xs
xsm
sm
md
lg

มองเป็นเห็นธรรม : ความสำเร็จที่แท้จริง อยู่ตรงนี้เอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วันนี้โลกรู้จัก แจ็ค หม่า เจ้าของอาลีบาบา กรุ๊ป บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในจีน มีคนวิเคราะห์ถึงแนวทางสู่ความสำเร็จของเขาว่า ใฝ่ดีรักการเรียนรู้ และไม่ท้อต่ออุปสรรค

ตามประวัติของแจ็ค หม่า ในสมัยเด็กนั้น เขาไม่เก่งคณิตศาสตร์ แต่กลับสนใจเรียนภาษาอังกฤษเป็นอย่างมาก ถึงขนาดขี่จักรยานนานกว่า ๔๐ นาที เดินทางไปเตร่อยู่แถวๆโรงแรม เพื่อหานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นคู่สนทนา หรือเสนอตัวเป็นไกด์ให้แก่คู่สนทนาเหล่านั้น โดยถือเป็นการฝึกซ้อมภาษาอังกฤษ

หลังจากนั้น เขาก็ได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัย และมุ่งมั่นจะเป็นครูสอนภาษา แม้จะต้องใช้ความพยายามในการสอบถึง ๓ ครั้ง แต่ท้ายที่สุดเขาก็ทำได้ และได้เป็นประธานนักศึกษาด้วย

หลังจากเรียนจบในพ.ศ. ๒๕๓๑ แจ็ค หม่า ก็เริ่มหางานทำ แต่กลับถูกปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ในที่สุด แจ็ค หม่า ก็ได้งานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ กับเงินเดือนอันน้อยนิด ซึ่งเขาทำงานนี้อยู่ถึง ๕ ปี โอกาสของแจ๊ค หม่า เริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๘ พร้อมกับการฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ จนมาประสบผลสำเร็จในปัจจุบันนี้ ด้วยปรัชญาการบริหารที่เขากล่าวไว้ว่า “คุณไม่สามารถที่จะทำให้คนทุกคนนั้นคิดเหมือนกันได้หรอก แต่คุณสามารถที่จะทำให้ทุกคนก้าวไปทางเดียวกันได้ ด้วยเป้าหมายเดียวกัน”

ความสำเร็จของแจ็ค หม่า นำให้คิดถึงความตอนหนึ่งในสุนทรพจน์ของ บิล เกตส์ ที่กล่าวในวันรับปริญญา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด วันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐ ว่า “..แต่ความก้าวหน้าอันยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติไม่ได้อยู่ที่การค้นพบใหม่ๆ หากอยู่ที่การใช้การค้นพบเหล่านั้นในทางที่ช่วยลดทอนความไม่เท่าเทียม ไม่ว่าจะด้วยกระบวนการประชาธิปไตย การศึกษาภาครัฐที่เข้มแข็ง ระบบประกันสุขภาพที่ได้คุณภาพ หรือด้วยการมอบโอกาสทางเศรษฐกิจ การลดระดับความไม่เท่าเทียมในโลก คือความสำเร็จอันสูงสุดของมนุษย์..”

นี่คงเป็นเหตุให้คนที่ประสบความสำเร็จในเป้าหมายชีวิต ได้มาทำงานเพื่อช่วยเหลือสังคมตามความสนใจของตนเอง ซึ่งทำให้เกิดระบบ CSR (Corporate Social Responsibility ความรับผิดชอบต่อสังคม) ขึ้น CSR หมายถึง การดำเนินกิจกรรมภายในและภายนอกองค์กร ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมทั้งในระดับใกล้และไกล ด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในองค์กรหรือทรัพยากรจากภายนอกองค์กร ในอันที่จะทำให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในระบบ CSR เพื่ออำนวยประโยชน์สุขแก่พสกนิกรของพระองค์ ทรงเห็นถึงคุณค่าของความสำเร็จของพสกนิกรที่ก้าวเดินไปพร้อมกันในกรอบของศาสนา ที่จะอำนวยสันติสุขประโยชน์แก่ทุกคนอย่างเสมอภาค บนพื้นฐานความรับผิดชอบของแต่ละคน ดังแนวพระราชดำริในพระบรมราโชวาท ที่พระราชทานเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๑ ความตอนหนึ่งว่า

