xs
xsm
sm
md
lg

ภาษีอัตราก้าวหน้ามิอาจแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียม : ถกแถลงความคิดของ โธมัส พิเก็ตตี้

เผยแพร่:   โดย: โนเอล ออร์เตก้า

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

What Piketty Forgot
By Noel Ortega
20/06/2014

ผลงานทางด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจที่ใช้ชื่อเรื่องว่า Capital in the Twenty-First Century ของ ธมัส พิเก็ตตี้ นักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ได้กลายเป็นหนังสือขายดิบขายดีอย่างไม่คาดคิดกันว่าจะเป็นไปได้ และได้รับการเรียกขานว่าเป็นงานการศึกษาทางด้าน “ความไม่เท่าเทียม” ชิ้นสำคัญที่สุดในระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ทว่าเนื่องจากผลงานชิ้นนี้ไม่ได้พูดถึงข้อจำกัดอันแท้จริงในเรื่องการเติบโตขยายตัว ดังนั้นจึงยังไม่สามารถที่จะใช้เป็นโรดแมปสำหรับอนาคตได้

ผลงานการศึกษาวิจัยเล่มหนาน่าหนุนนอนว่าด้วยปัญหาความไม่เท่าเทียมในการกระจายรายได้และความมั่งคั่ง เรื่อง Capital in the Twenty-First Century เป็นหนังสือโด่งดังเลื่องลือระดับโลก ด้วยชื่อขั้นระดับเบสต์เซลเลอร์ ขายดีอันดับหนึ่งบนฮ็อตชาร์ตของนิวยอร์ค ไทมส์ หมวดหนังสือปกแข็งไม่ใช่นวนิยาย ณ วันที่ 18 พฤษภาคม ปีนี้ (2014) (เชิงอรรถหมายเลข 1) ด้วยยอดขายมากกว่าแสนสามหมื่นเล่ม “ทุนในศตวรรษที่ 21” ถูกโจษจันปลาบปลื้มกันว่า เป็นงานรังสรรค์ชิ้นเยี่ยมแห่งประวัติศาสตร์เศรษฐกิจที่ศึกษาปัญหาความไม่เท่าเทียมได้อย่างลึกซึ้งที่สุดในรอบกว่า 50 ปี แต่กระนั้นก็ตาม ศ.ดร.โธมัส พิเก็ตตี้ (เชิงอรรถหมายเลข 2) เจ้าของผลงานสำคัญชิ้นนี้ ถูกวิพากษ์โดยโนเอล ออร์เตก้า แห่งขบวนการระบบเศรษฐกิจใหม่ ว่าเขาไม่ได้แตะถึงประเด็นข้อจำกัดต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเช่น วิกฤตเชิงนิเวศ วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม วิกฤตด้านเศรษฐกิจ วิกฤติด้านสังคม และวิกฤตด้านการเมือง ทุนในศตวรรษที่ 21 จึงมิอาจเป็นโรดแมปให้แก่การสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ได้

โนเอล ออร์เตก้านำเสนอว่าทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องคลางใจแล้วว่าโธมัส พิเก็ตตี้ นักเศรษฐศาสตร์คนดังแห่งฝรั่งเศสนั้น เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญระดับโลกในประเด็นความไม่เท่าเทียม ผลงานโด่งดังด้านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ความยาว 700 หน้า เรื่อง Capital in the Twenty-First Century หรือทุนในศตวรรษที่ 21 ขึ้นแท่นเบสต์เซลเลอร์อันดับหนึ่งของนิวยอร์กไทมส์นานหลายสัปดาห์ บางท่านกล่าวขานถึงผลงานชิ้นนี้ว่าเป็นการศึกษาเรื่องความไม่เท่าเทียมที่สำคัญที่สุดในรอบกว่า 50 ปี

