เอเอฟพี – การประชุมซัมมิตผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นที่แอฟริกาใต้ในช่วงกลางเดือนนี้ถูกยกเลิกอย่างกะทันหัน หลังเจ้าของรางวัลหลายคนออกมาประกาศไม่ร่วมสังฆกรรม เนื่องจากไม่พอใจที่รัฐบาลกรุงพริทอเรียปฏิเสธวีซาองค์ทะไลลามะ
“การประชุมถูกยกเลิกเพราะเจ้าของรางวัลส่วนมากปฏิเสธที่จะเข้าร่วม” โจดี วิลเลียมส์ ชาวอเมริกันซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจากการรณรงค์ต่อต้านกับระเบิด ให้สัมภาษณ์ที่เมืองธรรมศาลาทางตอนเหนือของอินเดีย ซึ่งเป็นที่พำนักปัจจุบันขององค์ทะไลลามะ
เดสมอนด์ ตูตู เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพชาวแอฟริกาใต้ ก็ออกมากล่าวหารัฐบาลของตนเองว่า “ก้มหัวให้จีน” และทำในสิ่งที่เป็นการ “ถ่มน้ำลายรดหน้า” เนลสัน แมนเดลา วีรบุรุษต่อต้านการเหยียดผิวผู้ล่วงลับ
เจ้าของรางวัลโนเบล 6 คน รวมถึง วิลเลียมส์ ตัดสินใจคว่ำบาตรการประชุมสันติภาพที่เมืองเคปทาวน์ระหว่างวันที่ 13-15 ตุลาคมนี้ หลังทราบว่าผู้นำจิตวิญญาณชาวทิเบตไม่ได้รับอนุญาตให้ไปร่วมงาน โดยทั้งหกกล่าวหาว่าปักกิ่งกำลังใช้อิทธิพลบีบคั้นชาติอื่นๆ ให้ตัดความสัมพันธ์กับองค์ทะไลลามะ ซึ่งเสด็จฯไปลี้ภัยในอินเดียตั้งแต่การลุกฮือเรียกร้องเอกราชทิเบตเมื่อปี 1959 ไม่ประสบความสำเร็จ
ในสายตาของจีน องค์ทะไลลามะพระชนมายุ 79 พรรษาเป็น “พวกแบ่งแยกดินแดน” ในขณะที่พระองค์ตรัสว่า ทรงปรารถนาให้ทิเบตได้มีอำนาจปกครองตนเองเพิ่มขึ้นเท่านั้น
พาทริเซีย เดอ ลิลล์ นายกเทศมนตรีเมืองเคปทาวน์ ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีว่า “เรากำลังหารือเกี่ยวกับการจัดประชุมซัมมิตสันติภาพ และจะมีประกาศออกมาอีกครั้ง” ในวันนี้(2)
ด้านองค์กรจัดการประชุมซัมมิตโนเบลซึ่งมีฐานอยู่ที่กรุงโรม ยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นใดๆ
วิลเลียมส์ และเจ้าของรางวัลโนเบลอีกหลายคนได้ร่วมแถลงข่าวที่เมืองธรรมศาลาวานนี้(1) เนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปีที่องค์ทะไลลามะทรงได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ
ชีรีน เอบาดี ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนชาวอิหร่านซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 2003 กล่าวว่า “ชาวแอฟริกาใต้ก็เคยต่อต้านลัทธิแบ่งแยกผิวมาก่อน ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงรับไม่ได้เลยที่รัฐบาลแอฟริกาใต้ปฏิเสธที่จะออกวีซาให้องค์ทะไลลามะถึง 3 ครั้ง”
เธอยังวิจารณ์ เดสมอนด์ ตูตู ที่ไม่ออกมาทักท้วงรัฐบาลของตนเอง โดยกล่าวว่า “ประหลาดใจมาก” กับความนิ่งเงียบของท่าน แต่หลังจากนั้นไม่นาน อดีตอาร์คบิชอปซึ่งคว้าโนเบลสันติภาพเมื่อปี 1984 ก็ตัดสินใจออกถ้อยแถลงประณามรัฐบาลแอฟริกาใต้อย่างรุนแรง
“การประชุมซัมมิตโนเบลที่เมืองเคปทาวน์ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในทวีปนี้ ถือเป็นการสดุดีคุณงามความดีของ มาดิบา” ตูตู กล่าว โดยอ้างถึงชื่อชนเผ่าของอดีตประธานาธิบดี เนลสัน แมนเดลา ผู้ล่วงลับ
“ทว่าเขากลับถูกบรรดาสหายถ่มน้ำลายรดหน้า ด้วยการปฏิเสธไม่ให้เขาได้รับการสดุดีจากบรรดาผู้ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ”
เอบาดี ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในอิหร่าน เรียกร้องให้ทั่วโลกรวมถึงพลเมืองชาวจีนทุกคนออกมาเปิดโปงปัญหาการล่วงละเมิดที่เกิดขึ้นในแดนมังกร
“ถูกแล้วหรือที่เราจะไม่ประท้วง และนิ่งเฉยเมื่อรัฐบาลเอาบรรดากวีไปขังคุก” เอบาดี ตั้งคำถาม โดยจงใจอ้างถึง หลิว เสี่ยวโป นักเขียนชาวจีนซึ่งถูกจับกุมเมื่อปี 2009 ฐานปลุกปั่นยุยงให้เกิดการบ่อนทำลายรัฐ
หลิว ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 2010 ทั้งที่ยังติดอยู่ในเรือนจำ โดยได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่ “ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในจีนอย่างสันติมายาวนาน”
เอบาดี ยังเรียกร้องให้ทุกประเทศออกมาคัดค้านนโยบายที่จีนมีต่อชาวมุสลิมอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง
“ทุกประเทศจะต้องผนึกกำลังต่อต้านการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อชาวมุสลิมอุยกูร์ในจีน รวมถึงพลเมืองจีนเองด้วย เพราะการนิ่งเฉยต่อความโหดร้ายป่าเถื่อนก็เท่ากับเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด”
รัฐบาลจีนอ้างว่า เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในมณฑลซินเจียงเป็นฝีมือของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ในขณะที่นักสิทธิมนุษยชนส่วนใหญ่ชี้ว่า การกดขี่วัฒนธรรมและความเชื่อของชาวอุยกูร์คือต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหา