รอยเตอร์ - คาดจีนทุ่มทุนนับพันล้านดอลลาร์ในเครือข่ายทางรถไฟอินเดีย ระหว่างที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เยือนแดนภารตะ สัปดาห์นี้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการหยิบยื่นไมตรีจิตให้แก่เพื่อนบ้านในโอกาสที่ได้พบกับนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี เป็นครั้งแรกแล้ว ยังดูเหมือนเป็นความพยายามสกัดสัมพันธ์นิวเดลี-โตเกียวไปในตัว
ช่วงเดือนกันยายนนี้ ผู้นำ 3 ชาติเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของเอเชีย ได้แก่ จีน อินเดีย และญี่ปุ่น ต่างตระเวนเดินทางไปทั่วภูมิภาค เพื่อดำเนินการล็อบบี้สร้างอิทธิพลทางยุทธศาสตร์ สร้างสัมพันธ์ทางการทหาร และแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ
ความพยายามของจีนในการผูกสัมพันธ์ทางการค้ากับอินเดียคราวนี้นั้น มีขึ้นในขณะที่ข้อพิพาทด้านดินแดนระหว่างประเทศทั้งสองยังคงดำรงอยู่ และปะทุตัวครั้งหลังสุดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้นิวเดลีรู้สึกกังวลเนื่องจากยังจำได้ไม่ลืมกับการพ่ายแพ้ศึกชายแดนต่อแดนมังกรเมื่อปี 1962
นอกจากนั้น ความเคลื่อนไหวของปักกิ่งครั้งนี้ยังมีขึ้นหลังจากที่ญี่ปุ่นประกาศลงทุน 35,000 ล้านดอลลาร์ในอินเดียในช่วง 5 ปีข้างหน้า ซึ่งรวมถึงการเกี้ยวพาให้แดนภารตะสนอกสนใจรถไฟความเร็วสูงแบบ “รถไฟหัวกระสุน” ของแดนอาทิตย์อุทัย ตลอดจนผลักดันเพื่อกระชับสัมพันธ์ทางการทหาร ในการเจรจาเมื่อต้นเดือนนี้ระหว่างโมดี กับนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ที่กรุงโตเกียว
ทั้งนี้ คาดว่าอินเดียและจีนจะลงนามข้อตกลงที่จะเปิดทางให้จีนเข้าไปมีส่วนร่วมในระบบรางรถไฟใหม่ ระบบการส่งสัญญาณอัตโนมัติสำหรับรถไฟความเร็วสูง และสถานีรุ่นใหม่ที่ระบบรางรถไฟของอินเดียซึ่งสร้างกันมาตั้งแต่ยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษต้องการเป็นอย่างยิ่ง โดยที่นับจากอินเดียประกาศเอกราชเมื่อ 67 ปีที่แล้ว เพิ่งมีการขยายรางรถไฟระยะทางเพียง 11,000 กิโลเมตรเท่านั้น
จีนที่ขยายทางรถไฟระยะทางถึง 14,000 กิโลเมตร ในระหว่างปี 2006-2011 กำลังผลักดันเพื่อขอแบ่งเค้กในตลาดรถไฟความเร็วสูงของอินเดีย โดยอ้างว่า มีต้นทุนถูกกว่าที่ญี่ปุ่นเสนอ
หลิว เจี้ยนเชา ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศจีน เปิดเผยก่อนการเยือนของสีว่า อินเดียมีความปรารถนาแรงกล้าที่จะเพิ่มความร่วมมือกับจีนและประเทศอื่นๆ เพื่อพัฒนาระบบรางรถไฟในประเทศ รวมถึงรางรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจีนมีแผนการที่ดีรองรับในเรื่องนี้
ขณะเดียวกัน หลิว หยูฟา กงสุลใหญ่จีนในเมืองมุมไบ ให้สัมภาษณ์เดอะ ไทมส์ ออฟ อินเดียเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า การลงทุนของจีนเพื่อปรับปรุงระบบรางรถไฟอินเดียอาจมีมูลค่าถึง 50,000 ล้านดอลลาร์
ปักกิ่งยังกำลังดูลู่ทางเพื่อลงทุนอีก 50,000 ล้านดอลลาร์ในการสร้างท่าเรือ ถนน และโครงการเพื่อเชื่อมแม่น้ำสายต่างๆ ของอินเดีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของโมดี เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ
เมื่อเปรียบเทียบแดนมังกรกับแดนภารตะแล้ว จากเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับทัดเทียมกันในปี 1980 ขณะนี้จีนกลับเติบโตจนมีขนาดเศรษฐกิจเป็นกว่า 4 เท่าตัวของอินเดียแล้ว ในเวลานี้ปักกิ่งกำลังพยายามนำเอาบางส่วนของรายได้มหาศาลจากการส่งออก มารีไซเคิลเข้าสู่การลงทุนในต่างประเทศ โดยที่ในเอเชียใต้นั้นแดนมังกรมุ่งลงทุนทั้งทางด้านทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเป็นการรองรับภาคอุตสาหกรรมการผลิตภายในจีน
ทว่า ความสัมพันธ์อินเดีย-จีนยังไม่อาจคืบหน้าเท่าที่ควร เนื่องจากปัญหาความไม่ไว้ใจกัน โดยเฉพาะปัญหาพรมแดนที่มีข้อพิพาทกันอยู่ โดยอินเดียระบุว่า ช่วงไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ กองทัพจีนได้รุกล้ำเขตแดนควบคุมทางทหาร ทำให้อินเดียต้องเตรียมพร้อมตั้งรับ
นิวเดลียังมองว่า การที่จีนมีความร่วมมือทางทหารอย่างแข็งขันกับปากีสถาน เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของตน ขณะที่ปักกิ่งก็กังวลกับกิจกรรมความเคลื่อนไหวของชาวทิเบตที่นำโดยทะไลลามะ ที่หนีไปอยู่อินเดียภายหลังเหตุรุนแรงในทิเบตปี 1959
สี มีกำหนดเปิดฉากเยือนอินเดียคราวนี้ที่เมืองอาห์เมดาบัด เมืองหลวงทางการพาณิชย์ของรัฐคุชราต ซึ่งเป็นรัฐบ้านเกิดของโมดี โดยที่จะไปในวันพุธ (17 ก.ย.) ซึ่งจะเป็นวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 64 ปีของผู้นำชาตินิยมชาวอินเดียผู้นี้พอดี
ในระหว่างการเยือนเที่ยวนี้ สี ยังมีกำหนดการที่จะเปิดนิคมอุตสาหกรรม 2 แห่ง แห่งหนึ่งมุ่งเน้นการผลิตอุปกรณ์ด้านไฟฟ้า จัดตั้งขึ้นในรัฐคุชราตนี่เอง โดยที่รัฐนี้มีเศรษฐกิจรุ่งเรืองมีอัตราเติบโตสูงที่สุดในอินเดียช่วงที่โมดีดำรงตำแหน่งเป็นมุขมนตรีของรัฐ สำหรับนิคมอุตสาหกรรมอีกแห่งหนึ่งนั้นตั้งอยู่ในรัฐมหาราษฏะระ ที่อยู่ติดๆ กับคุชราต โดยจะผลิตสินค้าในภาครถยนต์เป็นสำคัญ
สำหรับการพบกันครั้งแรกระหว่างสีกับโมดีนั้น มีการเตรียมการให้อยู่ในบรรยากาศแบบไม่เป็นทางการ โดยเป็นที่คาดหมายกันว่าเพื่อมุ่งสร้างความสนิทชิดเชื้อส่วนตัว เช่นที่เกิดขึ้นระหว่างอาเบะกับโมดี ซึ่งได้พบปะกันก่อนที่เมืองเกียวโต ก่อนที่จะมีการเจรจาหารืออย่างเป็นทางการที่กรุงโตเกียว
ขณะเดียวกัน นักการทูตในปักกิ่งที่ติดตามความสัมพันธ์จีน-อินเดีย มองว่า โมดีกำลังเดินหมากอย่างระมัดระวังเพื่อรักษาสมดุลความสัมพันธ์กับมหาอำนาจ เริ่มจากการเยือนญี่ปุ่นก่อนที่จะให้การต้อนรับการมาเยือนของสี รวมทั้งการเตรียมพบกับประธานาธิบดีบารัค โอบามา ซึ่งเดินทางมาเอเชียเพื่อเข้าร่วมการประชุมซัมมิตของกลุ่มเอเปกปลายเดือนนี้ ทั้งนี้มีรายงานโมดีกำลังวางแผนเดินทางไปเยือนสหรัฐฯตอนปลายปีนี้ด้วย