xs
xsm
sm
md
lg

สอน “พยาบาล” เข้าใจระบบการเงินสุขภาพ ยกระดับบริการ ปชช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ยามเจ็บป่วยไม่ว่าจะไปโรงพยาบาลหรือคลินิก บุคคลที่เราต้องคลุกคลีด้วยมากที่สุดก็คือ พยาบาล หาใช่แพทย์ที่ตรวจรักษาไม่ เพราะไม่ว่าจะเป็นการเช็กสิทธิการรักษา การสอบถามอาการก่อนส่งต่อไปยังแพทย์ผู้ทำการตรวจรักษา หรือแม้แต่ปฐมพยาบาล ให้ยา คอยดูแลคนไข้ใน หรือกระทั่งออกใบค่ารักษาพยาบาล เรียกได้ว่า ทำหน้าที่เกือบครอบจักรวาล
“พยาบาล” จึงเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนระบบสุขภาพ โดยเฉพาะระบบการเงินการคลังในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิต่างๆ ให้แก่ประชาชน การให้ความรู้เรื่องเหล่านี้แก่พยาบาลจึงเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นการเตรียมความพร้อมให้พยาบาลมีความรู้อย่างปรุโปร่ง เพื่อช่วยยกระดับบริการประชาชนให้ดียิ่งขึ้น
“หากพยาบาลเข้าใจระบบการเงินการคลัง ที่มาที่ไปของเงินในแต่ละกองทุนที่ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะใช้ ก็จะช่วยให้การบริการ การดูแลประชาชนที่มารับการรักษาได้ดีขึ้น ประชาชนได้ใช้สิทธิการรักษาของตัวเองอย่างถูกต้อง ไม่ผิดพลาด” นพ.ชลอ ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี อธิบายถึงความจำเป็นในการให้ความรู้เรื่องระบบการเงินการคลังแก่พยาบาล
ล่าสุด สปสช.เขต 4 จึงได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ “การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าร่วมกัน” ระหว่าง วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พระพุทธบาท เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยหวังสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพกับสถานบันการศึกษา โดยเฉพาะกับนักศึกษาพยาบาล ให้เกิดหลักสูตรการเรียนการสอน ตลอดจนสนับสนุนให้คณาจารย์พัฒนาองค์ความรู้และสร้างความเข้าใจ ในเรื่องหลักประกันสุขภาพ
นพ.ชลอ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือดังกล่าว ก็เพื่อผลักดันให้เกิดการเรียนการสอนที่ให้ความรู้แก่พยาบาลในเรื่องข้อมูลการเงินการคลังของสิทธิการรักษาทุกสิทธิ ทั้งสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (สิทธิบัตรทอง) สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ เพราะที่มาของเงินนั้นต่างกัน หากนักศึกษาพยาบาลมีความเข้าใจ เมื่อเวลาออกไปปฏิบัติงานจริง ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับทุกระบบสิทธิการรักษาจะได้มีความเข้าใจประชาชนมากขึ้น ทั้งนี้ ได้ร่วมมือกับสถานบันการศึกษา 2 แห่ง คือ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พระพุทธบาท
“นอกจากนี้ ยังให้วิทยาลัยพยาบาลเป็นตัวเชื่อมระบบสุขภาพระดับอำเภอ ทั้งส่วนของมหาวิทยาลัย ส่วนอำเภอ ส่วนจังหวัด การทำงานวิจัยสู่งานประจำต่างๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การเรียนการสอนคงเป็นเพียงรายวิชาไปก่อน อาจยังทำไม่ถึงขั้นหลักสูตร เพราะมีความยุ่งยากกว่า จะต้องผ่านการรองรับจากสภาการพยาบาลอีก แต่ที่เน้นก็คือ ต้องช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้วยความมั่นใจและมีคุณภาพ และไม่ล่มสลายจากค่ารักษาพยาบาล ทั้งนี้ สปสช.พยายามขยายการจับมือกับวิทยาลัยพยาบาลให้ครบทุกเขตด้วย”
สำหรับการเรียนการสอนนักศึกษาพยาบาลในเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพนั้น ยังคงเป็นการแทรกอยู่รายวิชาที่เกี่ยวข้อง ส่วนจะพัฒนาขึ้นเป็นหลักสูตร หรือสอนเป็นรายวิชาโดยเฉพาะได้เลยหรือไม่นั้น ดร.บุญสืบ โสโสม วิทยาลัยพยาบาลพระพุทธบาท สระบุรี เล่าว่า เรากำลังพยายามผลักดันให้กลายเป็นรายวิชาเฉพาะ แต่ยังต้องรอการปรับปรุงหลักสูตรใหม่ ซึ่งตามปกติจะปรับปรุงทุก 5 ปี โดยปีล่าสุดที่ปรับปรุงคือปี 2555 ดังนั้น คงต้องรอปี 2560 จึงจะสามารถปรับปรุงให้กลายเป็นรายวิชาได้ ซึ่งจะต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบหลักสูตรจากมหาวิทยาลัยมหิดล และสภาการพยาบาลก่อน ส่วนขณะนี้ก็อาศัยสอนแทรกตามรายวิชาที่เกี่ยวข้อง เช่น การสอนเรื่องผดุงครรภ์ ก็จะสอดแทรกไปว่าการดูแลสิทธิของมารดาและเด็กที่เกิดใหม่เป็นอย่างไรบ้าง เป็นต้น
การสอนเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพนั้น มิใช่เพิ่งมาเริ่มสอนเมื่อครั้งมีการลงนามร่วมกัน แต่ ดร.บุญสืบ บอกว่า มีการสอนมานานแล้ว เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาพยาบาลที่จะออกไปประกอบวิชาชีพในอนาคต เนื่องจากสิทธิการรักษาของกองทุนต่างๆ มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา การที่พยาบาลเรามีความรู้ก็จะช่วยพิทักษ์สิทธิและช่วยเหลือผู้ป่วยให้ได้รับสิทธิที่ดีที่สุดตามที่พึงมีได้ โดยวิทยาลัยฯ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญมาอัปเดตเรื่องสิทธิประโยชน์ของกองทุนต่างๆ อยู่ตลอดเวลา
“ผู้ป่วยบางคนไม่ทราบสิทธิ ก็จะเป็นหน้าที่ของพยาบาลเราในการสอบถามเพื่อให้ได้ข้อมูล และระบุได้ว่าผู้ป่วยคนนี้อยู่ในสิทธิใด เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยได้รับสิทธิประโยชน์ที่เขาพึงมี หรือบางรายไม่ทราบว่าการรักษานี้มีสิทธิครอบคลุม ก็จะแนะนำเพื่อไม่ให้ประชาชนต้องควักกระเป๋าจ่ายเอง ช่วยให้ประชาชนไม่ต้องล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล หรือผู้ป่วยบางคนมีสองสิทธิ เช่น ตัวเองมีสิทธิประกันสังคมจากของสามี และสิทธิหลักประกันสุขภาพของตัวเอง ก็จะช่วยพิจารราดูว่าเลือกใช้สิทธิใดจึงจะเหมาะสมที่สุดกับผู้ป่วย เป็นต้น”

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น