“ประยุทธ์” แจงความมั่นคงมีหลายมิติ เป็นหน้าที่ทุกฝ่ายร่วมสร้างศักยภาพ ต้องเข้าใจยุทธศาสตร์ทหาร ขอมอง ฮ.ตกอุบัติเหตุ แจงซื้อ ฮ.ใหม่ไม่ง่าย ชี้ขัดแย้งทั่วโลกเกิดจากมาจากความจน ยกรัฏฐาธิปัตย์ทางเดียวแก้ปัญหาได้ บี้สื่อเลิกถามอัยการศึก ยันไม่เดือดร้อน รับได้เจอป่วนไม่โกรธ ดัก สนช.-สปช.เขียน กม.ใช้ได้จริง อย่าโลกสวยอ้างแต่โครงสร้าง ชาติหน้าก็ไม่ได้ใช้ จี้ต้องเห็น กม.ใน 3 เดือน
วันนี้ (20 พ.ย.) ที่ห้องบรรยายรวม วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธานในพิธีการศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 57 และบรรยายพิเศษในหัวข้อเรื่อง “บทบาทของภาครัฐ เอกชน และการเมือง ในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ” ตอนหนึ่งว่า เข้าใจว่าทุกท่านเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ต้องนั้นต้องนำความรู้ที่มีมาสังเคราะห์นำไปสู่การปฏิบัติ เราต้องสร้างความเข้าใจว่าประเทศต้องเดินหน้าอย่างไร จึงจำเป็นที่จะต้องขอความร่วมมือทุกฝ่าย เพื่อขับเคลื่อนนโยบายให้มีผลสัมฤทธิ์ จับต้องได้เป็นรูปธรรม ที่ผ่านมาการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหัวหน้า คสช. และเป็นนายกรัฐมนตรีประมาณ 6 เดือน ได้เห็นถึงความมั่นคงว่ามีหลายมติ ทั้งด้านทหาร เศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่ต้องร่วมกันสร้างศักยภาพ อย่าแยกว่าเป็นเรื่องเจ้าหน้าที่ ทุกคนต้องมีส่วนร่วม อย่างน้อยช่วยเฝ้าระวัง แจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ สื่อมวลชนเองก็ต้องมีส่วนสร้างสังคมให้ปรองดอง เกิดความสามัคคี
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า เริ่มจากความมั่นคงด้านทหารจะต้องสร้างพลังอำนาจ มีทั้งที่มีตัวตนและไม่มีตัวตน เช่น เรื่องขวัญกำลังใจในการสู้รบ จะต้องไม่มีบ่อนทำลายขวัญกำลังใจ ทุกคนต้องเข้าใจยุทธศาสตร์ทหาร เนื่องจากการรบมีหลายแบบทั้งรุก ทั้งรับ ยุทธศาสตร์การปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบ ทุกอย่างล้วนเป็นวิธีการทางทหารทั้งสิ้น ถ้าไม่เข้าใจยุทธวิธีเหล่านี้ จะเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่เข้าใจ ต้องเข้าใจว่าทหารมีกติกา มีวิธีปฏิบัติ โดยเฉพาะกติการะหว่างประเทศ เช่น ปัญหาในประเทศต้องเป็นกิจการในประเทศเท่านั้นหรือ ปัญหาระหว่างประเทศไม่ว่าเกิดความขัดแย้งอะไรต้องคุยกันสองประเทศก่อนในรูปแบบทวิภาคี แต่ถ้าไม่สามารถคุยกันได้จึงจะร่วมกันคุยกันหลายประเทศ เราจึงต้องสร้างความเข้มแข็งให้กองทัพ เพื่อช่วยไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้น เราจะต้องไม่รบกัน
นายกฯ กล่าวด้วยว่า นอกจากกองทัพ กำลังคนที่สำคัญแล้ว เรื่องของการจัดหายุทโธปกรณ์ก็มีความจำเป็น จะเห็นว่าจากเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตก ตนเสียใจที่เกิดการเสียชีวิตหลายคน แต่ขอให้มองว่าเป็นเรื่องอุบัติเหตุ เพราะมีการตั้งคำถามว่า ทำไมไม่ซื้อ ฮ.