เอเจนซี - ตำรวจจีนสังหารคนร้ายดับ 13 ศพ หลังบุกโจมตีสถานีตำรวจในซินเจียง
ซินหวา สื่อทางการจีน อ้าง (21 มิ.ย.) ข้อมูลจากเว็บไซต์รัฐบาลท้องถิ่นมณฑลซินเจียง (ts.cn) ระบุ เจ้าหน้าที่ตำรวจวิสามัญฆาตกรรมกลุ่มคนร้าย 13 ราย ที่ลอบโจมตีสถานีตำรวจท้องถิ่นแห่งหนึ่ง เมื่อช่วงเช้าวันเสาร์ที่ผ่านมา
“แก๊งคนร้ายได้ขับยานพาหนะบุกรุกเข้าไปพื้นที่สำนักพิทักษ์สันติราษฎร์เขตเย่เฉิง ก่อนจะจุดระเบิดสร้างความเสียหายบริเวณอาคาร” เว็บไซต์ฯ กล่าว
อย่างไรก็ดี ไม่มีรายงานพลเรือนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต มีเพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจสามนายที่ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยระหว่างการปะทะ
ก่อนหน้านี้ในปี 2555 เขตเย่เฉิงของเมืองคัชการ์ ซึ่งอยู่ใกล้เขตชายแดนจีน-ปากีสถาน ก็เกิดเหตุคนร้ายใช้มีดดาบไล่ฟันผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต 13 ราย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้วิสามัญฯ ผู้ก่อเหตุเจ็ดรายเสียชีวิตทั้งหมด
อนึ่ง เขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์ มณฑลซินเจียง ทางจีนตะวันตกเฉียงเหนือ อันเป็นถิ่นฐานของชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ราว 9 ล้านคน ที่พูดภาษาเตอร์กิกและนับถือศาสนาอิสลาม ต้องผจญกับความไม่สงบอยู่บ่อยครั้ง โดยทางการอ้างว่าเป็นฝีมือของพวกหัวรุนแรงทางศาสนาที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนไปสถาปนา “เตอร์กิสถานตะวันออก” (East Turkestan) รัฐอิสระของตนเองขึ้น
ดังเช่นเมื่อเดือน พ.ค. ชาวบ้าน 39 ราย ต้องจบชีวิตจากเหตุระเบิดพลีชีพกลางตลาดสดนครอูรุมชี เมืองเอกของซินเจียง ขณะที่เดือน เม.ย. ก็เกิดเหตุคนร้ายปาระเบิดและไล่ฟันผู้บริสุทธิ์ในสถานีรถไฟอูรุมชี จนมีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บกว่า 79 คน
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลแดนมังกรจึงดำเนินมาตรการปราบปรามและลงโทษผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง โดยไม่กี่สัปดาห์ก่อน เจ้าหน้าที่ซินเจียงได้จับกุมและสอบสวนผู้ต้องสงสัยหลายสิบราย จากกรณีเผยแพร่เนื้อหาข้อมูลเกี่ยวกับลัทธิสุดโต่ง ครอบครองอาวุธต้องห้าม และอาชญากรรมอื่นๆ
นอกจากนั้นต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ยังได้พิพากษาประหารชีวิตนักโทษหลายสิบรายสำหรับความผิดฐานก่อการร้ายในซินเจียง และอีกสามรายจากกรณีโจมตีจัตุรัสเทียนอันเหมิน ศูนย์กลางนครหลวงปักกิ่ง ในปลายปีก่อน
ขณะเดียวกันปัจจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ และชัยภูมิที่ตั้งอยู่บนเขตแดนเอเชียกลาง ก็เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ซินเจียงตกอยู่ในความยุ่งวุ่นวายตลอดมา แต่บรรดานักสิทธิมนุษยชนและชาวอุยกูร์พลัดถิ่นก็แย้งว่าเป็นเพราะนโยบายกดขี่ข่มเหงประชาชน โดยเฉพาะชาวอุยกูร์ ที่เป็นฉนวนเหตุก่อความไม่สงบขึ้นมาต่างหาก
“มาตรการต่างๆ อาจยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง จึงเป็นอีกครั้งที่ผมอยากกระตุ้นให้จีนหยุดการกดขี่ข่มเหง และปรับเปลี่ยนนโยบายที่สร้างความโกรธแค้นนี้” Dilxadi Rexiti โฆษกของสภาอุยกูร์โลก องค์กรของชาวอุยกูร์พลัดถิ่น กล่าว