เอเจนซีส์ - เกิดเหตุคนร้ายจำนวนระหว่าง 1 ถึง 4 คน ใช้มีดยาวครึ่งเมตรไล่ทำร้ายคนในสถานีรถไฟนครกว่างโจว เมืองเอกของมณฑลกวางตุ้งเมื่อวันอังคาร (6 พ.ค.) ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 6 ราย นับเป็นเหตุการณ์โจมตีพลเรือนบริเวณสถานีรถไฟรอบที่ 3 ในระยะเวลา 2 เดือนกว่าเล็กน้อย ซึ่งเกิดขึ้นในแดนมังกร และกำลังเขย่าขวัญชาวจีนทั่วประเทศ โดยสองครั้งแรกนั้นปักกิ่งกล่าวหาว่า เป็นฝีมือกลุ่มก่อการร้ายในเขตซินเจียง
สื่อมวลชนของจีนรายงานว่า คนร้ายซึ่งก่อเหตุคราวนี้น่าจะมีจำนวนถึง 4 คน โดยพวกเขาอยู่ในชุดขาว และใส่หมวกสีขาว—อันเป็นสิ่งที่ชาวมุสลิมมักสวมใส่กัน อย่างไรก็ตาม ทางการตำรวจแถลงในเวลาต่อมาว่า ผู้ก่อเหตุมีเพียงคนเดียว อีกทั้งไม่ได้ให้รายละะอียดเครื่องแต่งกายใดๆ
ตำรวจกว่างโจว ยังระบุเอาไว้ในแอกเคานต์ทางการของตนบน “ซิน่า เว่ยโป๋” ซึ่งก็คือ “ทวิตเตอร์” เวอร์ชันแบบจีน ว่า ผู้ต้องสงสัยผู้นี้ถูกยิงได้รับบาดเจ็บ และถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลแล้ว เช่นเดียวกับเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายทั้งหมด พร้อมกับยืนยันว่า ผู้ถูกทำร้ายไม่มีรายใดเป็นชาวต่างประเทศ
ถึงแม้ตำรวจไม่ได้ระบุแรงจูงใจของเหตุการณ์นี้ แต่ความหวาดหวั่นเกี่ยวกับความก้าวร้าวของกลุ่มหัวรุนแรงชาวมุสลิมในจีน กำลังแพร่สะพัดออกไปนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รถยนต์คันหนึ่งขับพุ่งชนกลุ่มนักท่องเที่ยวที่บริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมิน กลางกรุงปักกิ่ง เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว
จากนั้นในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุกลุ่มคนร้ายใช้มีดไล่ฟันแทงผู้คนในสถานีรถไฟของเมืองคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลหยุนหนาน ทางภาคใต้ของแดนมังกร ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 29 คน และบาดเจ็บ 143 คน
เมื่อเย็นวันพุธสัปดาห์ที่แล้ว (30 เม.ย.) มีคนร้ายใช้มีดไล่ฟันแทงผู้คนเกิดขึ้นอีก โดยคราวนี้มีการใช้ระเบิดเข้าโจมตีด้วย เหตุเกิดที่สถานีรถไฟของเมืองอุรุมชี เมืองเอกของเขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์แห่งซินเจียง ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ทำให้คนร้าย 2 คนและพลเรือนคนหนึ่งเสียชีวิต และมีผู้บาดเจ็บ 79 คน
ทางการปักกิ่งระบุว่า กลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่งทางศาสนาในหมู่ชาวมุสลิมอุยกูร์ ซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ในซินเจียง เป็นผู้ก่อเหตุโจมตีเหล่านี้ รวมทั้งเรียกคนพวกนี้ว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย” ซึ่งมุ่งก่อความรุนแรงอันสยดสยองเพื่อผลักดันให้ซินเจียงแยกตัวออกเป็นรัฐเอกราชที่จะใช้ชื่อว่ารัฐเตอร์กิสถานตะวันออก
ขณะที่ชาวอุยกูร์ที่อพยพลี้ภัยไปอยู่ต่างแดนและกลุ่มสิทธิมนุษยชนของฝ่ายตะวันตกกล่าวว่า สาเหตุที่แท้จริงของความไม่สงบในซินเจียงคือ นโยบายปิดกั้นชาวมุสลิมอุยกูร์ ทั้งด้านศาสนาวัฒนธรรม, เศรษฐกิจ และการเมือง
