xs
xsm
sm
md
lg

ย้ายสิทธิบัตรทอง กทม.วุ่น! มึนเข้า รพ.ควักตังค์เอง จวกยัดชื่อลงคลินิกไม่แจ้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ป่วย กทม. มึน! ไปโรงพยาบาลใช้สิทธิบัตรทองไม่ได้ กลุ่มคนรักหลักประกันฯ เผยมีคนร้องเรียนเยอะ เหตุ สปสช. กระจายรายชื่อไปยังคลินิกปฐมภูมิใกล้บ้าน แต่กลับไม่แจ้งผู้ใช้สิทธิทราบ จวกประชาสัมพันธ์ห่วย ด้าน สปสช. แจงทำจดหมายแจ้งแล้ว กว่าครึ่งถูกตีกลับ

น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ปัญหาผู้ป่วยไม่สามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือสิทธิบัตรทอง ตามโรงพยาบาลที่เคยแจ้งสิทธิเอาไว้มีร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเฉพาะพื้นที่ กทม. เนื่องจากเป็นเมืองที่มีประชากรจำนวนมาก แต่โรงพยาบาลสังกัดรัฐมีน้อย โดยเป็นโรงพยาบาลสังกัด กทม. เพียง 3-4 แห่ง สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แทบไม่มีเลย ส่วน รพ. เอกชนก็ไม่ร่วมระบบบัตรทอง ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็พยายามเดินหน้าพัฒนาบริการแบบใกล้บ้านใกล้ใจ โดยกระจายผู้ใช้สิทธิบัตรทองไปยังหน่วยบริการปฐมภูมิใกล้บ้าน คือเมื่อเจ็บป่วยก็ให้ไปยังหน่วยบริการปฐมภูมิหรือคลินิกชุมชนอบอุ่นใกล้บ้านก่อน หากมีความจำเป็นจึงค่อยส่งตัวต่อมายังโรงพยาบาล

สิ่งที่เป็นปัญหาคือ เมื่อ สปสช. กระจายรายชื่อผู้ใช้สิทธิบัตรทองไปยังหน่วยบริการปฐมภูมิแล้ว กลับไม่แจ้งผู้ใช้สิทธิเลย ทำให้เมื่อเจ็บไข้หรือไม่สบาย พอผู้ป่วยเดินทางไปรักษายังโรงพยาบาลตามสิทธิอย่างที่ สปสช. พยายามประชาสัมพันธ์ จึงไม่สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ เนื่องจากไม่ทราบมาก่อนว่าสิทธิของตนถูกย้ายไปแล้ว หากจะใช้สิทธิก็ต้องเสียเวลากลับไปยังหน่วยบริการปฐมภูมิที่รายชื่อถูกกระจายไปแล้วเสียก่อน จึงจะสามารถใช้สิทธิได้ และหากวินิจฉัยว่าเป็นโรคที่ต้องส่งต่อ ก็จะต้องย้อนกลับมารักษาที่โรงพยาบาลอีกรอบหนึ่ง ทำให้ผู้ป่วยเสียเวลา ซึ่งบางคนเลือกที่จะยอมจ่ายเงินเองแทน” น.ส.สุรีรัตน์ กล่าว

น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวอีกว่า กรณีดังกล่าวถือว่าการประชาสัมพันธ์ของ สปสช. แย่มาก เรื่องนี้ สปสช. กทม. ต้องเข้ามาดูแลมากขึ้น โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์เรื่องการย้ายสิทธิ และจะต้องสร้างระบบที่ดีในการติดตามคลินิกชุมชนอบอุ่นให้มีคุณภาพมาตรฐาน เพราะผู้ใช้สิทธิบัตรทองส่วนใหญ่ถูกกระจายมายังหน่วยบริการปฐมภูมิเหล่านี้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ จะต้องเตรียมพร้อมเพื่อแก้ปัญหาการส่งต่อไม่ออก เนื่องจากโรงพยาบาลไม่มีเตียงว่างด้วย สปสช. ต้องจัดการเรื่องนี้ให้ได้

ด้าน นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ประธานกลุ่มภารกิจสำนักงานสาขาและการมีส่วนร่วม สปสช. ในฐานะอดีต ผอ.สปสช. เขต 13 กทม. กล่าวว่า ยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ที่ผ่านมาก็พยายามประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบว่ามีการกระจายสิทธิ โดยมีโรงพยาบาลและคลินิกเป็นจุดประชาสัมพันธ์ ส่วนก่อนหน้านั้นมีการประชาสัมพันธ์โดยการทำจดหมายส่งไปยังที่อยู่ของผู้ใช้สิทธิเพื่อแจ้งให้ทราบ แต่ปัญหาคือจดหมายถูกตีกลับมากกว่าครึ่งหนึ่ง จึงต้องมีการพิจารณาว่าดำเนินการเช่นนี้จะคุ้มหรือไม่ เป็นสาเหตุทำให้ประชาชนไม่ทราบว่าสิทธิของตัวเองถูกย้าย

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ "Quality of Life" ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น