แล้วอดีตฟาร์มเลี้ยงแกะที่ตั้งอยู่ในหุบเขาจ็อคโก ทางด้านเหนือของเมืองอาร์ลี รัฐมอนทาน่า สหรัฐอเมริกา ก็กำลังจะกลายเป็นสวนพุทธสุดสวยในดีไซน์สไตล์ “วงล้อธรรมจักร” ด้วยฝีมือของ “โกเชน ตุลกู ซัง-งัก รินโปเช” ผู้ก่อตั้งและผู้นำทางจิตวิญญาณ แห่งศูนย์พุทธทิเบต Ewam Sang-ngag Ling (EWAM) ซึ่งเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมทางศาสนาพุทธนานาชาติ ในเมืองอาร์ลี
จุดเริ่มต้นของศูนย์แห่งนี้ เกิดจากเมื่อครั้งที่จีนเข้ารุกรานทิเบต ขณะนั้น โกเชน ตุลกู ซัง-งัก รินโปเช มีอายุเพียง 7 ปี เขาได้แอบศึกษาธรรมะมาตลอด โดยมิให้ทางการจีนรู้ แต่ต่อมาก็ได้ถูกจับกุมและถูกจำคุกนาน 10 ปี หลังจากเป็นอิสระ ลามะหนุ่มเห็นในนิมิตว่า ได้เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ ดินแดนแห่งหนึ่งที่มีสภาพเป็นพื้นดินราบลุ่มกว้างใหญ่ มีภูเขาล้อมรอบ
กระทั่งในปี 1993 โกเชน ตุลกู ซัง-งัก รินโปเช ลามะชั้นสูงจากนิกายนิงมะ (นิกายหมวกแดง) ในพุทธศาสนาของทิเบต ได้เดินทางไปเยี่ยมฟาร์มเลี้ยงแกะแห่งหนึ่ง ในเมืองอาร์ลี ซึ่งทำให้ท่านหวนระลึกถึงนิมิตในวัยหนุ่ม และด้วยความช่วยเหลือของบรรดาสานุศิษย์ และอาสาสมัคร ของศูนย์พุทธทิเบต รินโปเชจึงได้เริ่มก่อสร้างสวนพุทธขึ้น ณ ที่แห่งนี้
สวนแห่งนี้มีชื่อว่า “สวนพระพุทธรูป 1,000 องค์” ถูกออกแบบให้เป็นรูปวงล้อธรรมจักร ที่สื่อให้เห็นถึง “มรรคมีองค์ 8” โดยทางเดินเข้าสู่จุดศูนย์กลางมี 8 ทาง ตามความหมายของมรรคมีองค์ 8 คือหนทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ 8 ทาง ได้แก่ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ อาชีพชอบ เพียรพยายามชอบ สติชอบ และตั้งใจชอบ (มรรคมีองค์ 8 นี้ ได้ชื่อว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า ทางสายกลาง เพราะเป็นข้อปฏิบัติอันพอดีที่จะนำไปสู่จุดหมายแห่งความหลุดพ้นเป็นอิสระ)
การออกแบบเป็นรูปธรรมจักรที่เป็นวงกลมนั้น นอกจากเพื่อสื่อความหมายอันลึกซึ้งในพระพุทธศาสนาแล้ว ยังช่วยให้ผู้เข้าชมสามารถเดินชมสวนนี้ได้โดยรอบอย่างทั่วถึงอีกด้วย
นอกจากดีไซน์ที่แสดงให้เห็นถึงความหมายอันล้ำลึกแล้ว ภายในสวนยังประกอบไปด้วยสิ่งก่อสร้างอื่นๆที่น่าตื่นตาตื่นใจ อาทิ สถูป 1,000 องค์ ภายในประดิษฐานรูปปั้นพระแม่ตารา ตั้งอยู่บริเวณวงแหวนรอบนอก เพื่อสื่อถึงจิตที่ตื่นรู้ ส่วนภายในประกอบด้วยพระพุทธรูปสีขาว 1,000 องค์ ประดิษฐานบนทาง 8 แห่ง ซึ่งเป็นเครื่องหมายของมรรค 8 โอบล้อมสถานที่ประดิษฐานรูปปั้นพระนางปรัชญาปารมิตา (ได้ชื่อว่าเป็นพุทธมารดาแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เทพองค์นี้เป็นเทพแห่งปัญญาอันลึกซึ้งของพุทธศาสนา อันเป็นหลักของปรัชญาและคัมภีร์สำคัญของพุทธศาสนา ลัทธิมหายาน) ขนาดสูง 10 ฟุต อันเป็นศูนย์กลาง และเป็นตัวแทนของปัญญา ในสวนแห่งนี้