ใหม่ ต้องเข้าใจว่าซื้อของเหล่านี้ ไม่ใช่ซื้อรถเหมือนที่จอดตามโชว์รูม ต้องมีขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างหลายขั้นตอน จะต้องได้ราคาต่ำที่สุดที่เรารับได้ ใครก็อยากได้ของดี เพราะของเก่าก็ต้องซ่อม เผลอๆ ค่าซ่อมมากกว่าซื้อใหม่ บางคนเสนอบริจาคเงินซื้อ ฮ. ถามว่าบริจาคซื้อได้อย่างต่ำ 400-500 ล้านบาท ได้เงินมาก็ซื้อไม่ได้ เพราะไม่ได้ผลิตรอ ต้องเข้าคิว ว้นนี้กองทัพต้องการ 120 ลำ ลดมา 90 ลำก็ไม่ได้อีก จนเหลือ 60 ลำ เรามีงบประมาณเท่านี้ส่วนตำรวจก็ต้องมีหน้าที่ดูแลความมั่นคงภายในประเทศ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สำหรับความมั่นคงด้านพลังงานนั้น ต้องมาดูทำอย่างไรให้มีความมั่นคง จะต้องปรับสัดส่วนการใช้พลังงานในประเทศอย่างไรเช่นการปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน ภาษี การเก็บเงินกองทุนนั้น เพื่อให้ประชาชนเห็นต้นทุนที่แท้จริง เพราะทุกอย่างต้องอยู่ในกรอบที่ควรจะเป็น และมองภาพรวมทุกประเทศ อย่ามองในประเทศอย่างเดียว
“วันนี้ทั่วโลกมีความขัดแย้ง รบกันให้ตายไม่มีชนะ เพราะต้นเหตุความขัดแย้งเกิดจากความยากจนทั้งสิ้น เกิดความไม่เท่าเทียม เหลื่อมล้ำ ต้องเกิดผู้นำมาทำการเปลี่ยนแปลง เป็นหน้าที่รัฐบาลทุกประเทศต้องแก้ไขความยากจน ความเหลื่อมล้ำให้ได้ อะไรที่เป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศต้องหยุดไว้ก่อน อย่างการปักปันเขตแดน ให้คณะกรรมการที่มีอยู่มาคุยกัน เพราะรบกันไปก็เท่านั้น เป็นเรื่องของพื้นที่อ้างสิทธิ ไม่ใช่ทับซ้อนต้องเข้าใจ” นายกฯ กล่าว
นายกฯ กล่าวต่อว่า ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โลกต้องมีเศรษฐกิจเดียว ทำให้เป็นประชาคมโลก แต่การเปิดประเทศในอาเซียนเราต้องดูตัวเองว่าแข็งแรงพอหรือยัง มีความพร้อมแค่ไหน ยังมีความเสี่ยง มีวิกฤตเยอะหรือไม่ ประเทศเราเป็นแหล่งขุมทรัพย์ ทุกคนสนใจอยากเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ ถ้าเราไม่เตรียมความพร้อม จากโอกาสก็จะกลายเป็นวิกฤต ประเทศในอาเซียนเป็นประเทศของเกษตรกรรม เราจะทำอย่างไรให้ราคาผลผลิตสูงขึ้น เพราะขณะนี้ความอันตรายทั่วโลกพูดถึง คือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ส่งผลให้การเพาะปลูกยากลำบาก
“เราต้องเร่งสร้างความเชื่อมโยงเศรษฐกิจ โดยเริ่มจากโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ เราจึงเร่งสร้างรถไฟทางคู่ แต่ต้องใช้เวลาดำเนินการ และได้พยายามทำให้อยู่ในงบประมาณ ซึ่งต้องกู้เงินทำ แต่เราจะไม่เกินหนี้สาธารณะ 60 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งส่วนขององค์กรบริหารต้องปรับใหม่ เพราะที่ผ่านมาไม่ได้เรื่อง ทุกอย่างในประเทศต้องมีเสถียรภาพ ไม่ใช่ทะเลาะกันอย่างนี้ มิเช่นนั้นจะเกิดปัญหาเช่น มีการลักลอบนำข้าวประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิในบ้านเรา จนเป็นปัญหาโครงการรับจำนำข้าวเกิดขึ้น” นายกฯ กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า การที่ตนเดินทางไปต่างประเทศนั้นได้พยายามแสดงให้เขาเห็นว่าประเทศเรามีความสงบเรียบร้อย คนส่วนใหญ่มีความสุข แม้จะอึดอัดอยู่บ้าง แต่ก็จำเป็น ทุกวันนี้ไม่มีม็อบทำให้วุ่นวาย ถามว่าทะเลาะต่อไปเกิดอะไรขึ้น ใครจะมาเที่ยว ทำไปเพื่ออะไร เพื่อใคร ตัดสินทำให้ถูกต้อง ตนไม่อยู่ข้างใคร อยู่ข้างประชาชน