พิเก็ตตี้มิใช่นักวิชาการท่านแรกที่เล่นงานลัทธิทุนนิยมด้วยประเด็นความไม่เท่าเทียม แต่จุดต่างของพิเก็ตตี้ คือแนวทางการศึกษาเชิงประจักษ์ และการใช้ข้อมูลที่ไม่มีใครใช้มาก่อน ได้แก่ ข้อมูลด้านภาษีและทรัพย์สิน ซึ่งแสดงให้เห็นแนวโน้มความไม่เท่าเทียมในการกระจายรายได้และความมั่งคั่ง ซึ่งเป็นปัญหาที่ขยายตัวต่อเนื่องรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ฐานข้อมูลที่พิเก็ตตี้สร้างสมขึ้นนั้นครอบคลุมช่วงเวลายาวนานกว่า 300 ปี ภายในประเทศต่างๆ 20 ประเทศ

ด้วยการศึกษาเชิงประจักษ์และการศึกษาแบบสหวิทยาการเชิงลึกอย่างแท้จริง ผลงานของพิเก็ตตี้ได้สร้างคุณูปการอันสำคัญยิ่งยวดแก่การศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์และความไม่เท่าเทียมภายในช่วง 2-3 ศตวรรษที่ผ่านมา กระนั้นก็ตาม ด้วยเหตุที่งานชิ้นนี้ไม่ได้แตะไปถึงข้อจำกัดต่างๆ ที่มีต่อการเติบโต เช่น วิกฤตเชิงนิเวศ มันจึงไม่อาจเป็นโรดแมปสำหรับอนาคต

ความไม่เท่าเทียมกับการเติบโต

หนึ่งในตัวการหลักของความไม่เท่าเทียม ตามที่พิเก็ตตี้ (และมาร์กซ์ซึ่งประกาศไว้ก่อนนี้เนิ่นนานแล้ว) ระบุไว้มีอยู่ว่า การลงทุนด้วยเงินทุนก้อนโตๆ จะให้ผลตอบแทนดีกว่าการลงทุนด้วยแรงงานปริมาณมหาศาล อัตราผลตอบแทนต่อเงินทุนอาจเทียบได้กับการอัดฉีดเม็ดเงินไปยังประชากรส่วนเสี้ยวเล็กๆ (ซึ่งก็คือชนชั้นนักลงทุน) โดยมุ่งหมายเพียงเพื่อให้เกิด “ทุน” ขึ้นมา

สาระสำคัญมีอยู่ว่า ชนชั้นนักลงทุนสร้างเงินขึ้นจากเงิน โดยไม่สร้างประโยชน์ให้แก่ “ภาคเศรษฐกิจแท้จริง” พิเก็ตตี้แสดงให้เห็นว่า หลังเกลี่ยตัวเลขในส่วนของเงินเฟ้อแล้ว อัตราผลตอบแทนต่อเงินทุนของโลกโดยเฉลี่ยนั้นอยู่ที่ระดับ 5% อย่างสม่ำเสมอตลอดช่วง 300 ปีที่ผ่านมา (โดยมีข้อยกเว้นอยู่บ้าง เช่น ช่วงหลายปีในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2)

กระนั้นก็ตาม อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจแสดงแนวโน้มที่ต่างออกไป ก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม และเกือบตลอดประวัติศาสตร์มนุษยชาติ การเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ระดับเพียง 0.1% ต่อปี พอมาถึง “ช่วงระหว่าง” และ “ช่วงหลัง” ของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในซีกโลกส่วนเหนือซึ่งเป็นไปอย่างคึกคักรวดเร็วนั้น อัตราขยายตัวภายในยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกาได้ขยับเพิ่มที่ระดับ 1.5% (ซึ่งถือว่าหรูมากสำหรับบริบทในห้วงเวลาดังกล่าว) ครั้งถึงช่วงทศวรรษ 1950 และ ทศวรรษ 1970 อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ ของโลกสามารถเร่งตัวขึ้น ทั้งนี้ ขณะที่สหรัฐฯ ประคองตัวให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ไม่ถึง 2% แต่ยุโรปกับเอเชียทะยานขึ้นด้วยอัตรา 4% ในเวลาเดียวกัน แอฟริกาก็เร่งอัตราโตไปได้ถึงระดับเดียวกับสหรัฐฯ

