xs
xsm
sm
md
lg

จวก อภ.ทำประกันสังคมขาดแคลนยาเอดส์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว
เอ็นจีโอเอดส์เผย ปัญหาขาดแคลนยาต้านไวรัสฯลุกลามถึงผู้ป่วยประกันสังคม หลังพบจ่ายสต๊อกยาสำหรับ 3 เดือนเหลือเพียงเดือนเดียว เหตุการบริหารยาของ อภ. พร้อมจวกแก้ปัญหาไม่เข้าท่า ให้หยินยืมยาจาก สปสช.

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนยาต้านไวรัสเอชไอวี เนื่องมาจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ประสบปัญหาไม่สามารถจัดส่งยาดังกล่าวได้ จากการบริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพ ขณะนี้ลุกลามไปถึงสำนักงานประกันสังคมแล้ว (สปส.) โดยเฉพาะยาต้านไวรัสเอชไอวี “เอฟฟาไวเรนซ์ (Efavirenz)” ทั้งนี้ ผู้ป่วยประกันสังคมแจ้งว่า เดิมได้รับยาสต๊อก 3 เดือน ขณะนี้เหลือ 1 เดือน เมื่อถามทางโรงพยาบาลก็ตอบว่าเกรงยาจะไม่เพียงพอ ทั้งที่ อภ. ระบุว่า มีสต๊อกอยู่อีก 2 เดือน แต่จนบัดนี้ก็ ส.ค. ถือว่าจะครบ 2 เดือนแล้ว ก็ยังไม่เห็นวี่แววว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ทาง ผอ.อภ. ก็ไม่ออกมาแจ้งว่าสถานการณ์กลับสู่ปกติหรือไม่อย่างไร

“อภ. กลับแก้ปัญหาด้วยการให้ สปส. ไปยืมยาจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งหยิบยืมแล้วค่อยมาเคลียร์ทางบัญชี ซึ่งไม่มีการการันตีว่า อภ. จะคืนยาให้ สปสช. เมื่อไร และ สปส. จะได้ยาเมื่อไร เรื่องนี้คาราคาซัง ดังนั้น ผอ.อภ. ควรออกมารับผิดชอบ รวมทั้งขอเรียกร้องคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว และขอให้ปฏิรูป อภ. ให้มีความโปร่งใส บริหารงานไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย เพราะขณะนี้ผู้ป่วยไม่มีความสุขแล้ว” นายอภิวัตน์ กล่าว

ด้าน นายสุรเดช วลีอิทธิกุล ที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพ สปส. กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องหารือกันในสามหน่วยงาน คือ อภ. สปส. และ สปสช. ถึงการประสานงานกัน ส่วนหากจะมีปัญหายาไม่เพียงพอ จะไม่ส่งผลกระทบกับผู้ป่วย เนื่องจากในโรงพยาบาลมีการใช้ยาต้านไวรัสฯกับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองและประกันสังคมเหมือนกัน ซึ่งจริงๆ แล้วตนมองว่าหากยาเหมือนกันก็ไม่ควรแยกสัดส่วน แต่ควรเอามารวมกันเพื่อจ่ายแก่ผู้ป่วยที่ต้องรับยาจะดีกว่า

นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการ อภ. กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้มาจากการผลิตยาไม่ทัน เพราะกระบวนการผลิตมีหลายขั้นตอน แต่สุดท้ายก็สามารถผลิตยาได้ เพียงแต่อาจมีข้อกังวล ซึ่ง อภ. ก็น้อมรับ โดยขณะนี้ อภ. กำลังทยอยผลิตยาต้านไวรัสฯให้แก่ สปสช. ซึ่งจะแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน จากนั้นจะผลิตยาในส่วนของ สปส. ต่อทันที  ซึ่งทั้งหมดอยู่ในกรอบระยะเวลาการผลิต ไม่ต้องกังวล   ส่วนกรณีให้ สปส. ยืมยาจาก สปสช. อภ. ไม่ได้เป็นผู้เสนอ แต่เป็นการหารือของระดับปฏิบัติงานว่า  หาก สปส. ต้องการยาต้านไวรัสฯอย่างเร่งด่วน ก็สามารถยืมจาก สปสช. ได้ 
 
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น