ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ
ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งย้ายจากต่างจังหวัดเข้ามารับราชการในส่วนกลางใหม่ๆ ยังไม่ได้นำครอบครัวมาด้วย จึงไปเช่าอพาร์ตเมนต์ใกล้ที่ทำงานและจ้างน้าแอ๊วมาทำความสะอาดเป็นบางวัน เพื่อให้มีเวลาศึกษางานใหม่ได้อย่างเต็มที่ ทุกอย่างดูเหมือนจะลงตัว แต่เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งพบว่าเงินที่เก็บไว้สูญหายไป บางครั้งก็หายไปจากกระเป๋าสตางค์ บางครั้งก็หายไปจากตู้เสื้อผ้า แรกๆ คิดว่าทำหล่นหรือเผลอลืมไว้ที่อื่น แต่พอหลายครั้งจึงเริ่มเอะใจ เมื่อลองสืบสวนจึงพบว่าน้าแอ๊วแอบหยิบไปในระหว่างมาทำความสะอาด สอบถามถึงมูลเหตุจูงใจก็พบว่าจำเป็นต้องหาเงินไปล้างไตให้ลูกที่ป่วยเป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่ต้องไปรับบริการล้างไตสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ลำพังเงินค่าจ้างที่หาได้ไม่เพียงพอที่จะใช้เป็นค่ารักษาพยาบาล นำทรัพย์สินที่มีอยู่ไปขายจนหมดแล้วก็ยังไม่เพียงพอ หยิบยืมญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านจนไม่มีใครอยากพบหน้า ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว จึงต้องใช้วิธีนี้
สมัยนั้น ฟอกเลือดล้างไตครั้งละ 2,000 บาท สัปดาห์ละ 6,000 บาท เดือนละ 24,000 บาท จะต้องมีเงินเดือนเท่าไรถึงจะพอ หัวอกของคนที่เป็นพ่อแม่ ถ้าลูกป่วยก็คงต้องทำทุกทางเพื่อหาเงินมารักษาลูกให้ได้ ข่าวการลัก วิ่ง ชิง ปล้น เพื่อนำเงินไปรักษาพยาบาลจึงเป็นข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ในยุคนั้นอยู่เนืองๆ
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ได้กำหนดสิทธิประโยชน์ให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายสามารถเข้ารับการล้างไตได้ในหน่วยบริการในเครือข่ายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาตั้งแต่ปี 2551 พร้อมกับการสนับสนุนการพัฒนาหน่วยบริการให้เพียงพอกับการดูแลผู้ป่วย โดยมีการก่อตั้ง “กองทุนผู้ป่วยโรคไต” ขึ้นเป็นการเฉพาะแยกออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว โดยครอบคลุมตั้งแต่การล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (เฉพาะผู้ที่ไม่สามารถล้างไตผ่านช่องท้อง) และการรักษาทดแทนไตด้วยวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนไต
ด้วยข้อจำกัดของหน่วยบริการและจำนวนเครื่องไตเทียมที่ไม่เพียงพอ รวมทั้งปริมาณผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายที่มีเพิ่มมากขึ้น สปสช. จึงมีนโยบายส่งเสริมผู้ป่วยรายใหม่ให้ล้างไตผ่านช่องท้องโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนผู้ป่วยที่ใช้วิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมก่อนปี 2551 ที่ไม่สมัครใจเปลี่ยนจากการฟอกเลือดมาล้างไตทางช่องท้อง สปสช.จะจ่ายค่าบริการให้ส่วนหนึ่ง และผู้ป่วยจ่ายสมทบอีกส่วนหนึ่งแต่ไม่เกิน 500 บาท ทำให้ผู้ป่วยลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้กว่าสามในสี่ส่วนต่อเดือน
นอกจากผู้ป่วยและครอบครัวจะลดภาระค่าใช้จ่ายลงอย่างมากแล้ว ยังทำให้ราคาการให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม “ลดลง” และน่าจะยังมี “กำไร” ในระยะยาวเพียงพอ ถ้าดูจากหน่วยไตเทียมใหม่เกิดใหม่ที่กระจายไปทั่วประเทศมากมาย อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ช่วงแรกของการดำเนินการ สปสช. จึงถูกต่อต้านอย่างหนักจากกลุ่มที่สูญเสียประโยชน์ โดยมีหลักฐานเป็นจดหมายเวียนแจ้งในหมู่สมาชิกให้ช่วยกัน “ไม่ร่วมมือ” กับ สปสช. เพราะเป็นต้นเหตุให้ “เสียราคา”
การรณรงค์ให้ “ล้างไตผ่านช่องท้อง” จึงเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้น ทั้งที่ผลการศึกษาทางวิชาการพบว่า อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องในประเทศไทยมีอัตราใกล้เคียงกับต่างประเทศ คือ มีอัตรารอดชีวิตในปีที่ 1 และปีที่ 3 อยู่ที่ร้อยละ 80 และ 55 ตามลำดับ ในขณะที่ต่างประเทศ อัตรารอดชีวิตในปีที่ 1อยู่ที่ร้อยละ 70-95 และปีที่ 3 อยู่ที่ร้อยละ 46-88 ก็ยังไม่วายโดนโจมตีว่าผู้ป่วยที่ล้างไตผ่านช่องท้องจะเสียชีวิตได้ง่ายเนื่องจากการติดเชื้อ ซึ่งค่าเฉลี่ยของการติดชื้อที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกอยู่ที่ 18 เดือนต่อครั้งต่อคน (หมายถึงผ่านไป 18 เดือนจึงจะติดเชื้อหนึ่งครั้ง) ค่าเฉลี่ยของประเทศในยุโรปอยู่ที่ 24 เดือนต่อครั้งต่อคน แต่ค่าเฉลี่ยของประเทศไทยอยู่ที่ 25.6 เดือนต่อครั้งต่อคน แปลว่าผู้ป่วยไทยมีความตระหนักและรู้จักวิธีการทำความสะอาดได้อย่างเยี่ยมยอด นอกจากนั้นยังแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วยของทีมแพทย์และพยาบาลของไทยได้อย่างยอดเยี่ยม
ปัจจุบันมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายรายใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี ในปี 2556 มีผู้ป่วยเข้ารับการล้างไตและเปลี่ยนไต 29,668 คน เพิ่มขึ้นเป็น 35,429 คนในปี 2557 และปี 2558 สปสช. คาดว่า จะให้บริการผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 42,912 คน จากตัวเลขผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในประเทศไทยที่คาดว่าจะมีจำนวนถึง 200,000 คน
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่
หวังแต่เพียงว่า งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปีงบประมาณ 2558 จะได้รับการพิจารณาตามคำขอ เพราะนอกจากจะได้มีทุนสำหรับการรักษาผู้ป่วยตามสมควรแล้ว ยังเป็นการเยียวยาครอบครัวและสังคม ไม่ต้องถูกรุกไล่จนไม่มีทางออก เหมือนอย่างเรื่องของน้าแอ๊ว.