สิ่งที่มาร์กซ์บันทึกไว้ในศตวรรษที่ 19 มีอยู่ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจแทบจะไม่สร้างประโยชน์ใดๆ ต่อการลดปัญหาความไม่เท่าเทียม ขณะที่ พิเก็ตตี้พิสูจน์ให้เห็นกันว่า ความมั่งคั่งที่เพิ่มทวีขึ้นนั้น กระจุกตัวอยู่ในมือของกลุ่มชนไม่กี่คน ในการนี้ พิเก็ตตี้ได้พัฒนาสูตรคณิตศาสตร์ง่ายๆ ขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นวิถีที่ความมั่งคั่งไหลไปกระจุกตัวอยู่ในมือของคนเพียงไม่กี่คน กล่าวคือ ความมั่งคั่งมีลักษณะกระจุกตัว เมื่ออัตราเฉลี่ยของผลตอบแทนจากเงินลงทุน (r) มีมหาศาลกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (g) เขียนเป็นรูปแบบคณิตศาสตร์ได้ว่า เมื่อ r > g

ทั้งนี้ พิเก็ตตี้ชี้ว่าตลอดทั้งศตวรรษที่ 19 และถึงต้นศตวรรษที่ 20 อัตราผลตอบแทนจากเงินลงทุนล้วนแต่ล้ำหน้าอัตราการเติบโต และดังนั้น ความไม่เท่าเทียมจึงเบ่งบานอยู่ในโลกที่มีการพัฒนาทางอุตสาหกรรมแล้ว แต่ในทศวรรษที่ 1950 แนวโน้มดังกล่าวเริ่มเปลี่ยนไป ซึ่งไม่ใช่เพราะนโยบายเศรษฐกิจที่จัดให้มีการจัดสรรปันส่วนกันใหม่ หากเป็นเพราะผลสืบเนื่องจากภัยพิบัติเชิงประวัติศาสตร์ที่เกิดอุบัติในบางทศวรรษก่อนหน้า กล่าวคือ นโยบายอันดุเดือดต่างๆ ในเชิงสังคม เศรษฐกิจ อีกทั้งนโยบายภาษีมหาโหด ถูกนำมาใช้ หลังจากที่ต้องประสบกับหายนะ การทำลายล้าง และความเสื่อมสลายต่างๆ

เมื่อนโยบายเหล่านี้หยั่งรากปักฐานแล้ว ความพยายามฟื้นฟูมนุษยชาติหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ส่งผลกระตุ้นอัตราการเติบโต ซึ่งห้วงเวลานี้ คือครั้งแรกในประวัติศาสตร์ระยะใกล้ ที่อัตราการเติบโตสูงเกินหน้าอัตราผลตอบแทนจากเงินลงทุน หรือก็คือ g > r พร้อมกับสร้างชนชั้นกลางขึ้นมา

โมเดลผิดพลาด

นี้เป็นช่วงเวลาที่นักเศรษฐศาสตร์และบรรดาผู้กำหนดนโยบายได้สร้างภาพลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์ให้แก่การเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งในส่วนหนึ่ง เป็นอานิสงส์จากไซม่อน คูสเน็ตส์ นักเศรษฐศาสตร์ลูกครึ่งอเมริกัน-เบลารูส ซึ่งเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลมากรายหนึ่งของยุค (เชิงอรรถหมายเลข 3)

เมื่อศึกษาดูข้อมูลในห้วงระหว่าง 1913 – 1948 แล้ว คูสเน็ตส์สรุปไว้ว่า (โดยพิเก็ตตี้วิเคราะห์ว่าสรุปผิด) โดยเบ็ดเสร็จทั้งหลายทั้งปวงแล้ว การเติบโตทางเศรษฐกิจจะช่วยลดความไม่เท่าเทียมด้านรายได้ได้อย่างอัตโนมัติ ในการนี้ คูสเน็ตส์ชี้ว่า กระแสการพัฒนาอุตสาหกรรมซึ่งพุ่งสูงขึ้นไปอย่างต่อเนื่องนั้น ในช่วงแรกจะสร้างความไม่เท่าเทียมได้อย่างมหาศาล เพราะจะมีประชากรมากมายที่ถูกทอดทิ้ง แต่ทันทีที่ปรับตัวได้กับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจแนวใหม่ ประชากรเหล่านี้จะทยอยได้รับโอกาสเข้าสู่ความมั่งคั่งมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะพวกเขาจะถูกผนวกรวมเข้าสู่โมเดลเศรษฐกิจแนวใหม่อย่างเต็มตัว – ซึ่งก็คือการปิดช่องว่างความมั่งคั่ง