“ ศาสนานั้น จะเป็นศาสนาใดก็ตาม ย่อมมีจุดประสงค์หลายอย่างหลายขั้น ขั้นสูงเรียกว่าขั้นปรมัตถ์ หมายถึงหลักของศาสนาที่เป็นปรัชญา และโดยมากปรัชญานั้นก็เป็นความคิดความเชื่อของบุคคลแต่ละบุคคลว่า โลกนี้มาอย่างไรและจะไปอย่างไร จะมีความสุขสุดยอดอย่างไร แต่ละศาสนามีวิธีการปฏิบัติต่างๆกัน ซึ่งสรุปแล้วก็คือ วิธีหาความสุขความร่มเย็นให้แก่ตัว

การขึ้นสวรรค์หรือการสำเร็จก็คือ การบรรลุความสุขสุดยอดนั่นเอง แต่ในการดำเนินถึงขั้นสูงสุด ยังมีขั้นอื่นๆ ซึ่งสำคัญมาก อยู่ระหว่างทาง ได้แก่ ความสุขของส่วนรวม ของสังคม รวมทั้งการปกครองประเทศ การปกครองส่วนรวม และการปกครองส่วนตัว ในชีวิตธรรมดาๆทุกวันๆ ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของศาสนาเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าจะไปหาความสุขสุดยอดกัน ขึ้นสวรรค์กันท่าเดียว เราจะต้องพยายามให้ทุกวันๆของเรานี้ ใกล้สวรรค์เข้าทุกทีด้วย

การที่จะหาความสุขหรือหาความเรียบร้อยประจำวันนี้ สำคัญอยู่หลายทาง และก็มีอยู่หลายอย่าง เช่นเรื่องการศึกษาของเยาวชน เรื่องการศึกษาวิทยาการทางโลก เพื่อให้มีความรู้ความสามารถที่จะมีชีวิตอยู่

ความรู้นี้ หมายถึงทางวัตถุ เพราะว่าคนเราก็ต้องการที่จะมีวิชาความรู้ เพื่อที่จะทำมาหากินเลี้ยงชีพตัวเองเป็นสำคัญ ในเวลาเดียวกันความรู้ทางวัตถุนั้น ก็จะต้องประสานด้วยความรู้ทางจิตใจ หมายถึงวิธีที่จะคุ้มกันป้องกันร่างกายของตัวคือวัตถุ ต่อสิ่งที่ไม่เป็นวัตถุ ต่อนามธรรมที่เป็นจิตใจ คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ความกระหายอำนาจ ก็เป็นสิ่งที่ยากที่จะควบคุม

เราจะต้องสอนทั้งสองอย่าง สอนวิทยาการเพื่อให้ทำมาหาเลี้ยงชีพ นี่หมายความว่ามีอาชีพ มีความรู้ทางวัตถุ และต้องรู้จักควบคุมจิตใจ ควบคุมสติของตัว ให้สามารถใช้ความรู้ทางวัตถุนี้ เพื่อประโยชน์ของตัวเอง ประโยชน์ของตัวเองนี้ก็อยู่ที่ประโยชน์ของสังคมด้วย เพราะเราอยู่ในสังคม ถ้าไม่รู้จักควบคุมความรู้ที่มีในทางวัตถุก็อาจเกิดความเดือดร้อนต่อผู้อื่น ในที่สุดก็เป็นความเดือดร้อนต่อตนเอง....

