xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เสียหายฯจี้ปิด “ฉุกเฉินรักษาฟรี” แฉ รพ.เอกชนขูดรีด เดือดร้อนอื้อ สปสช.ชง คสช.ออก กม.ห้ามเก็บเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ฯ บุก สปสช. - กรรมการสิทธิฯ ยื่นหนังสือขอระงับ “นโยบายรักษาฉุกเฉิน” ชั่วคราว หลังเดินหน้า 2 ปี เจอปัญหาเพียบ แฉผู้ป่วยและญาติถูก รพ.เอกชนเรียกเก็บค่ารักษา แถมถูกฟ้อง จี้เยียวยาด่วน ด้าน สปสช. ชี้เป็นนโยบายรัฐ ไม่มีอำนาจสั่งระงับ เผยชง คสช. ออกกฎหมายห้าม รพ. เรียกเก็บค่ารักษา

วันนี้ (26 ส.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น. ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ศูนย์ราชการฯ นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ พร้อมด้วยตัวแทนเครือข่ายผู้เสียหายฯ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน กรณีถูก รพ.เอกชน เรียกเก็บเงินหลังเข้ารับการรักษาเจ็บป่วยฉุกเฉิน ทั้งที่เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และถูกฟ้องเรียกเก็บค่ารักษาจนเกิดความเดือดร้อน

นางปรียนันท์ กล่าวว่า รัฐบาลเริ่มนโยบายสิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน ตั้งแต่ เม.ย. 2555 โดยผู้มีสิทธิสามารถเข้ารับการรักษาหน่วยบริการที่ใกล้ที่สุดได้ทันที รวมถึง รพ.เอกชนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือประกันสังคม เพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาในภาวะวิกฤตฉุกเฉิน โดยโรงพยาบาลจะได้รับค่าใช้จ่ายในการให้บริการตามระบบกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม หรือ DRG แต่ที่ผ่านมาทางเครือข่ายได้รับการร้องเรียนอย่างต่อเนื่อง เพราะมีผู้ป่วยที่เข้ารับบริการฉุกเฉินถูกโรงพยาบาลเรียกเก็บเงินจำนวนมาก แม้จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์กรณีฉุกเฉินก็ตาม ซึ่งหลายรายไม่มีเงินค่ารักษา และถูกโรงพยาบาลฟ้องเพื่อเรียกเก็บค่าส่วนต่าง หลังจากที่ได้รับการชดเชยตาม DRG จนผู้ป่วยและญาติเดือนร้อนอย่างหนัก

นางปรียนันท์ กล่าวว่า ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายที่มาในครั้งนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ยังมีผู้เดือดร้อนอีกมาก หากปล่อยให้ระบบเป็นเช่นนี้ จะมีจำนวนผู้ป่วยและญาติที่เดือดร้อนเพิ่มขึ้นแน่นอน ทั้งนี้ เครือข่ายฯ ได้เสนอมาตั้งแต่เริ่มต้นระบบแล้ว และมาวันนี้ก็เพื่อเรียกร้องให้ สปสช. แก้ไขปัญหาในฐานะหน่วยงานที่รับนโยบายปฏิบัติ โดยมีข้อเสนอดังนี้ 1. สปสช. ต้องยกเลิกนโยบายฉุกเฉินเป็นการชั่วคราว เพราะหากยังขาดความพร้อมและไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการ จะทำให้มีผู้ที่เดือนร้อนเพิ่มขึ้น 2.ขอให้ สปสช. เร่งออกมาตราการช่วยเหลือเยียวยาโดยเร็ว ในผู้ป่วยและญาติที่จ่ายเงินค่ารักษาไปแล้ว และที่ถูกฟ้องร้องจากโรงพยาบาล

นางปรียนันท์ กล่าวว่า และ 3. หาก สปสช. จะเดินหน้านโยบายฉุกเฉินต่อ ต้องมีมาตราการรองรับชัดเจน โดยเฉพาะความร่วมมือจาก รพ.เอกชน ที่ต้องไม่เป็นการผลักภาระให้กับผู้ป่วย และควรมีการสรุปปัญหาการเข้ารับบริการฉุกเฉินที่ผ่านมาเป็นแนวทางในการวางระบบต่อไป นอกจากนี้ ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลที่กำลังจัดตั้งขึ้น ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อควบคุมค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชน เพราะที่ผ่านมาไม่มีมาตรฐานและเรียกเก็บค่ารักษาเกินจริง

ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า นโยบายสิทธิฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือชีวิตคน ไม่ใช่อำนวยความสะดวกให้ประชาชน โดย สปสช. รับหน้าที่เป็นผู้สำรองจ่ายให้กับผู้มีสิทธิทั้ง 3 กองทุน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นและไม่เป็นไปตามนโยบายที่ตั้งไว้ เพราะกฎกติกายังไม่พร้อม โดยเรามีเพียงกฎหมายที่ห้ามโรงพยาบาลปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยเท่านั้น ไม่มีกฎหมายบังคับห้ามโรงพยาบาลเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย จากการประชุมร่วม 3 กองทุน ได้เตรียมจัดทำข้อเสนอต่อ คสช. เพื่อให้มีการออกกฎหมายบังคับไม่ให้เรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่ให้เรียกเก็บจากกองทุนรักษาพยาบาลแทน โดยมีการจัดทำหลักเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาผู้ป่วยฉุกเฉินที่ต้องเป็นที่ยอมรับของโรงพยาบาลเอกชน แต่ขณะเดียวกันต้องไม่ใช่อัตราที่ทำกำไรมากเกินไป

นโยบายรักษาฉุกเฉินที่ผ่านมามีปัญหามาก ไม่แต่เฉพาะผู้ป่วยที่ถูกฟ้องร้องเรียกเก็บค่ารักษา แต่ สปสช. เองก็ถูกฟ้องทั้งจากผู้ป่วย และ รพ.เอกชน จึงต้องถามไปยังรัฐบาลว่าจะเดินหน้านโยบายนี้หรือไม่ ถ้าเดินหน้าต้องมีการปรับปรุงเพื่อนำไปสู่นโยบายที่ปฏิบัติได้จริง และไม่เป็นปัญหา ส่วนข้อเรียกร้องที่ให้ระงับใช้นโยบายฉุกเฉินชั่วคราวนั้น เนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐบาล สปสช. จึงไม่มีอำนาจตัดสินใจ คงต้องรับเรื่องเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลต่อไป” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.วินัย กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีการเยียวยาผู้ป่วยที่จ่ายค่ารักษาให้กับ รพ.เอกชนไปแล้ว สปสช. คงต้องดูว่าจะสามารถดำเนินการอย่างไร ซึ่งคงต้องเป็นไปตามกรอบอำนาจที่ซึ่งมีอยู่ ส่วนกรณีที่ถูกฟ้องร้องนั้นจะให้ฝ่ายกฎหมายช่วยดูช่วยเหลืออย่างไร

ด้าน นพ.แท้จริง ศิริพานิช กรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่สำคัญที่สุดคือสิทธิการมีชีวิต และการเจ็บป่วย โดยเฉพาะการเข้าถึงช่วงภาวะวิกฤต นับเป็นเรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องได้รับการดูแล ซึ่งหลังจากนี้ทางกรรมการสิทธิมนุษยชนจะประสานหน่วยงานที่ข้องเพื่อดำเนินตามกระบวนการ ทั้งนี้ ความเห็นของกรรมการสิทธิฯ จะช่วยทำให้ข้อเสนอเพื่อเดินหน้าระบบรักษาฉุกเฉินให้มีน้ำหนักขึ้น

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น