กระนั้นก็ตาม กาลเวลาที่ผ่านมา ได้เฉลยผลแท้จริงแล้วว่า คนรวยมีแต่จะร่ำรวยมากขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง การตีความและวิเคราะห์ผิดพลาดดังกล่าวนี้ได้ทวีความชอบธรรมแก่การเสาะแสวงหาการเติบโตทางเศรษฐกิจควบกับตลาดเสรีอย่างไม่รู้จบสิ้น พร้อมกับแผ้วถางทางสะดวกแก่การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างมหาศาล ตลอดจนเร่งซ้ำเติมปัญหาความเปลี่ยนแปลงสภาพดินฟ้าอากาศ และแผ่ขยายการทำลายสิ่งแวดล้อม ในเวลาเดียวกัน กลับละเลยประเด็นสำคัญที่คูสเน็ตส์ปักธงไว้ กล่าวคือ การลดความไม่เท่าเทียมในการกระจายรายได้

ในผลงานเรื่องทุนในศตวรรษที่ 21 พิเก็ตตี้ใช้ความเคร่งครัดอย่างยิ่งในการประยุกต์การวิเคราะห์ของคูสเน็ตส์โดยใช้ขนาดของฐานข้อมูลที่มโหฬารมากขึ้น และลงเอยได้ข้อสรุปที่คว่ำข้อกล่าวอ้างของคูสเน็ตส์ว่าด้วยการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ พิเก็ตตี้ฟันธงว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยปราศจากระบบภาษีอัตราก้าวหน้าชนิดที่บังคับใช้ได้จริง แท้จริงแล้ว จะสร้างความไม่เท่าเทียมหนักข้อสาหัสขึ้นเรื่อยๆ

ด้วยเหตุนี้ พิเก็ตตี้เรียกร้องให้นักเศรษฐศาสตร์ทั้งค่ายเสรีนิยมและค่ายอนุรักษ์นิยมทบทวนโมเดลการเติบโตเสียใหม่ แต่กระนั้นก็ตาม ถ้าการเติบโตไม่ใช่คำตอบ แล้วสิ่งใดกันที่เป็น

ข้อจำกัดต่อการเติบโต

พิเก็ตตี้เสนอยารักษาปัญหาความไม่เท่าเทียมไว้สองสามขนาน แต่พิเก็ตตี้มิได้พิจารณาจริงจังในเรื่องของข้อจำกัดต่อการเติบโต ดังนั้น ในแง่นี้ นับได้ว่าพิเก็ตตี้เป็นนักเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์โบราณกันเลยทีเดียว ซึ่งนี่เป็นจุดบกพร่องใหญ่สุดของเขา

แนวทางหลักของพิเก็ตตี้เพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียม คือ “ภาษีอัตราก้าวหน้าซึ่งเรียกเก็บจากเงินทุนทั่วโลก” โดยเสนอว่าอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกที่ระดับ 2% - 5% เป็นอัตราที่ยั่งยืนในระยะยาว และถ้ามีการกระจายตัวของทุนกันเสียใหม่ ก็จะช่วยลดความไม่เท่าเทียมได้ อย่างไรก็ตาม พิเก็ตตี้ยอมรับว่าภาษีอัตราก้าวหน้าซึ่งเรียกเก็บจากเงินทุนแบบที่บังคับใช้กันทั่วโลกนั้น เป็นเรื่องในอุดมคติโดยแท้ ดังนั้น พิเก็ตตี้จึงเสนอว่าในขั้นแรก ให้เริ่มด้วยภาษีอัตราก้าวหน้าซึ่งเรียกเก็บจากเงินทุนแบบที่บังคับใช้กันระดับภูมิภาคหรือระดับทวีป ก่อนจะขยายไปสู่ระดับโลก ทั้งนี้ ให้เริ่มจากภูมิภาคของสหภาพยุโรป

