วิจัยชี้บริการรักษาเจ็บป่วยฉุกเฉินร่วม 3 กองทุน ไม่ชัดเจนเรื่องเก็บค่ารักษา พบผู้ประกันตนบางรายยังกู้เงินจ่ายให้ รพ.เอกชน แนะรัฐบาลแก้กฎหมายห้ามเก็บเงินจากคนไข้เด็ดขาด ชง สปส. ตั้งสายด่วน ส่งเจ้าหน้าที่ดูแลผู้ประกันตนตั้งแต่เข้าจนออกจาก รพ.
นพ.ถาวร สกุลพาณิชย์ ผอ.สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขในฐานะที่ปรึกษาโครงการวิจัย “การบริหารจัดระบบบริการทางการแพทย์กรณีฉุกเฉินตามนโยบายบริหารจัดการร่วมสามกองทุน” เปิดเผยว่า งานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) วิจัยโดย นางสิรินาฏ นิภาพร และ น.ส.อรวรรณ ประสิทธิ์ศิริผล ซึ่งได้วิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึก สัมภาษณ์ผู้ประกันตนที่เข้ารับบริการตามนโยบายรักษาเจ็บป่วยฉุกเฉินร่วม 3 กองทุน ซึ่งใช้บริการในช่วงเดือนเมษายน 2555 - มิถุนายน 2556 รวมทั้งหมดกว่า 1 พันคน โดยผลวิจัยสรุปว่า นโยบายการรักษาเจ็บป่วยฉุกเฉินร่วม 3 กองทุนให้บริการรวดเร็ว รักษาทุกที่ทั่วถึงทุกคน รวมทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนไม่มีการปฏิเสธการรักษาคนไข้ตามมาตรฐานสากล ทำให้ผู้ประกันตนเข้าถึงบริการรักษาเจ็บป่วยฉุกเฉินได้มากขึ้น
นพ.ถาวร กล่าวอีกว่า ส่วนปัญหาของนโยบายข้างต้นนั้น พบว่า ผู้ประกันตนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าใช้สิทธิได้ที่ใดและการใช้สิทธิทำได้แค่ไหน รวมทั้งแต่ละหน่วยงานทั้ง 3 กองทุน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคมและกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ รวมทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนตั้งแต่ระดับผู้บริหารจนถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติยังมีความสับสนเกี่ยวกับนโยบายและการปฏิบัติในการรักษาเจ็บป่วยฉุกเฉินร่วม 3 กองทุน นอกจากนี้ ในเรื่องค่ารักษาพยาบาลไม่มีการกำหนดในกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจนว่าให้โรงพยาบาลที่ให้การรักษาไปเรียกเก็บเงินค่ารักษาจากหน่วยงานใด ทำให้เกิดความสับสนในทางปฏิบัติ แม้โรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือไม่ได้เก็บค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยโดยตรง แต่ไปเบิกจากกองทุนประกันสังคมผ่านหน่วยงานกลางของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในภายหลังแต่ก็มีโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งยังคงเรียกเก็บเงินค่ารักษาจากคนไข้บางรายต้องกู้เงินมาจ่ายค่ารักษาจนเป็นหนี้สิน
นพ.ถาวร กล่าวต่อไปว่า ผลวิจัยนี้มีข้อเสนอแนะโดยเห็นว่ารัฐบาลควรแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการรักษาเจ็บป่วยฉุกเฉินเพื่อกำหนดการจัดการค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลให้ชัดเจนโดยห้ามโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่ให้การรักษาเรียกเก็บเงินจากคนไข้โดยเด็ดขาด ไม่ว่ากรณีใดๆ แต่ให้ไปเรียกเก็บจากกองทุนต้นสังกัดของคนไข้แต่ละคนโดยผ่านหน่วยงานกลางของ สปสช. เท่านั้น รวมทั้งชี้แจงแนวปฏิบัติที่ชัดเจนให้แต่ละกองทุน โรงพยาบาลรัฐและเอกชนได้รับทราบเพื่อจะได้เข้าใจและปฏิบัติให้ตรงกัน นอกจากนี้ การจ่ายค่ารักษาให้แก่โรงพยาบาลเอกชนนั้นควรใช้อัตราเดียวกับที่กรมบัญชีกลางจ่ายให้แก่โรงเรียนแพทย์และจ่ายเพิ่มเติมในส่วนของค่าตอบแทนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์โดยอัตราที่จ่ายนั้นพิจารณาตามความเหมาะสม
นพ.ถาวร กล่าวด้วยว่า ในส่วนของ สปส. เสนอว่าควรจัดให้มีสายด่วนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินโดยเฉพาะแยกจากสายด่วนปกติ และจัดให้พยาบาลซึ่งมีความรู้การรักษาโรคต่างๆ มาเป็นคอลเซ็นเตอร์ รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ของ สปส. ไปคอยติดตามช่วยเหลือผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มเข้าโรงพยาบาลการเข้าสู่กระบวนการรักษาการจ่ายค่ารักษาจนออกจากโรงพยาบาล
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่