เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ รายงานอ้างผลสำรวจของ บลูมเบิร์ก พบว่าในบรรดาคนรวยอันดับต้นๆ 400 คนนั้น มีรายได้เพิ่มขึ้นในปี 2014 (ณ วันที่ 29 ธันวาคม) รวมกันกว่า 92,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีความมั่งคั่งรวมกันทั้งหมดกว่า 4.1 ล้านล้านดอลลาร์ ผู้ที่ทำรายได้ไต่อันดับขึ้นมามากที่สุดคือ แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา
รายงานข่าวกล่าวว่า ผู้ที่ทำรายได้ไต่อันดับขึ้นมามากที่สุดคือ แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา กิจการอีคอมเมิร์ซ รายใหญ่ที่สุดของจีน โดยเขามีรายได้เพิ่มขึ้น 25,100 ล้านดอลลาร์ อันเป็นส่วนที่ได้มาจากการนำหุ้นอาลีบาบาออกขายในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อเดือนกันยายน
บิล เกตส์ แห่งไมโครซอฟต์ ยังคงเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ปี 2014 มีรายได้เพิ่มขึ้น 9,000 ล้านดอลลาร์ และมีทรัพย์สินรวมแล้วกว่า 87,600 ล้านดอลลาร์
รายงานฯ ระบุว่า ปี 2014 ที่ผ่านมา รายได้ของมหาเศรษฐีหลายคนผันผวน และไม่ทุกคนที่มีรายได้เพิ่มขึ้น อาทิ อลิเชอร์ อุสมานอฟ มหาเศรษฐีพันล้านชาวรัสเซีย ซึ่งได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันตกลง และการที่ชาติตะวันตกเริ่มมาตรการลงโทษรัสเซีย ทำให้ความรวยหดหายไปกว่า 1 ใน 3 ของที่เคยมี
ขณะที่ความร่ำรวยของมหาเศรษฐีเพิ่มมากขึ้น แต่โลกก็ยังคงอยู่ในความไม่เท่าเทียม เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ คนจนหลายล้านคนทั่วโลก ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ ตกและว่างงาน ขาดรายได้
โธมัส พิเกตตี้ นักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส เขียนไว้ในหนังสือ Capital in the Twenty-First Century คาดการณ์ว่า ภาษีเป็นทางที่จะบังคับให้มหาเศรษฐีโลกจ่ายเงินส่วนแบ่งที่เป็นธรรม
ด้าน แจ็ค หม่านั้น เคยกล่าวถึงโชคชะตาของเขาว่า “เขาไม่มีความสุขกับการเป็นคนรวยในจีน” โดยได้กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวต่างประเทศซีเอ็นบีซี (CNBC) ว่า “ฟอร์บส์ … ผมไม่แน่ใจว่านิตยสารไหนพูด ว่าผมเป็นคนที่ร่ำรวยที่สุดในจีน … มันเป็นความเจ็บปวดทุกข์ใจอย่างยิ่ง”
“เมื่อคุณรวย ผู้คนจะมารายล้อมรอบตัวคุณเพื่อเงิน” แจ็ค หม่า อดีตคุณครูสอนภาษาอังกฤษที่ผันตัวมาเป็นนักธุรกิจกล่าว โดยเขาเสริมว่ารู้สึกเหมือนทุกคนมองเขาอย่างแตกต่างออกไป เหมือนเซเลบคนดังมากกว่านักธุรกิจที่ต้องการรังสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่สนุกสนานให้ปรากฏขึ้นมา
หม่าสำทับว่า ตอนที่เขาเริ่มต้นก่อร่างสร้างอาลีบาบา เขาไม่ได้อยากหรือแม้แต่คิดว่าเขาจะทำเงินมหาศาลจากธุรกิจนี้เลย
“ผมต้องการเป็นนักธุกิจที่น่าเคารพนับถือ” หม่ากล่าว โดยหลังจากบริษัทก้าวสู่ความเป็นสาธารณะ มันไม่ใช่เรื่องของเขาเพียงผู้เดียวแล้ว เพราะความคาดหวังราคาหุ้นอาลีบาบาถีบตัวสูงขึ้นๆ ทำให้เขาต้องรับภาระความรับผิดชอบยิ่งขึ้นไปด้วย
ในการสัมภาษณ์พิเศษกับสถานีโทรทัศน์กลางแห่งชาติจีน (CCTV) เกี่ยวกับปรากฏการณ์ช้อปปิ้งอย่างบ้าคลั่งในวันคนโสด หม่าระบุว่า เงินรายได้ไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับเขา เพราะเขาห่วงระบบโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้า สภาพอากาศ-จราจร และสิ่งอื่นนานาประการ ในการเตรียมพร้อมรับมือมวลมหานักซื้อมากกว่า
“ความทุกข์ใจ” ที่ตัวหม่าได้รู้สึกถึง … มันอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมเขาจึงบอกว่า การนำพา “ความสุข” สู่ประชาชนชาวจีนเป็นหนึ่งในความตั้งใจหลัก ที่อาลีบาบาจะไขว่คว้ามามอบให้ในสิบปีข้างหน้านี้ …