จุดโฟกัสของทางแก้ปัญหาที่พิเก็ตตี้เสนอนั้น มุ่งที่การเรียกเก็บภาษีตามระดับความชั่วร้ายของการกระจุกตัวความมั่งคั่ง มากกว่าการมุ่งในประเด็นสภาพการณ์ที่กระตุ้นให้อยากจะสะสมทุนให้มากๆ ตั้งแต่จุดเริ่มแรก ดูเหมือนว่าพิเก็ตตี้จะเชื่อว่าหากดันให้อัตราภาษีพุ่งสูงขึ้นได้มากเพียงพอ ก็จะสามารถขวางกั้นบรรดาซีอีโอไม่ให้ไปไล่ล่าหาเงินเดือนหลักล้าน และน่าจะเชื่อว่ามาตรการแบบนี้จะไม่ส่งผลบั่นทอนพลังการเติบโต

ในการนี้ ขอบอกว่าสำหรับประเด็นแรกแล้ว เป็นอะไรที่ไม่น่าจะเป็นได้ ส่วนสำหรับประเด็นที่สอง พิเก็ตตี้หลงประเด็นที่แท้จริงที่เกี่ยวข้องกับการเติบโต

พิเก็ตตี้อุทิศพื้นที่กว่า 4 หน้าจากผลงาน 700 หน้า เพื่อไต่สวนประเด็นความจำกัดที่จะเติบโต แต่เขาไม่ได้ไตร่ตรองอย่างเพียงพอกับข้อเท็จจริงว่าการเติบโตอย่างไร้ขีดจำกัด (เช่น ในด้านการบริโภค) เป็นเรื่องนี้ไม่ยั่งยืนเอาเสียเลย

ในช่วงที่ผ่านมา มีรายงานหลายฉบับออกมาจากนาซ่า จากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการประเมินสภาพภูมิอากาศแห่งชาติของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ซึ่งล้วนลงความเห็นว่าโลกจะไม่สามารถเดินหน้าในวิถีการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบเดิมได้ ถ้ายังคิดจะรักษาความยั่งยืนของชีวิตมนุษย์

ความหมายของเรื่องนี้ก็คือ ไม่ใช่เรื่องสำคัญเลยว่าเราจะใช้ภาษีอัตราก้าวหน้าเรียกเก็บจากเงินทุนหรือไม่ ในเมื่อโลกของเราไม่สามารถรักษาอัตราเติบโตได้ยั่งยืนตลอดกาลแม้จะเป็นเพียงอัตราแค่ 1% ต่อปีก็ตาม โลกที่หมดสภาพการดำรงชีวิตย่อมไม่อาจจะเลี้ยงดูมนุษย์ได้ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่สามารถสร้างรายได้สูงหรือผู้ที่เป็นสรรพากร

มุ่งสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ล้วนนำไปสู่ปริศนาไขไม่ออกมากยิ่งๆ ขึ้นไป

ในด้านหนึ่ง เราตกอยู่ในปัญหาความไม่เท่าเทียมรุนแรง ในโลกซึ่งมีมนุษยชาติมากมายดำรงชีพด้วยรายได้ต่ำกว่า 2 ดอลลาร์ต่อวัน และมีอภิมหาเศรษฐีหยิบมือหนึ่งครองทรัพย์ศฤงคารมหาศาลขนาดที่ต้องใช้เวลาหลายๆ ชั่วอายุคนจึงจะผลาญทรัพย์เหล่านั้นให้หมดสิ้นไป

ในอีกด้านหนึ่ง เรามีวิกฤตด้านดินฟ้าอากาศเล่นงานเราและเป็นปัจจัยจำกัดการเติบโต ดังนั้น เราไม่อาจจะเติบโตไปสู่ความมั่งคั่งที่แบ่งปันแก่กันและกัน

กระบวนวิธีดั้งเดิมในการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมคือการฉุดพวกที่สถิตอยู่ ณ ปลายยอด พร้อมกับยกระดับผู้ที่อยู่ ณ รากฐาน กระนั้นก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงสภาพการณ์ของโลก เราจะนำพาผู้คนไปสู่ระดับใดกันดี