“วันนี้ที่ต้องมีกฎหมายพิเศษ ผมไม่ได้มีความสุขจากการใช้อำนาจ เพราะยิ่งใช้อำนาจก็ยิ่งไม่มีความสุข แต่ทั้งนี้เราต้องมองสถานการณ์ประเทศก่อนว่ามั่นคงเหมือนพม่าไหม ดังนั้นต้องช่วยสร้างความเข้าใจ ซึ่งตอนนี้นานาชาติเข้าใจ มีแต่คนในประเทศเท่านั้นที่ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นจากนี้สื่อไม่ต้องมาถามเรื่องกฎหมายพิเศษอีก ถามว่ากฎอัยการศึกไม่มีได้ไหม ก็แล้วถ้ามีใครเดือดร้อน วันนี้อนาคตของชาติต้องมาก่อน ต้องลดความขัดแย้ง ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ต้องรู้จักเสียสละ เผื่อแผ่ คนที่รายได้น้อยจะดูแลอย่างไร มีผลได้ผลเสีย เราต้องสร้างให้ทุกคนเข้าใจว่าต้องเสียภาษี จะเสียมาก เสียน้อย วันนี้คนกลัวเสียภาษี แต่ต้องปรับตามข้อเท็จจริง ไม่ใช่ว่าเราไปรีดเลือดกับปู แต่เราต้องสร้างความมั่นคง สร้างความมั่นใจ ลดความหวาดระแวง ผลประโยชน์ที่เท่าเทียม วันนี้ต้องต้องก้าวข้ามกับดักประเทศ กับดักประชาธิปไตย ถ้าวันนี้ไม่มีทหารจะแก้ปัญหาได้ไหม ปฏิรูปได้หรือไม่” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า ที่เราต้องเข้ามาแก้ปัญในประเทศ เพราะที่ผ่านมานโยบายที่มีอยู่ใช้ไม่ได้ ไม่โปร่งใส วันนี้เรามีแม่น้ำ 5 สาย แต่สำหรับตนมองว่าเป็นเหมือน 5 นิ้วมือที่ชี้ไปข้างหน้าพร้อมกัน วันนี้ทะเลาะกันไม่ได้แล้ว สิ่งที่ที่คุยกัน คือ 3 เดือนนี้ต้องรู้แล้วกฎหมายจะออกมาอย่างไร รัฐธรรมนูญออกมาอย่างไร ต้องมีกฎหมายลูกกออกมารองรับ เอาแต่เรื่องสำคัญ ถ้า สปช.พูดแต่โครงสร้างชาติหน้าก็ไปไม่ได้ ภายใน 1 ปีต้องมีกฎหมายรองรับ มีผลสัมฤทธิ์ ส่งต่อรัฐบาลใหม่ได้ ไม่ใช่คิดร้อยแปดพันเรื่อง โลกสวยไปหมด สุดท้ายต้องดูความต้องการเราคืออะไร ไม่ใช่ไปพูดกฎหมายชั่งตวงวัด ไม่ต้องไปคิดเขียนวิลิศมาหรา
นายกฯ กล่าวอีกว่า เราต้องคาดหวังกับการปฏิรูป ไม่อย่างนั้นเสียเปล่า สำหรับประเด็นความขัดแย้ง ความเห็นต่าง ไม่มีใครแก้ได้ เพราะติดกฎหมาย ติดรัฐธรรมนูญ ไม่มีใครแก้ได้ ยกเว้นความเป็นรัฏฐาธิปัตย์อย่างเดียวที่แก้ได้ จริงๆไม่อยากทำ ก่อนที่จะเข้ามาเห็นกันอยู่ว่างบประมาณปี 58 ก็ใช้ไม่ได้เลย ตนยอมให้ประเทศชาติเป็นอย่างนี้ไม่ได้
“ที่ผ่านมาส่งทหารของเราไปดูคนของประเทศอื่นได้แต่ทำไมวันนี้ถึงดูแลจะคนไทยด้วยกันเองไม่ได้ ผมจำเป็นต้องทำ มันไม่ไหวจริงๆ มันไม่มีทางออก วันนี้มีแต่ความไม่ไว้วางใจกัน แต่เราต้องดูวัตถุประสงค์ที่เข้ามาว่าคืออะไร ทุกอย่างต้องปฏิรูป ไม่อย่างนั้นจะไปไม่ได้ ขอกำลังใจหน่อย ส่วนคนที่มาชู 3 นิ้ว ประท้วงเล็กๆ น้อยๆ รับได้ ผมไม่ได้โกรธ คนเรามีความเห็นต่างกันได้ แต่ขอบอกว่าเข้ามาเพื่อปรับเปลี่ยนเดินหน้าไปสู่อนาคต มาเพื่อวางพื้นฐานให้ลูกหลานประเทศ คนที่มาวางก็แก่แล้วถ้าเป็นแบบเดิมลูกหลานอยู่ไม่ได้ มันมีวิธีนี้วิธีเดียว” นายกฯ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ช่วงสุดท้ายของการบรรยายนั้นนักศึกษา วปอ. ได้ถามความคิดเห็นของนายกฯ ว่า คิดว่าจะปฏิรูปสำเร็จตามโรดแมปที่วางไว้ได้แค่ไหน หากไม่สำเร็จอะไรเป็นอุปสรรค โดยนายกฯ ตอบว่า ตามที่วางกลไกปฏิรูปประเทศไว้ คือ 1 ปี และจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดเผด็จการรัฐสภา ใช้อำนาจไม่โปร่งใสอย่างที่ผ่านมา จะต้องก้าวข้ามให้ได้ ทุกคนเห็นต่างได้ แต่ต้องมามองว่าสถานการณ์ประเทศอยู่ตรงไหน ที่ผ่านมาเวลานั้นสถานการณ์ถือว่าอันตราย เลือกตั้งไม่ได้ ก็ไม่มีทางอื่น ตนก็อยากพักผ่อนบ้าง วันนี้ต้องขอร้องให้หาวิธีกลับมาสู่ความปกติให้ได้ ต้องช่วยกันเหมือนกิ่งไม้ไผ่เล็กๆ มารวมกัน และก้าวพ้นจากตัวเอง คิดถึงคนอื่น