เหตุโจมตีที่อุรุมชี เกิดขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เพิ่งเสร็จสิ้นการเดินทางตรวจเยี่ยมพื้นที่ดังกล่าวในวันเดียวกัน และผู้นำจีนประกาศใช้ “มาตรการเด็ดขาด” กวาดล้างการก่อการร้าย
สำหรับการโจมตีล่าสุดที่กว่างโจวนั้น หนังสือพิมพ์หนานฟาง เดลี่ ซึ่งตั้งฐานอยู่ทางภาคใต้ของจีนรายงานว่า ตำรวจกว่างโจวรีบรุดถึงที่เกิดเหตุภายในเวลาไม่กี่นาที และเริ่มยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อเตือน ก่อนที่จะยิงผู้ต้องสงสัยคนหนึ่งที่ถือมีดในมือ ขณะที่ผู้ต้องสงสัยอีกคนถูกตำรวจจับกุมได้หลังจากพยายามหลบหนี
ทางด้านหนังสือพิมพ์กว่างโจว เจอร์นัลรายงานบน ซิน่า เว่ยโป๋ ว่า ผู้โจมตีถือมีดยาวครึ่งเมตร สวมชุดขาวและหมวกขาวแบบที่ชาวมุสลิมนิยมสวม และเริ่มโจมตีเมื่อขบวนรถไฟจากคุนหมิงเดินทางมาถึง
ยังมีสื่อบางสำนักรายงานไว้ในแอคเคาต์เว่ยโป๋ของตนว่า ผู้โจมตีมีทั้งหมด 4 คน
ภาพที่นำออกเผยแพร่บนเว็บไซต์สื่อสังคมต่างๆ ของจีน ได้ถูกนำไปเผยแพร่ต่ออย่างกว้างขวาง โดยที่ผู้ชมจำนวนมากแสดงความตระหนกตกใจและความโกรธเกรี้ยว
ภาพหนึ่งบนเว่ยโป๋ แสดงให้เห็นชายผู้หนึ่งซึ่งเสื้อเชิร์ตมีรอยเลือดเป็นด่างดวง กำลังถูกชาย 3 คนนำออกไปจากสถานี ท่ามกลางการเฝ้ามองของผู้ผ่านไปมา
อีกภาพหนึ่งแสดงให้เห็นฝูงชนจำนวนหลายร้อยคน ชุมนุมกันอยู่ด้านนอกของสถานีซึ่งเป็นจัตุรัสใหญ่ และถูกตำรวจปิดกั้นเอาไว้ ขณะที่เจ้าหน้าที่หน่วยฉุกเฉินลำเลียงคนเจ็บขึ้นรถพยาบาล
ทางด้าน หวา ชุนอิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ปฏิเสธที่จะคาดการณ์ว่า กลุ่มใดอยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีในกว่างโจว แต่ประกาศว่า ผู้ใดก็ตามที่ก่อความรุนแรงและไม่ว่าด้วยเหตุผลใด จะถูกนำตัวมาดำเนินคดีในความผิดทางอาญา
สำหรับ แดเนียล รัสเซลล์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกแลแปซิฟิก ซึ่งกำลังเยือนฮ่องกง กล่าวถึงเหตุการณ์โจมตีที่กว่างโจวว่า รู้สึกตกใจ เจ็บแค้น และเห็นอกเห็นใจ และสำทับว่า วอชิงตันต่อต้านการก่อการร้ายทุกรูปแบบและขอประณามการโจมตีนี้ ซึ่งเป็นการก่อการร้ายตามข้อมูลที่เปิดเผยโดยทางการจีน
ส่วน โรฮัน กุนารัตนา อาจารย์ภาควิชาความมั่นคงศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางในสิงคโปร์ ตั้งข้อสังเกตว่า ความรุนแรงในซินเจียงกำลังยกระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและกำลังลุกลามไปยังพื้นที่อื่นๆ ในจีน
ขณะที่ เหมา โชวหลง อาจารย์คณะบริหารรัฐกิจและนโยบายรัฐ มหาวิทยาลัยเหรินหมินในกรุงปักกิ่ง มองว่า มีแนวโน้มที่ทางการจีนจะเพิ่มมาตรการ “ระวังภัย” ทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นบททดสอบสำคัญสำหรับปักกิ่ง โดยจะต้องมีการปราบปรามลัทธิก่อการร้ายอย่างเด็ดขาดควบคู่ไปกับการบังคับใช้นโยบายต่างๆ เพื่อขจัดความกลัวและความเคลือบแคลงสงสัยที่มีต่อชาวอุยกูร์โดยรวม