เราต้องการให้ทุกคนดำรงชีวิตในไลฟ์สไตล์ของชนชั้นกลางอเมริกันหรือไม่ เราจะนำพาทุกคนไปสู่ความเป็นครอบครัวพ่อแม่ลูก 4 ชีวิตในบ้านพร้อมโรงรถขนาดบรรจุ 2 คัน และทุกห้องของบ้านมีโทรทัศน์ อีกทั้งสมาชิกครอบครัวทุกคนมีสมาร์ทโฟน เท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์หรือไม่ เราจะนำพาทุกคนไปสู่ระดับที่สามารถไปพักผ่อนประจำปีในประเทศ ณ อีกซีกโลกหนึ่งราวปีละครั้งหรือไม่ เราจะนำพาทุกคนไปสู่ระดับที่ลูกๆ ได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยกันทุกคน พร้อมกับซื้อรถให้ใช้เมื่อเด็กๆ โตถึงวัยอันเหมาะสมหรือไม่

เหล่านี้เป็นมาตรฐานการดำรงชีวิตที่เราต้องการให้ทุกคนบนโลกได้รับหรือไม่ แน่นอนว่าเราคงต้องมีโลกเลี้ยงเราอย่างน้อย 5 ใบ มนุษยชาติจึงจะสามารถได้รับมาตรฐานการดำรงชีวิตแบบนั้น

พิเก็ตตี้วิเคราะห์ถูกในประเด็นที่ว่าระบบเศรษฐกิจการเมืองของพวกเราเอื้อให้ความไม่เท่าเทียมเติบใหญ่ขึ้นมา อีกทั้งยังฟันธงได้ถูกต้องว่าความไม่เท่าเทียมได้ย้อนกลับมาพ่นพิษใส่โลกการเมืองของพวกเรา กระนั้นก็ตาม ขณะที่เราควรปรารถนาจะสร้างสังคมซึ่งแบ่งปันความมั่งคั่ง เราจำเป็นต้องจัดการกับปัญหาช่องว่างระหว่างที่ใหญ่กว่านั้น คือช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน เราจำเป็นต้องแก้ปัญหาช่องว่างระหว่างสิ่งที่โลกต้องการกับสิ่งที่ระบบเศรษฐกิจต้องการ

ณ ใจกลางของการเติบโตอย่างรวดเร็ว ขบวนการระบบเศรษฐกิจใหม่เป็นคำตอบแก่สมดุลเชิงนิเวศ ความมั่งคั่งที่มีการแบ่งปัน และประชาธิปไตยที่แท้จริง เราจะต้องค้นหาหนทางสู่การสร้างองค์ประกอบ 3 ด้านเหล่านี้

นับว่าโชคดีว่าขบวนการระบบเศรษฐกิจใหม่ได้ทำการใคร่ครวญอย่างจริงจังถึงวิกฤตเชิงระบบ 4 มิติ ได้แก่ วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม วิกฤตด้านเศรษฐกิจ วิกฤติด้านสังคม และวิกฤตด้านการเมืองอยู่ในปัจจุบัน เพื่อจะกำหนดแนวทางความเปลี่ยนแปลงสู่ระบบในรุ่นต่อไปอย่างยุติธรรม ทั้งนี้ พิเก็ตตี้ได้แสดงให้เราได้เห็นบางส่วนของปัญหา แต่เขายังไม่ได้แสดงให้เราได้เห็นวิธีที่จะแก้ปัญหา

โนเอล ออร์เตก้า์ เป็นผู้ประสานงานของคณะทำงานแห่งขบวนการระบบเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ที่สถาบันเพื่อการศึกษานโยบาย หรือ The Institute for Policy Studies.

