xs
xsm
sm
md
lg

ปักกิ่งยันสิทธิแต่งตั้ง ‘ทะไลลามะ’ องค์ใหม่ ชี้เป็นเรื่องการเมืองมากกว่าศาสนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทะไลลามะ องค์ที่ 14 พระนามว่า เทนซิน เกียตโซ (ภาพ รอยเตอร์ส)
รอยเตอร์ส - จีนชี้กรณี “การกลับชาติมาประสูติใหม่ของทะไลลามะ” เป็นประเด็นทางการเมือง ที่รัฐบาลจะมิยอมเสียสิทธิ์อำนาจในการจัดการ แม้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มสิทธิมนุษยชนและผู้นำทางจิตวิญญาณผู้พลัดถิ่นของชาวทิเบต

อ้างอิงจากบทความคิดเห็นของนายจู เหว่ยฉิน ประธานคณะกรรมาธิการฝ่ายกิจการชาติพันธุ์และศาสนา สังกัดหน่วยงานที่ปรึกษาระดับสูงของสภานิติบัญญัติประเทศจีน ซึ่งตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์โกลบอล ไทม์ส ฉบับวันที่ 30 พ.ย. 2558 ยืนยันว่ารัฐบาลกลางจะเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องดังกล่าว เพื่อรักษาไว้ซึ่งธงชัยของการต่อสู้กับการแบ่งแยกดินแดน

จูกล่าวว่า การแต่งตั้งองค์ทะไลลามะไม่เคยเป็นประเด็นทางศาสนาอย่างบริสุทธิ์จริง หรือกระทำด้วยสิทธิปัจเจกชนขององค์ทะไลลามะ แต่เป็นประเด็นทางการเมืองที่มีความสำคัญมากที่สุดเป็นอันดับแรกในทิเบต รวมถึงเป็นการแสดงอำนาจอธิปไตยของรัฐบาลกลางที่มีต่อทิเบตอย่างชัดเจน

“ทะไลลามะนับเป็นผู้นำทางการเมืองลำดับแรกของทิเบต ไม่ว่าใครก็ตามที่ครองตำแหน่งย่อมสามารถกุมอำนาจการเมืองทิเบต” จูเสริม “ด้วยเหตุผลนี้ ตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา รัฐบาลกลางจึงมิเคยยินยอม และจะมิยินยอมยกสิทธิการตัดสินใจในกิจการดังกล่าวอย่างแน่นอน”

ทั้งนี้ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทะไลลามะองค์ปัจจุบันที่มีพระนามว่า เทนซิน เกียตโซ และพรรคคอมมิวนิสต์จีน ต่างโต้เถียงปัญหาว่า ใครคือผู้มีสิทธิ์ชี้ขาดการกลับชาติมาประสูติของทะไลลามะองค์ถัดไป ซึ่งเป็นธรรมเนียมของชาวพุทธทิเบต ที่เชื่อว่าวิญญาณของทะไลลามะผู้สิ้นพระชนม์จะกลับชาติมาเกิดในร่างของเด็ก

ปักกิ่งกล่าวหาว่าองค์ทะไลลามะซึ่งมีพระชันษา 80 ปี เป็นผู้นำการแบ่งแยกดินแดนและการใช้ความรุนแรง หลังจากหลบลี้หนีภัยไปยังประเทศอินเดียในปี 2502 เพราะไม่ประสบความสำเร็จในการการลุกฮือต่อต้านการปกครองของจีน แต่พระองค์ก็ปฏิเสธคำกล่าวหา และว่าต้องการเพียงทิเบตที่ปกครองตนเองอย่างแท้จริงเท่านั้น

อย่างไรก็ดี เมื่อไม่นานนี้ องค์ทะไลลามะ ซึ่งทรงได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี 2532 ตรัสว่า “ตำแหน่งผู้นำจิตวิญญาณของพระองค์จะสิ้นสุดลงเมื่อท่านสิ้นพระชนม์” อันหมายความว่าอาจไม่มีทะไลลามะองค์ถัดไปมาสืบทอดตำแหน่งในกาลข้างหน้าอีกแล้ว

กำลังโหลดความคิดเห็น