เอเอฟพี - ศาลสูงแดนภารตะวันนี้ (27 ส.ค.) มีคำตัดสินว่า บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีประวัติอาชญากรรมไม่สมควรจะได้รับตำแหน่งสมาชิกรัฐบาล ขณะที่รัฐมนตรีในรัฐบาลชุดปัจจุบันของอินเดียมากถึง 13 คนถูกตั้งข้อหาพยายามฆ่า ก่อเหตุจลาจล และความผิดอาญาอื่นๆ
คำพิพากษาที่ออกมาเช่นนี้ทำให้สาธารณชนพากันจับจ้องนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี และคณะรัฐมนตรี ภายหลังที่ผู้นำฝ่ายขวาซึ่งคว้าชัยในศึกเลือกตั้งปีนี้ด้วยคะแนนเสียงถล่มทลายให้คำมั่นว่าจะปกครองประเทศอย่างโปร่งใส
ศาลสูงตัดสินว่า ควรปล่อยให้ โมดี ใช้ดุลยพินิจของตนในการเลือกคณะรัฐมนตรี แต่ก็หวังว่านายกรัฐมนตรีจะทำตามความหวังของสาธารณชน และรักษาค่านิยมด้านประชาธิปไตยในอินเดีย
ผู้พิพากษา ดีภักดิ์ มิสรา กล่าวในศาลว่า “เราจะปล่อยให้นายกรัฐมนตรีใช้สติปัญญาจัดการกับเรื่องนี้ แล้วจะดูว่า คนที่มีประวัติอาชญากรรมจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีหรือไม่”
มิสรา ซึ่งเป็นประธานผู้พิพากษากล่าวว่า “ในท้ายที่สุดแล้ว ก็เป็นที่คาดหวังกันว่าผู้ที่มีประวัติอาชญากรรมจะไม่มีโอกาสได้เป็นสมาชิกคณะรัฐมนตรี”
“ในท้ายที่สุดแล้ว ก็เป็นที่คาดหมายกันว่า นายกรัฐมนตรีจะพิจารณาไต่ตรอง และไม่เลือกคนที่มีประวัติอาชญากรรม ซึ่งเป็นเขตจำนงของกฎหมายรัฐธรรมนูญ”
ศาลมีคำตัดสินเช่นนี้ ภายหลังมีผู้ยื่นคำร้องไม่ให้ส.ส.ที่มี “ประวัติอาชญากรรม” รวมถึงพวกที่ถูกตั้งข้อหา แต่ยังไม่ได้ถูกตัดสินว่าผิดจริง ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีของรัฐบาลของรัฐ และรัฐบาลกลาง
ศาลกล่าวว่า ไม่สามารถตัดสิทธิ์ส.ส.เหล่านี้จากการเป็นสมาชิกคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ถึงแม้อินเดียจะห้ามผู้ที่ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดอุกฉกรรจ์เข้ารับตำแหน่ง แต่ไม่รวมถึงพวกที่ถูกตั้งข้อหา
โมดี คว้าชัยในศึกเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคมอย่างถล่มทะลาย ด้วยการให้คำมั่นว่าจะชำระล้างรัฐบาลให้สะอาดเอี่ยม ภายหลังที่รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคคองเกรสชุดก่อนทำให้ภาพลักษณ์รัฐบาลต้องแปดเปื้อน ด้วยการการคอร์รัปชัน และตกเป็นกรณีอื้อฉาว
“สมาคมปฏิรูปประชาธิปไตย” องค์กรสอดส่องการทำงานของรัฐบาล ที่มีสำนักงานใหญ่ในกรุงนิวเดลีระบุว่า รัฐมนตรี 13 จากทั้งหมด 45 คนในรัฐบาลโมดี ล้วนถูกตั้งข้อหาจากการกระทำความผิดทางอาญา ซึ่งในจำนวนนี้มี 8 คนถูกต้องข้อหาร้ายแรง
สมาคมนี้เปิดเผยว่า อุมา ภารตี รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรน้ำและการคืนความสะอาดให้แม่น้ำคงคามีคดีติดตัวถึง 13 คดี เป็นต้นว่า ความผิดฐานพยายามฆ่า 2 กระทง และความผิดที่เกี่ยวข้องกับการก่อจลาจลอีก 6 กระทง
นิติน กัดคารี รัฐมนตรีคมนาคมและการขนส่งสินค้ามีความผิดติดตัว 4 คดีด้วยกัน ซึ่งรวมถึงความผิดฐานข่มขู่ 1 ข้อหา
กระทั่ง อมิต ชาห์ ผู้ช่วยที่โมดีไว้ใจที่สุด ซึ่งควบตำแหน่งประธานพรรคภารติยชนตะ (บีเจพี) ยังถูกตั้งข้อหาสั่งฆ่าโดยไม่เคารพกฎหมาย และกรรโชก ตั้งแต่ในสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยในรัฐคุชราต ทางภาคตะวันตกของอินเดีย
บรรดา ส.ส.กล่าวว่า ข้อหาที่พวกเขาได้รับไม่เป็นความจริง หรือไม่ก็ถูกกุขึ้นโดยคู่แข่งทางการเมืองที่ต้องการทำลายชื่อเสียงของพวกเขา
ราเกช ทวิเวดี ซึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยศาลสูงในคดีนี้ชี้ว่า คำพิพากษาได้เน้นย้ำให้นายกรัฐมนตรีคำนึงถึง ความจริงที่ว่า การแต่งตั้งนักการเมืองที่เป็นอาชญากรปกครองประเทศจะส่งผลร้ายต่อประชาธิปไตย
เขากล่าวกับเครือข่ายสถานีโทรทัศน์เอ็นดีทีวีว่า “พวกเขาควรพิจารณาถึงหลักศีลธรรมจรรยา ความเชื่อ และธรรมเนียมประเพณี”
ทั้งนี้ อินเดียเป็นประเทศที่มีประวัติการเลือก ส.ส.ที่มีประวัติอาชญากรรมเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐบาลมาช้านานแล้ว เนื่องจากประชาชนหลายล้านคนมักเทคะแนนเสียงให้ผู้แทน โดยยึดชนชั้นวรรณะและความเชื่อทางศาสนาเป็นหลัก
โดยปกติแล้ว เหล่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดทางอาญาจริง จะสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ ด้วยการอุทธรณ์คำตัดสินต่อศาลแดนภารตะซึ่งเป็นที่โจษจันในเรื่องความอืดอาดยืดยาด
อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนกรกฎาคม ปีที่แล้ว ศาลสูงมีคำพิพากษาว่า ส.ส.ที่ถูกตัดสินลงโทษจำคุกเกิน 3 ปีจะต้องถูกตัดสิทธิ์ โดยไม่คำนึงว่าพวกเขายื่นอุทธรณ์คำตัดสินสำเร็จหรือไม่
รัฐบาลชุดก่อนได้พยายามพลิกคำตัดสินดังกล่าว เนื่องจากมี ส.ส.ได้รับผลกระทบยาวเป็นหางว่าว แต่แล้วก็ต้องละความพยายาม เนื่องจากถูกสมาชิกรัฐบาลคัดค้าน และถูกสาธารณชนประณามอย่างรุนแรง