เชิงอรรถ
1.Capital in the Twenty-First Century หรือ ทุนในศตวรรษที่ 21 เป็นงานศึกษาวิจัยอันอุตสาหะวิริยะของ ศ.ดร. โธมัส พิเก็ตตี้ (7 พฤษภาคม 1971 – ปัจจุบัน) นักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส จุดโฟกัสของเรื่องมุ่งในประเด็นความไม่เท่าเทียมในการกระจายรายได้และความมั่งคั่งในยุโรปและสหรัฐอเมริกานับจากศตวรรษที่ 18 หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาฝรั่งเศสในปี 2013 และมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษพร้อมตีพิมพ์เผยแพร่โดยสำนักนักพิมพ์ Harvard University Press ในเดือนเมษายน ปี 2014 ผลงานความหนากว่า 700 หน้าเล่มนี้ได้รับการตอบรับอย่างคึกคัก เฉพาะที่เป็นภาษาฝรั่งเศสก็ขายได้มากกว่า 50,000 เล่ม เมื่อพิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือปกแข็งในภาษาอังกฤษ ยอดขายพุ่งเพิ่มอีกมากกว่า 80,000 เล่ม นอกจากนั้น ยังมียอดขายในรูปแบบดิจิตอลอีกกว่า 13,000 ก็อปปี้ ทั้งนี้ Harvard University Press จัดพิมพ์เพิ่มอีก 200,000 เล่มเพื่อตอบรับกระแสความต้องการซื้อจากทั่วโลก และเมื่อทุนในศตวรรษที่21 ขึ้นอันดับหนังสือขายดีอันดับหนึ่งของนิวยอร์ค ไทมส์ หมวดหนังสือปกแข็งไม่ใช่นวนิยาย ณ วันที่ 18 พฤษภาคม 2014 ก็ไม่มีใครในวงการเศรษฐศาสตร์ที่ไม่รู้จักหนังสือสำคัญเล่มนี้

2.โธมัส พิเก็ตตี้ เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 1971 ในประเทศฝรั่งเศส สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจาก École Normale Supérieure (ENS) สาขาคณิตศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ เมื่ออายุเพียง 22 ปี โดยเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่องการปรับปรุงระบบกระจายความมั่งคั่ง หลังจากนั้น เข้าสอนที่ Massachusetts Institute of Technology ในระหว่างปี 1993-1995 ต่อมา ได้เดินทางกลับสู่ฝรั่งเศสและเข้าร่วมเป็นนักวิจัยที่ French National Centre for Scientific Research (CNRS) และในปี 2000 จึงมาเป็นศาสตราจารย์ด้านการวิจัยที่ Paris School of Economics EHESS รางวัลเกียรติคุณโดดเด่นที่ได้รับคือ นักเศรษฐศาสตร์อายุน้อยยอดเยี่ยมแห่งฝรั่งเศส เมื่อปี 2012 และในปีรุ่งขึ้น พิเก็ตตี้คว้ารางวัล Yrjö Jahnsson Award ซึ่งมอบแก่นักเศรษฐศาสตร์อายุต่ำกว่า 45 ปี ซึ่งสร้างคุณูปการสำคัญแก่การวิจัยเชิงทฤษฎีและเชิงประยุกต์ด้านเศรษฐศาสตร์ภายในยุโรป

3.ศ.ไซม่อน คูสเน็ตส์ (1901-1985) แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 1971 ในฐานะที่มีผลงานที่ต่อเนื่องยาวนานในการประมวล ประเมิน และถ่ายทอดความหมายของข้อมูลในเชิงปริมาณอันเกี่ยวกับกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่ปรากฏในบัญชีประชาชาติของประเทศต่างๆ ซึ่งครอบคลุมระยะเวลาหลายศตวรรษย้อนหลังไปในประวัติศาสตร์ ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนปรากฏการณ์ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

4.New Economy Movement (NEM) หรือขบวนการระบบเศรษฐกิจใหม่ ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2014 ในชื่อของ Utopianfuture หรือโลกยูโทเปียแห่งอนาคต โดยอยู่บนหลักการว่าด้วยเสรีภาพเชิงการเงิน การกระจายอำนาจออกจากส่วนกลาง ความเสมอภาคเท่าเทียม และความเป็นปึกแผ่นทางสังคม ขบวนการระบบเศรษฐกิจใหม่เป็นการรวมตัวขององค์การ โครงการ นักกิจกรรม นักทฤษฎี และประชาชนอันหลากหลาย ซึ่งมุ่งมั่นจะสร้างระบบเศรษฐกิจการเมืองขึ้นใหม่ทั้งระบบ
กำลังโหลดความคิดเห็น