xs
xsm
sm
md
lg

“แพทย์-พยาบาล” 7 จว.ภาคใต้ ร้อง “สปสช.” รื้อระบบใหม่ แก้วิกฤตการเงินโรงพยาบาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ตัวแทนโรงพยาบาล 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างกว่า 400 คน รวมตัวยื่นหนังสือถึง สปสช. ขอให้ปัญหาการบริหาร และจัดสรรเงินที่ไม่เป็นธรรมแก่โรงพยาบาล และพิจารณาโครงการงานแลกเงิน ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระมากกว่าที่จะช่วยให้สามารถบริการประชาชนได้อย่างเต็มที่

วันนี้ (17 ต.ค.) ที่หน้าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 12 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นพ.อุดมเกียรติ พูลสวัสดิ์ ผอ.โรงพยาบาลโคกโพธิ์ จ.ปัตตานี พร้อมด้วยตัวแทนแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจากโรงพยาบาล 77 แห่ง ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ทั้ง จ.ตรัง จ.สตูล จ.พัทลุง จ.สงขลา จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส รวมกว่า 400 คน ได้มารวมตัวเดินขบวนรวมทั้งยื่นหนังสือแถลงการณ์ และมอบดอกไม้เป็นกำลังใจให้แก่ ดร.ทพ.วิรัตน์ เอื่องพูลสวัสดิ์ ผอ.สปสช.เขต 12 ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งใหม่ เพื่อให้ช่วยเป็นสื่อกลางในการนำเรื่องความเดือดร้อน และผลกระทบจากการบริหาร รวมถึงการจัดสรรเงินที่ไม่เป็นธรรมจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่เกิดขึ้นต่อกลุ่มโรงพยาบาลชุมชน และหน่วยบริหาร/บริการ ผ่าน สปสช. เขต 12 ไปยังผู้บริหาร สปสช. ในส่วนกลาง

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างนั้น ทางโรงพยาบาลทั้ง 77 แห่ง ต้องดูแลสุขภาพประชาชนประมาณ 5 ล้านคน นอกจากนั้น ยังมีปัญหาวิกฤตการเงินอย่างรุนแรงในโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) กลุ่มหนึ่งที่มีประชากรปานกลางประมาณ 50,000-70,000 คน แต่เป็นสถานบริการขนาดกลาง-ใหญ่ และสามารถเข้าถึงบริการได้ง่าย ก่อนที่จะมีหลักประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค โดยมีรายจ่ายเงินเดือนบุคลากร และค่าใช้จ่ายในการรักษาดูแลผู้ป่วยที่สูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ซึ่งสถานพยาบาลในพื้นที่ดังกล่าวจะต้องแบกรับภาระผู้ป่วยเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน โดยเฉพาะผู้ป่วยนอกที่มีอัตราเหมาจ่ายค่าหัวในการรักษาน้อยกว่าผู้ป่วยใน รวมทั้งเกณฑ์การหักเงินเดือนรายอำเภอ ซึ่งเป็นเงินเดือนของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล สาธารณสุขอำเภอ รวมไปถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ส่งผลให้สถานพยาบาลคงเหลือเงินสุทธิในการบริการประชาชนไม่ถึง 1,000 บาทต่อคน โดยบางโรงพยาบาลสามารถจัดสรรได้ได้เพียงแค่ 700-800 บาท หรือน้อยกว่านี้ก็มี ซึ่งเป็นเงินที่ไม่เพียงพอต่อการให้บริการแก่ประชาชน

ซึ่งจากสาเหตุดังกล่าว ทำให้มีโรงพยาบาลในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ต้องประสบปัญหาวิกฤตทางการเงินในระดับ 4-7 หรือระดับรุนแรง จำนวน 21 แห่ง ประกอบด้วย จ.สงขลา คือ รพ.สะบ้าย้อย รพ.กระแสสินธ์ รพ.นาหม่อม รพ.สิงหนคร และ รพ.คลองหอยโข่ง จ.สตูล คือ รพ.ควนกาหลง รพ.ท่าแพ และ รพ.ละงู จ.ตรัง คือ รพ.ปะเหลียน รพ.สิเกา รพ.นาโยง และ รพ.รัษฎา จ.พัทลุง คือ รพ.เขาชัยสน รพ.ตะโหมด รพ.ควนขนุน รพ.ปากพะยูน รพ.ศรีบรรพต และ รพ.ป่าพะยอม จ.ปัตตานี คือ รพ.โคกโพธิ์ และ รพ.สายบุรี และ จ.นราธิวาส คือ รพ.สุไหงปาดี

นอกจากนั้น การบริหารจัดการของ สปสช. ที่มีโครงการให้หน่วยบริการ ทั้งโรงพยาบาล และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ทำงานแลกเงินผ่านการคีย์ข้อมูลด้วยโปรแกรมเฉพาะ เป็นการเพิ่มภาระโดยใช่เหตุ ทั้งที่ในแต่ละวันมีงานประจำอยู่จนล้นมือ ซึ่งทำให้การบริการประชาชนทั้งในสถานพยาบาล และการออกหน่วยนอกพื้นที่ทำได้อย่างไม่เต็มที่

โดยทางตัวแทนได้ยื่นข้อเสนอต่อ สปสช. เพื่อพิจารณาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา จำนวน 4 ข้อ คือ การปรับเปลี่ยนวิธีการ และเกณฑ์การจัดสรรเงิน เพื่อแก้วิกฤตการเงินโรงพยาบาลอย่างยั่งยืน โดยให้มีตัวแทนของโรงพยาบาลที่ได้รับผลกระทบในแต่ละภาคเข้าร่วมพิจารณา การจัดสรรเงินไปยังเขตบริการ และมีการจัดสรรโดยเขต จากการมีส่วนร่วมของตัวแทนหน่วยบริการทุกโรงพยาบาล และภาคประชาชน บนฐานข้อมูลที่ถูกต้อง และมีความเป็นธรรมในการแบ่งปัน ซึ่งเป็นทางออกที่ดีอีกทางหนึ่ง

รวมทั้งขอให้ทบทวนโครงการงานแลกเงินที่มากเกินควร และไม่สอดคล้องต่อบริบท และปัญหาในหลายพื้นที่ โดยควรบูรณาการงานกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้บริหารและผู้บังคับบัญชาโดยตรง เพื่อลดความซ้ำซ้อน และลดการเพิ่มงานที่ไม่จำเป็นให้แก่เจ้าหน้าที่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลต่อการดูแลผู้ป่วยในทุกมิติ และสุดท้ายคือ การขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามโรงพยาบาลที่ได้รับผลกระทบ โดยมีตัวแทนจาก สปสช. กระทรวงสาธารณสุข และภาคประชาชนในแต่ละเขต เพื่อวิเคราะห์ ติดตาม ช่วยเหลือ และให้ข้อแนะนำอย่างต่อเนื่อง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น