xs
xsm
sm
md
lg

พร้อมไหมครับ...ปฏิรูประบบเดียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย..นิมิตร์ เทียนอุดม

หลายวันมานี้ ในหัวผมวนเวียนอยู่กับการนึกย้อนทบทวนชีวิตการงานของตัวเองที่วนเวียนอยู่กับแวดวง NGO มาตลอด และบอกกับตัวเองว่าเราเป็น NGO สายสุขภาพ ประเด็นหลักๆ ที่จับที่ทำ คือเรื่องการลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ การพยายามคิดหาหนทางให้ชุมชนและผู้คนในชุมชนมีทางเลือกที่จะป้องกันตนเอง ที่เหมาะสม สอดคล้องกับ วิถีชีวิตของเขา... และหลังจากหมกมุ่นกับแนวนี้มาช่วงหนึ่ง ก็พบว่ายังคงมีติดเชื้อเอชไอวีใหม่ทุกวัน มีคนที่ติดเชื้อแล้ว ต้องเจ็บต้องป่วย และล้มตาย... สถานการณ์นี้ทำให้ผมได้ชักชวนคนทำงานอีกหลายส่วน รวมทั้งกำลังสำคัญ คือ การชวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีให้รวมกลุ่มาเป็นกำลังหลักในการผลักดันและสร้างระบบการดูแลสุขภาพที่พวกเขามีส่วนร่วม และทำให้เห็นว่าเรื่องนี้จะต้องมีความเกี่ยวข้องและต้องข้องเกี่ยวกับหลายภาคส่วนมากๆ จึงจะเดินไปสู่การเข้าถึงการรักษา ประกอบกับช่วงนั้นมียาต้านไวรัส ที่จะหยุดอัตราการตายของผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้ พวกเราจึงหันทิศ และเพิ่มแนวทางการทำงานจากเดิมที่ทำแต่เรื่องเอดส์เพียงอย่างเดียว มาทำงานที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพของประเทศ โดยมีเป้าหมาคือ การมีระบบสุขภาพของประเทศที่ “เห็นหัว” ประชาชนทุกคน

ระบบสุขภาพของประเทศที่ “เห็นหัว” ประชาชนทุกคน เป็นเหมือนการสร้างหลักประกันด้านการรักษา ให้กับผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ ว่าจะไม่สิ้นเนื้อประดาเพราะค่าหมอ ค่ายา และเมื่อพวกเราพบว่า ระบบสุขภาพของประเทศในช่วงก่อนรัฐธรรมนูญปี 40 โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงการรักษาของประชาชน เป็นเรื่องตามยถากรรม ใครมีเงิน ใครมีฐานะก็เข้าถึงการรักษา ใครไม่มี ก็ต้องบากหน้าไปกู้หนี้ยืมเงินหรือไม่ก็ต้องไปขอรับการสงเคราะห์ เป็นผู้ป่วยอนาถาของโรงพยาบาลรัฐ ต่างคนต่างเอาตัวให้รอดกันไปเอง โดยที่รัฐไม่ได้คิดว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องจัดสวัสดิการรักษาพยาบาลให้กับประชาชน รัฐไม่ได้มองว่านี้ คือสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ต้องได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม กระบวนการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้จึงก่อตัวขึ้นมาพร้อมกับการร่างรัฐธรรมนูญปี 40 โดยได้ประสานความร่วมมือกับกลุ่มหมอชนบท ซึ่งกลุ่มหมอที่ต้องการเห็นประเทศมีระบบหลักประกันสุขภาพ พวกเราจึงได้จับมือกัน เขียนกฎหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จนกระทั่งกลายร่างเป็น นโยบาย “30 บาทรักษาทุกโรค”

