xs
xsm
sm
md
lg

“ทะไลลามะ” ทรงเผย สถาบันทะไลลามะอาจถึงคราวสิ้นสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

องค์ทะไล ลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบต
เอเอฟพี - องค์ทะไลลามะ ตรัสในการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์บีบีซีว่า โลกมี “ความรับผิดชอบทางศีลธรรม” ที่จะต้องผลักดันประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมในจีน พร้อมทรงเผยว่า ให้สถาบันทะไลลามะสิ้นสุดในสมัยของพระองค์ดีกว่าต้องถูกทำให้เสื่อมเสียในอนาคต

อย่างไรก็ตาม พระองค์ตรัสว่าการแสวงหาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากขึ้นกับประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกแห่งนี้เป็นนโยบายที่ “สมเหตุสมผล” สำหรับบรรดาชาติตะวันตกที่ติดขัดเรื่องการเงินอย่างอังกฤษ

“โลกเสรีมีความรับผิดชอบทางศีลธรรมที่จะนำจีนเข้าสู่กระแสของประชาธิปไตย ประชาวชนชาวจีนก็ต้องการเช่นนั้นด้วย” ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบตที่ถูกเนรเทศทรงบอกกับสถานีโทรทัศน์บีบีซีในการประทานสัมภาษณ์เมื่อวานนี้ (16)

“เราคิดว่าโลกเสรีมีความรับผิดชอบที่จะต้องยึดมั่นในประชาธิปไตย, หลักนิติธรรม และเสรีภาพสื่อ หรือเสรีภาพทางข้อมูลข่าวสาร ทั้งหลายเหล่านี้อย่างเลี่ยงไม่ได้”

องค์ทะไลลามะตรัสว่า พระองค์ทรงเข้าใจว่าเหตุใดผู้นำตะวันตกบางชาติจึงบ่มเพาะความสัมพันธ์ที่แนบแน่นยิ่งขึ้นกับจีน โดยทรงระบุว่ากระเป๋าสตางค์ของรัฐบาลอังกฤษนั้น “แทบจะว่างเปล่าแล้ว”

“ฉะนั้น พวกเขาจึงต้องการความใกล้ชิดกับจีนอย่างยิ่งยวด เพราะเหตุผลทางการเงิน นั่นก็สมเหตุสมผลด้วยเช่นกัน”

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอังกฤษตกต่ำลง หลังจากนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน พบกับองค์ทะไลลามะ ในปี 2012 และลอนดอนก็พยายามเรื่อยมาที่จะแก้ไขความบาดหมางดังกล่าว

องค์ทะไลลามะ องค์ที่ 14 พระองค์นี้ได้ลี้ภัยออกมาจากทิเบตในปี 1959 หลังจากการลุกฮือต่อต้านการปกครองของจีนไม่เป็นผล และได้อยู่อาศัยในอินเดียนับตั้งแต่นั้นมา

เมื่อถามว่า พระองค์จะทรงเป็นองค์ทะไลลามะองค์สุดท้ายหรือไม่ พระองค์ซึ่งปัจจุบันมีพระชันษา 79 ปี ทรงตอบว่า ขึ้นอยู่กับสภาพการณ์ต่างๆ และทรงเสริมว่า “สถาบันทะไลลามะจะสิ้นสุดลงในสักวันหนึ่ง”

“ทะไลลามะด้อยปัญญาบางคนเข้ามาละสร้างความเสื่อมเสียให้กับตัวเอง นั่นช่างน่าเศร้าใจยิ่ง ดังนั้นคงจะดีกว่าถ้าประเพณีเก่าแก่หลายศตวรรษนี้จะสิ้นสุดลงในสมัยของ ทะไล ลามะ ที่ได้รับความนิยมชมชอบ”

ภายใต้ประเพณีของทิเบต คณะสงฆ์จะระบุตัวเด็กชายที่ปรากฏให้เห็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าเขาคือปัจจุบันชาติของผู้นำองค์ที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม บรรดาพระทิเบตเกรงกลัวว่าทางการจีนอาจหาทางสอดมือมากำหนดการเลือกผู้นำทางจิตวิญญาณของพวกเขา

กรณีดังกล่าวเคยเกิดขึ้นแล้วในปี 1995 เมื่อปักกิ่งปฏิเสธผู้ที่องค์ทะไลลามะเลือกขึ้นมาเป็น ปันเชน ลามะ ผู้นำทางศาสนาลำดับสองของทิเบต และเลือกผู้กลับชาติมาเกิดด้วยตัวเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น