จาเรด ชมิดท์ นักศึกษาด้านมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยแห่งรัฐมินเนโซตา ซึ่งเคยพักอยู่ที่ศูนย์ฯ กล่าวชื่นชมสวนแห่งนี้ว่า “ไม่ว่าจะมองไปที่มุมไหนของสวน จะมีสิ่งใหม่ๆให้ได้เห็นเสมอ มันดูสวยงามและน่ามหัศจรรย์ แทบไม่น่าเชื่อว่า เรากำลังนั่งอยู่ในสถานที่ที่เคยเป็นฟาร์มเลี้ยงแกะ ซึ่งตอนนี้ได้กลายเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวทางตะวันตกของอเมริกา”
ขณะที่ไบรอัน สปราคส์ อาสาสมัครของสวนพุทธแห่งนี้ กล่าวว่า “การอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน คือสิ่งที่สวนแห่งนี้แสดงให้เห็น แม้จะมีศาสนาและความเชื่อที่ต่างกันก็ตาม”
เดบอราห์ ฮิคส์ โฆษกหญิงของศูนย์พุทธฯ บอกว่า จุดประสงค์หลักของสวนแห่งนี้คือการให้ผู้เข้าชมทุกศาสนาและความเชื่อ ได้เข้าถึงทางแห่งความดี และนำมาซึ่งสันติสุขชั่วนิรันดร์ “ทุกคนที่ได้มาเยือนจะรู้สึกสนุกสนาน เพลิดเพลิน เพราะสวนแห่งนี้ถือเป็นสถานที่แห่งสันติสุข กระตุ้นให้พวกเขารู้สึกเบิกบานและมีความสุขที่ได้มาที่นี่”
โฆษกหญิงเล่าว่า จำนวนพระพุทธรูปภายในสวนมากกว่า 10% นั้น สร้างด้วยเงินบริจาคของชาวญี่ปุ่น ขณะนี้ สวนพระพุทธรูป 1,000 องค์กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ยังไม่แล้วเสร็จ แต่ทางศูนย์ฯก็เตรียมที่จะก่อสร้างวัดขึ้นบนเขา รวมทั้งกำลังรณรงค์หาเงินสร้างศูนย์การศึกษา รวมถึงการตกแต่งกำแพงสวนด้วยดอกไม้นานาพรรณ
โกเชน ตุลกู ซัง-งัก รินโปเช เป็นสหายสนิทขององค์ทะไลลามะ ที่ 14 ซึ่งพระองค์ได้บอกกับรินโปเชว่า หากสวนแห่งนี้แล้วเสร็จเมื่อไหร่ ก็จะเสด็จมาเยี่ยมชม
นอกจากนี้ ท่านรินโปเชยังได้ติดต่อ “สันติ พิเชฐชัยกุล” ปฏิมากรชาวไทยที่มีชื่อเสียงและมีฝีมือในด้านการปั้นบุคคลสำคัญของโลก ซึ่งมีแกลลอรีอยู่ที่มอนทาน่า เพื่อให้สร้างรูปปั้นองค์ทะไลลามะ 14 แบบเหมือนจริง หล่อด้วยวัสดุไฟเบอร์กลาสเรซิ่น เพื่อมอบถวายแด่องค์ทะไลลามะ 1 องค์ และหล่อด้วยวัสดุโลหะทองสำริดอีก 1 องค์ สำหรับตัวท่านเอง เพื่อประดิษฐานไว้ที่วัด
สันติบอกว่า เขาหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สิ่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่ของขวัญที่ศักดิ์สิทธิ์จากเขาเพียงคนเดียวท่านั้น หากแต่จะเป็นของขวัญที่ศักดิ์สิทธิ์และดีงาม จากพุทธศาสนิกชนชาวไทย ในประเทศไทยและทั่วโลกอีกด้วย
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 167 พฤศจิกายน 2557 โดย มนตรา)