มาถึงวันนี้ ระบบสุขภาพของประเทศเดินหน้าเติบโตเรื่อยมา อย่างไรก็ตาม ยังมีโจทย์สำคัญอยู่ตรงหน้านั่นคือการมีหลายระบบหลักประกันสุขภาพ (หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม สวัสดิการราชการ) มีหลายองค์กรเกี่ยวข้อง ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ หลายมาตรฐาน และหลายระบบหลักประกันสุขภาพที่มีอยู่ ไม่เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน ยังคงมองประชาชนเป็นเพียง ผู้ป่วย ที่ต้องพึ่งพิง การดูแลรักษาเท่านั้น

ในวาระที่สังคมหวนกลับมาสู่การปฏิรูปประเทศอีกครั้งหนึ่ง เราจะทำยังไงกันต่อไปกับโจทย์เรื่องความเหลื่อมล้ำที่ประชาชนแต่ละคนต้องเผชิญกับความไม่เท่าเทียมในระบบสุขภาพแบบที่เป็นอยู่นี้ เป็นไปได้ไหมที่การปฏิรูปรอบนี้ เราจะเดินหน้าไปสู่ การมีระบบสุขภาพระบบเดียว มาตรฐานเดียว ที่ทำให้ทุกคนได้รับความเป็นธรรมจากการรักษาที่เหมาะสม มีคุณภาพดีเหมือนกัน เป็นระบบที่มีความมั่นคง มีประสิทธิภาพ มีความร่วมมือร่วมใจกัน ประชาชนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของ เป็นหุ้นส่วน ที่จะคิด ทำและร่วมกันรับผิดชอบระบบได้ พอๆ กับ บุคลากรในระบบสุขภาพและคนบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพ

ทั้งนี้ ทั้งหมดทั้งมวลของการปฏิรูประบบสุขภาพรอบนี้ ต้องตอบคำถามได้ว่า ภาวะการเจ็บป่วยของคนในประเทศนี้ จะได้รับการจัดการที่ดียิ่งขึ้นไป ยกตัวอย่างเช่นเรื่องเอชไอวี/เอดส์ ระบบสุขภาพที่เท่าเทียมและเป็นธรรมนี้จะเป็นกลไกที่สำคัญที่จะลดการติดเชื้อรายใหม่ให้เป็นศูนย์และลดอัตราการตายให้เป็นศูนย์ได้ จนเราพูดได้เลยว่า ถ้าผู้ติดเชื้อคนไหนได้รับการรักษาแล้ว ต้องไม่ตายจากภาวะที่เกี่ยวข้องกับเอดส์ และที่่สำคัญระบบสุขภาพใหม่นี้ จะเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยสร้างความเข้าใจ ลดการรังเกียจและลดตีตรา ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ลดการเลือกปฏิบัติในการรับเข้าทำงานหรือศึกษาต่อ

ผมคิดว่าการปฏิรูประเทศรอบนี้ คงต้องหยิบยกรูปธรรมของความไม่เท่าเทียมกันในอีกหลายๆ โรคที่มีอยู่ มาเป็นแนวทางที่จะช่วยให้เราเห็นทิศทางการปฏิรูประบบสุขภาพได้

ทั้งนี้และทั้งนั้น....ต้องให้หลุดออกมาจากความขัดแย้งและแย่งชิงผลประโยชน์ของคนในวงการสาธารณสุขให้ได้เสียก่อน

ประชาชนพร้อมแล้วที่จะปฏิรูประบบสาธารณสุข คนในแวดวงสาธารณสุขล่ะครับ...พร้อมใหม??

 
 
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่

Loading

เครื่อง oncothermia ความหวังใหม่รักษามะเร็งเต้านม-ตับระยะท้าย ใช้คลื่นวิทยุยิงเฉพาะจุดมะเร็งจนเกิดความร้อน เอื้อยาเคมีบำบัดเข้าถึงมะเร็งง่ายขึ้น ผลศึกษาก้แนมะเร็งเต้านมยุบทั้งหมด 22% ผู้ป่วยมะเร็งตับอายุยืนขึ้น

View on Instagram




กำลังโหลดความคิดเห็น