xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.รับปัญหาย้ายสิทธิผู้ป่วย ประชาสัมพันธ์วงเล็ก เกรงกระทบพื้นที่อื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สปสช. แจงมาตรการลดความแออัดใน รพ. ขนาดใหญ่ ชี้ประชาสัมพันธ์แค่ภายในพื้นที่ที่ดำเนินการ เหตุอาจทำให้ประชาชนพื้นที่อื่นสับสน ระบุ หากไม่ทราบการย้ายสิทธิให้อนุโลมรักษาฟรีที่โรงพยาบาลตามสิทธิเดิม 1 ครั้ง เผยหากได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการสามารถร้องเรียนได้

นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ประธานกลุ่มภารกิจสำนักงานสาขาและการมีส่วนร่วม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ขณะนี้ สปสช. กำลังดำเนินโครงการลดความแออัดของแผนกผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิ ตติยภูมิลง เพื่อหวังให้ประชาชนในพื้นที่ กทม. ได้เข้าถึงบริการการรักษาเพิ่มมากขึ้น เพราะเมื่อเทียบสัดส่วนแล้วพบว่า โรงพยาบาลไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากร โดยมีโรงพยาบาลรัฐ 21 แห่ง และ รพ. เอกชน 28 แห่งเท่านั้น ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นโรคเรื้อรังหรือเป็นโรคพื้นฐานที่หน่วยบริการปฐมภูมิสามารถดูแลรักษาได้ จึงมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยเดินทางสะดวกเข้าถึงบริการใกล้บ้านใกล้ใจ รักษาใกล้บ้าน

นพ.รัฐพล กล่าวอีกว่า ที่ สปสช. กำลังดำเนินการ คือ ให้โรงพยาบาลระดับทุติยภูมิ-ตติยภูมิ รองรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก หรือเป็นโรคซับซ้อน ส่วนประชาชนที่เจ็บป่วยด้วยโรคพื้นฐาน หรือโรคเรื้อรังที่มีอาการคงที่ ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ให้ไปใช้บริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิก่อน หากรักษาไม่ได้ หรือจำเป็นต้องใช้เครื่องมือ จะส่งต่อมารักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิ ทั้งนี้ การลดความแออัดผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีการดำเนินงานมาหลายพื้นที่ มีการจัดตั้งคณะทำงานจากหลายภาคส่วนและเป็นขั้นตอน ตั้งแต่การประชุมหารือ ประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ จัดทำประกาศรับสมัคร ออกสำรวจพื้นที่ตั้งคลินิก ประชุมพิจารณาคัดเลือก ติดตามความคืบหน้า ตรวจประเมินตามเกณฑ์ พิจารณาผลการตรวจประเมินคลินิก การจัดสรรประชากร และการประชาสัมพันธ์หน่วยบริการ

หากประชาชนไม่ทราบข่าวการเปลี่ยนแปลงย้ายสิทธิไปยังคลินิกปฐมภูมิ อนุโลมให้ประชาชนสามารถใช้บริการได้ที่โรงพยาบาล 1 ครั้ง จากนั้น เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจะแจ้งสิทธิใหม่ให้ทราบ เพื่อไปใช้บริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิในครั้งต่อไป” นพ.รัฐพล กล่าว

นพ.รัฐพล กล่าวว่า การประชาสัมพันธ์ ใช้วิธีประชาสัมพันธ์เฉพาะกลุ่มในพื้นที่ ไม่ได้ออกข่าวสาธารณะ เนื่องจากประชาชนในเขตพื้นที่อื่นอาจเกิดความสับสน โดยดำเนินการ 2 ช่องทาง คือ การประชาสัมพันธ์ในโรงพยาบาล เช่น ติดป้ายผ้า โปสเตอร์ แจกแผ่นปลิว รวมทั้งบุคลากรของโรงพยาบาลจะให้ข้อมูลข่าวสารแก่ผู้รับบริการ และประชาสัมพันธ์นอกโรงพยาบาล สิ่งที่จะต้องดำเนินการนอกจากนี้ คือ การพัฒนาคลินิกชุมชนอบอุ่นให้มีคุณภาพมาตรฐาน และพัฒนาระบบส่งต่อ สปสช. มีการเพิ่มงบประมาณให้คลินิกที่ดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ทำให้ลดปัญหาการไม่ส่งต่อคนไข้ หากประชาชนได้รับผลกระทบจากกการดำเนินโครงการดังกล่าว เช่น คลินิกที่ได้รับการจัดสรรอยู่ไกล เดินทางไม่สะดวก หรือไม่ได้รับความสะดวกในการขอใบส่งตัว สามารถติดต่อ/ร้องเรียน โทร.1330 หรือติดต่อ สปสช.กทม. 02- 142-1000 กลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียน

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ "Quality of Life" ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น