...ก็อย่าลืมว่าศีลก็มี ศีลนี้ก็หมายความว่า เป็นกฎเกณฑ์หรือกฎปฏิบัติในสังคม ศีลไม่ใช่สิ่งที่สูงส่ง แท้ๆคือถ้าพูดถึงทางศาสนาก็เป็นขั้นต้น มีศีลก็หมายถึงว่าสามารถที่จะมีชีวิตอยู่โดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น แล้วก็ไม่เบียดเบียนตัวเอง....

...เพราะว่าถ้าไม่มีความสงบ ไม่มีความเรียบร้อย ในสังคมแล้ว ผู้ที่จะปฏิบัติกิจขั้นสูง ก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ นอกจากจะออกไปเป็นฤษีอยู่บนยอดเขา แต่ว่าการขึ้นไปอยู่บนยอดภูเขานั้น ก็อาจได้ประโยชน์แก่ตัวเองเท่านั้น ไม่ได้ประโยชน์เต็มที่ เพราะไม่ได้ช่วยส่วนรวมดีขึ้น เป็นการขึ้นภูเขาอยู่คนเดียว เราจะต้องร่วมกันขึ้นภูเขาให้ถึงยอดด้วยกัน ทุกศาสนาถือว่าการที่ขึ้นถึงยอดด้วยกันนั้น เป็นบุญที่สูงสุด ทุกศาสนาถือเช่นนั้น

แต่ระหว่างทางนั้น ต้องระวังไม่ให้มีการขัดแย้งกัน เพราะว่าศาสนาต่างกันอาจมีแนวทางต่างกัน อย่าให้ความแตกต่างในแนวทางนี้มาทำให้เกิดเป็นอุปสรรค เพราะว่าอุปสรรคในการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างศาสนา ว่าด้วยวิธีการนั้น บางทีก็พูดกันได้ว่าเป็นการดึงลงนรก แต่ละศาสนาก็สอนให้เมตตาต่อผู้อื่น ให้เคารพความคิดของผู้อื่น ไม่ใช่บังคับ ไม่ใช่ข่มขู่...”


บุคคลที่ถือว่าเป็นผู้ประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในโลกคือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงแสวงหาอริยสัจธรรมจนพบ แล้วนำมาเผยแผ่ให้มหาชนได้รับทราบ แล้วนำไปปฏิบัติจนได้สัมผัสถึงความสุขอันน่ามหัศจรรย์ตามกำลังแห่งภูมิปัญญาของตน หลายคนก็ได้ประสบความสำเร็จในพระพุทธศาสนาตามแนวทางที่พระองค์ทรงแสดงไว้ แล้วก็รับภารธุระในการเผยแผ่พุทธธรรม เพื่อช่วยเหลือปวงชนให้ก้าวเดินไปในมรรคาแห่งสันติสุข ก่อสุขประโยชน์แก่ตนเองและสังคม ตลอดถึงประเทศชาติ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงศึกษาปฏิบัติพระองค์ในพระอริยธรรมของสมเด็จพระบรมศาสดา จนได้เข้าถึงสันติสุขด้วยพระวาสนามหาบารมี นำให้พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้วยพระมหากรุณาธิคุณแก่ปวงชนชาวไทย ตามพระราชปณิธานที่ทรงแสดงต่อพสกนิกรของพระองค์ว่า

“เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

มหาเศรษฐีที่โลกยกย่องว่า เป็นผู้ประสบความสำเร็จในชีวิต ต่างก็บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ตามระบบ CSR ด้วยจิตใจที่กอปรด้วยพรหมวิหารธรรม โลกในวันนี้จึงดำรงอยู่ และจักอยู่ต่อไปด้วยความมีน้ำใจต่อกันของมนุษยธรรมในจิตใจของคนบนโลก

นี่ล่ะคือความสำเร็จที่แท้จริงของบุคคลที่ประสบความสำเร็จในชีวิต

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 168 ธันวาคม 2557 โดย พระครูพิศาลสรนาท (พจนารถ ปภาโส) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.)

กำลังโหลดความคิดเห็น