาย
• “ธัมเมกขสถูป” ที่สารนาถ สถานที่แสดงปฐมธรรมเทศนาธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร โปรดพระปัญจวัคคีย์ สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 12 แต่นักวิชาการบางท่านมีความเห็นว่า เจดีย์สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกหรือประมาณพุทธศตวรรษที่ 2-3 แต่ในข้อเท็จจริง บนพื้นฐานของรูปทรง มิติ การประดับตกแต่ง จึงเป็นไปได้ว่าเจดีย์ถูกสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 11
องค์ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน สันนิษฐานว่าแต่งเติมเป็นศิลปะแบบคุปตะ พระสถูป (เจดีย์) เป็นรูปทรงบาตรคว่ำ ก่อสร้างด้วยหินทราย ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 28 เมตรครึ่ง สูง 33 เมตร มีช่อง 8 ช่องรอบองค์สถูป ซึ่งเป็นสัญลักษณ์บ่งถึงมรรคมีองค์ 8 ซึ่งเป็นความหมายของ “ธัมเมกข” คือ ธัมมะ (ธรรมะ) + อิกขะ (เห็น) จึงหมายถึง สถานที่แสดงธรรมให้เห็นถึงความหลุดพ้น เป็น 1 ใน 4 สังเวชนียสถาน ที่พระพุทธองค์ตรัสเชิญชวนให้พุทธบริษัทได้เข้าใกล้ทั้งกายและใจ เพื่อให้เกิดความสังเวช อันเป็นเครื่องนำพาไปสู่ความสุขที่แท้จริงของชีวิตนั่นเองครับ
• “มหาสถูป” ที่สาญจี ปัจจุบันอยู่ในรัฐมัธยมประเทศของอินเดีย ที่นี่เป็นดินแดนแห่งสถูป (เจดีย์) วัด วิหาร และเสาศิลาจารึก สันนิษฐานว่าเริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 250 แต่เดิมเป็นเจดีย์ที่สร้างด้วยดิน และได้มีการบูรณะเพิ่มเติมในสมัยราชวงศ์ศุงคะ หรือประมาณพุทธศตวรรษที่ 3-4 ถูกค้นพบโดยนักโบราณคดีชาวอังกฤษ ซึ่งได้พบสถูปองค์ ที่ 1, 2, 3 พร้อมกุฏีที่พักสงฆ์เป็นจำนวนมาก แต่สถูปได้ถูกทำลายเป็นส่วนมาก โดยพวกนักล่าสมบัติ
พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างมหาสถูปสาญจีขึ้น ในสมัยที่เป็นอุปราชปกครองกรุงอุชเชนี ด้วยพระประสงค์สำคัญ 4 อย่างคือ
1. เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
2. เพื่อบรรจุพระธาตุของพระอัครสาวก พระสารีบุตร และพระมหาโมคคัลลานะ รวมทั้งพระธาตุของพระสมณทูตอีก 10 รูป ที่ทรงส่งไปประกาศพระศาสนาภายหลังการสังคายนาครั้งที่ 3
3. เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระโอรส “มหินทระเถระ” และพระธิดา “พระสังฆมิตตาเถรี”
4. เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระมเหสีพระนามว่า พระนางเวทิสา ผู้มีถิ่นกำเนิดที่สาญจี แห่งนี้
ปัจจุบันสถูปเจดีย์สาญจีอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ มีลักษณะเป็นรูปกลม “ทรงโอคว่ำ“ ถือเป็นรูปแบบที่เก่าแก่ที่สุด มีความสูง 16 เมตร กว้าง 37 เมตร มีประตูทางเข้าทั้งสี่ทิศ มียอดฉัตรสามชั้น พร้อมกำแพงหินสลักภาพพุทธประวัติที่งดงามยิ่งนัก รวมถึงภาพพระพุทธเจ้าในอดีต และภาพสัตว์ต่างๆ ที่สื่อความสำคัญทางพระพุทธศาสนา
สถูปเจดีย์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือหมายเลข 1 เชื่อว่า บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า และจากการสำรวจขุดค้นเมื่อปี พ.ศ. 2394 ได้พบผอบบรรจุพระธาตุอยู่ในสถูปเจดีย์หมายเลข 3 มีอัฐิธาตุของพระอัครสาวกทั้ง 2 คือพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ
นอกจากนี้ ในสมัยพระเจ้าอโศก ภายหลังการเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระเถระยังดินแดนสุวรรณภูมิ ส่งผลให้สถูปเจดีย์จากอินเดีย ได้ส่งอิทธิพลต่อการสร้างเจดีย์ในประเทศไทยในกาลต่อมาอีกหลายแห่ง อาทิ พระปฐมเจดีย์ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร, พระประโทณเจดีย์ วัดพระประโทณเจดีย์วรวิหาร, เนินวัดพระงาม ตั้งอยู่ในวัดพระงาม จังหวัดนครปฐม เป็นต้น
การบูชาเจดีย์มีอานิสงส์สูงสุด ดังข้อความในคัมภีร์ถูปวงศ์ตอนหนึ่งว่า
“เป็นอันว่าพระเจ้าอโศกธรรมราชา ได้โปรดให้สร้างพระเจดีย์ขึ้น 8 หมื่น 4 พันในพื้นที่ชมพูทวีปด้วยอาการอย่างนี้ พระสถูปทั้งปวงนั้นเป็นประดุจดวงประทีปดวงเดียวของชาวโลก เป็นปูชนียสถานที่จะนำสรรพสัตว์ไปสู่สวรรค์นิพพาน ควรที่สาธุชนจะละการงานอื่นๆ มากราบไหว้บูชาทุกเมื่อไป”
ดังนั้นหากเรายังไม่ถึงพร้อมในการสร้างเจดีย์ สิ่งที่พุทธบริษัทพึงกระทำตามคำสอนในมหาปรินิพพานสูตรของพระพุทธองค์ คือการเข้าใกล้พระองค์ทั้งกายและใจ เหมือนเมื่อครั้งพระองค์ทรงดำรงพระชนม์อยู่ โดยอาศัยสังเวชนียสถาน (บริโภคเจดีย์ 4) เป็นเครื่องในการเข้าถึง เพื่อให้เกิดความสังเวชแก่ผู้มีศรัทธาต่อพระพุทธองค์ และพึงนมัสการด้วยความศรัทธาและเคารพ ดังคำสอนที่ว่า
“ดูก่อนอานนท์ ชนเหล่าใด เที่ยวจาริกไปยังเจดีย์สถานเหล่านั้นแล้วมีจิตเลื่อมใส ชนเหล่านั้นทั้งหมด เบื้องหน้าแต่ตายมลายไป จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์“
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 166 ตุลาคม 2557 โดย กานต์ จอมอินตา ผู้อำนวยการโครงการธรรมาภิวัตน์ สถานีโทรทัศน์ ASTV)