xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มสิทธิฯ ยืนยันชาวทิเบตดับ 5 ราย เหตุตำรวจกราดยิงผู้ประท้วงฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มประท้วง ถือภาพชาวทิเบตและลามะที่เผาตัวเองเพื่อประท้วงนโยบายสู่ชนชาติทิเบตของรัฐบาลจีนบริเวณสำนักงานสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ในนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2557 ทั้งนี้กลุ่มประท้วงระบุชาวทิเบต 127 คน ได้เผาตัวเองประท้วงจีน พร้อมกดดันผู้นำจีนอนุญาตสื่ออิสระเข้าไปยังทิเบต (ภาพ เอเอฟพี)
เอเอฟพี - กลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างชาติโวย ชาวทิเบตในจีนถูกยิงดับ 5 ราย หลังตำรวจระดมกระสุนใส่ชาวบ้านที่รวมตัวประท้วงการจับกุมผู้นำท้องถิ่น

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงาน (21 ส.ค.) ว่า บรรดากลุ่มรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน ทั้งในและนอกประเทศจีน พากันเปิดโปงข้อมูลของเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งล่าสุด ที่ปะทุขึ้นในถิ่นอาศัยของชนกลุ่มน้อยแดนมังกร โดยสถานีวิทยุเรดิโอ ฟรี เอเชีย (RFA) ซึ่งรับเงินทุนจากสหรัฐฯ ระบุวานนี้ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจีนเปิดฉากยิงใส่ชาวทิเบตจนมีผู้เสียชีวิต 5 คน

ด้านกลุ่มฟรี ทิเบต (Free Tibet) ซึ่งมีฐานอยู่ในอังกฤษ แถลงว่า ได้รับการยืนยันยอดผู้เสียชีวิต 3 ราย อายุระหว่าง 18-60 ปี ที่ทนพิษบาดแผลไม่ไหว โดยเหยื่อหลายรายถูกปฏิเสธการรักษาพยาบาล อย่างไรก็ดี ไม่มีการระบุรายละเอียดเกี่ยวกับเหยื่อผู้เสียชีวิตอีกสองรายอย่างชัดเจน

“การยิงปืนใส่กลุ่มผู้ประท้วง และปัญหาการรักษาพยาบาลผู้ที่ถูกจับกุมซึ่งบาดเจ็บนั้น ได้เผยถึงความเป็นจริงของสิ่งที่รัฐบาลจีนเรียกว่า 'หลักนิติธรรม' ในทิเบต”

ส่วนโครงการรณรงค์ระหว่างประเทศเพื่อชนชาติทิเบต (International Campaign for Tibet: ICT) ของสหรัฐฯ เสริมว่า พบผู้ประท้วงรายหนึ่งฆ่าตัวตายระหว่างถูกคุมขังด้วย

ทั้งนี้ ชนวนเหตุของการลุกฮือประท้วงเกิดจากเจ้าหน้าที่จีนเข้าจับกุมผู้นำท้องถิ่นของชาวทิเบต โดย ไอซีที กล่าวว่า กำลังตำรวจใช้ “กระสุนปราบจลาจล” เข้าสลายการชุมนุมในแคว้นปกครองตนเองทิเบตการ์เจ๋อ (Kardze) ของมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา อาณาเขตการ์เจ๋อ หรือกันจื่อในภาษาจีนกลาง เช่นเดียวกับเขตปกครองตนเองซินเจียงของชาวมุสลิมอุยกูร์ ต้องผจญกับปัญหาความไม่สงบอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งนักสิทธิมนุษยชนต่างตำหนิว่าเป็นเพราะการกดขี่ข่มเหงทางวัฒนธรรมและศาสนาของทางการจีน โดยตั้งแต่ปี 2552 เกิดการ “จุดไฟเผาตัวเอง” ของชาวทิเบต เพื่อประท้วงอำนาจรัฐบาลกลาง อย่างน้อย 120 ราย

ฝั่งคณะผู้นำจีนก็โต้แย้งเรื่องดังกล่าว พร้อมชี้แจงว่า การดำเนินนโยบายต่างๆ ทั้งในทิเบตและซินเจียง เป็นไปตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อขจัดความยากจนข้นแค้นของประชาชนท้องถิ่น ส่วนประเด็นการนับถือศาสนาก็ให้เสรีภาพเปิดกว้างมากขึ้นแล้ว

กำลังโหลดความคิดเห็น