ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - นายแพทย์กุลเดช เตชะนภารักษ์ ผอ.รพ.หาดใหญ่ แจงเหตุถูกผู้ป่วยโรคหัวใจร้องอ้าง รพ.หาดใหญ่ กักตัวไม่ยอมส่งต่อรักษา รพ.ม.อ. เผยข้อบังคับกำหนดผู้ป่วยประกันสังคมไม่สามารถส่งตัวได้ทั้งหมด ย้ำหากส่งผู้ป่วยหมด รพ.อาจเจ๊ง วอนคนไข้เข้าใจระเบียบของรัฐ
วันนี้ (3 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายแพทย์กุลเดช เตชะนภารักษ์ ผอ.รพ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ได้เปิดเผยถึงการที่มีประชาชนจำนวนหนึ่งเข้าร้องเรียนขอสิทธิในการรักษาพยาบาลเกี่ยวกับโรคหัวใจ ว่า การส่งตัวให้แก่โรงพยาบาล ม.อ. ตามความต้องการของคนไข้นั้น ต้องดูเป็นกรณีไม่ใช่ว่าจะส่งตัวได้ทั้งหมด เพราะคนไข้ 30 บาท และประกันสังคม เป็นคนไข้ที่รับสวัสดิการจากรัฐ ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ออกข้อบังคับไว้ เพราะโรงพยาบาลของรัฐเป็นเจ้าภาพในการให้การบริการ ซึ่งมีค่ารักษาพยาบาลหัวละ 800 บาท ตามจำนวนผู้ขึ้นทะเบียนเอาไว้
หากส่งต่อไปโรงพยาบาล ม.อ.ทุกรายตามที่คนไข้ต้องการ โรงพยาบาลหาดใหญ่ เจ๊งแน่นอน เพราะต้องตามไปจ่ายเงินค่ารักษาให้แก่โรงพยาบาล ม.อ.ซึ่งเก็บค่ารักษาเต็มพิกัด และอีกอย่างโรงพยาบาลหาดใหญ่ มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และเครื่องมือพร้อมในการให้บริการคนไข้ แต่ต้องรอคิวยาวเป็นเรื่องปกติ เพราะเมื่อก่อนที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ ไม่มีเครื่องมือ เครื่องใช้ คนไข้โรคหัวใจที่รอการรักษาที่โรงพยาบาล ม.อ. ก็เข้าคิวรอยาวเหยียดเช่นเดียวกัน
แต่การที่คนไข้จำนวนมากขอให้แพทย์ทำใบส่งตัวให้แก่โรงพยาบาล ม.อ.โดยไม่เข้าใจระเบียบ และข้อเท็จจริง จะเป็นปัญหาที่นำมาสู่การร้องเรียน จึงอยากให้คนไข้เข้าใจถึงเรื่องระเบียบที่ ออกมาโดยรัฐบาล ไม่ใช่ระเบียบของโรงพยาบาลหาดใหญ่ แต่ในขณะเดียวกัน คนไข้ที่เราเห็นว่าควรส่งไปให้โรงพยาบาล ม.อ.ทางโรงพยาบาลหาดใหญ่ ก็พร้อมที่จะส่งตัว แต่ไม่ใช่ทุกราย ตามที่คนไข้ต้องการ
ในขณะเดียวกัน โรงพยาบาล ม.อ. ก็ไม่ใช่ว่าจะรับคนไข้ที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ส่งตัวไปทุกรายเหมือนกัน เพราะเขามีสิทธิในการปฏิเสธที่จะไม่รับ หรือรับรักษาตัวคนไข้ระยะหนึ่ง แล้วส่งตัวกลับมาที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ แต่โรงพยาบาลหาดใหญ่ ต้องบริการชุมชน ไม่สามารถปฏิเสธรับคนไข้ได้ จึงทำให้กลายเป็นโรงพยาบาลที่แออัดอย่างที่เห็น ซึ่งตรงนี้เป็นความจริง
ส่วนที่โรงพยาบาลประจำอำเภอส่งตัวคนไข้เข้ามายังโรงพยาบาลหาดใหญ่ และไม่ส่งตัวคนไข้ไปยังโรงพยาบาลอื่นที่คนไข้ต้องการนั้น เป็นระเบียบว่าให้โรงพยาบาลประจำอำเภอส่งคนไข้ไปให้โรงพยาบาลประจำจังหวัด ที่เป็นโรงพยาบาลในสังกัดเดียวกันก่อน ซึ่งโรงพยาบาลประจำจังหวัดก็จะส่งตัวมาให้โรงพยาบาลหาดใหญ่ ที่เป็นโรงพยาบาลศูนย์ของภาคใต้ตอนล่างอีกทีหนึ่ง เมื่อระเบียบเป็นอย่างนี้ทุกโรงพยาบาลจึงต้องปฏิบัติตาม
ส่วนในกรณีการผ่าตัดนอกเวลานั้น เป็นนโยบายที่ต้องการลดจำนวนคนไข้ที่รอคิวให้มีจำนวนน้อยลง และการผ่าตัดนอกเวลาราชการจะมีการสอบถามถึงความสมัครใจว่าคนไข้พอจะจ่ายเงินได้หรือไม่ ถ้าจ่ายได้ก็จะให้มีการรักษานอกเวลา ซึ่งสามารถช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่รอคิวได้จำนวนมาก และเงินที่จ่ายก็เป็นค่าบุคลากรให้แก่แพทย์ และพยาบาลเคสละ 4-5 คน และไม่ได้เก็บคนละ 25,000 บาททุกราย ขึ้นอยู่กับแต่ละรายที่จะช่วยโรงพยาบาลได้แค่ไหนจริงๆ แล้วเป็นการเสียสละของแพทย์ พยาบาลที่ผ่าตัดนอกเวลา เพราะเป็นเวลาที่เขาต้องพักผ่อน หรือต้องเปิดคลินิกของเขา แต่เขาต้องมาปฏิบัติหน้าที่เพื่อช่วยคนไข้เหล่านี้