xs
xsm
sm
md
lg

“เห็นมั้ย?บัวลอย” งานใหม่จาก “แอ๊ด คาราบาว”...เมื่อบุญเก่าจากบัวลอยก็ช่วยอะไรไม่ได้/บอน บอระเพ็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : บอน บอระเพ็ด (skbon109@hotmail.com)
ปกหน้าอัลบั้ม เห็นมั้ย?บัวลอย
“บัวลอยเจ้าเพื่อนยาก ทําไมจากข้าเร็วเกินไป บัวลอยไปอยู่ที่ไหน เคยรู้บ้างไหมโหนกคิดคํานึง ถึงบัวลอย”

เพลง “บัวลอย” : คาราบาว

บัวลอย(ถึกควายทุยภาค 5) คือหนึ่งใน(อดีต)เพลงดังก้องฟ้าเมืองไทยอันสุดคลาสสิกของวง“คาราบาว” เพลงนี้ถูกบรรจุไว้ในอันดับสุดท้าย(เพลงที่ 10)ในอัลบั้มชุดสุดยอดของวงหัวควายคือ “เมดอินไทยแลนด์”(พ.ศ. 2527)

บัวลอยเป็นหนึ่งในบทเพลงซีรีย์ถึกควายทุยของคาราบาวที่มีทั้งหมด 10 ภาค ก่อนจะสิ้นสุดแบบหายไปดื้อๆในชุด“ห้ามจอดควาย”(2533)

พูดถึงเพลงบัวลอยแล้ว สมัยก่อนเวลาวงหัวควายแสดงคอนเสิร์ตเล่นเพลงนี้ขึ้นมาทีไร วัยรุ่นมักจะเมามันจนต้องยกพวกตีกัน เกิดเป็นธรรมเนียมตีกันในเพลงบัวลอยขึ้น ทำให้ตอนหลังเวลาเล่นคอนเสิร์ตคาราบาวต้องเก็บบัวลอยไว้เล่นเป็นเพลงสุดท้ายปิดคอนเสิร์ต

บัวลอยเป็นตัวละครที่ “แอ๊ด คาราบาว” สร้างขึ้นมาในโลกแห่งเสียงเพลงได้อย่างมีชีวิต(บางคนก็บอกว่าน้าแอ๊ดแต่งเพลงบัวลอยมาจากเรื่องจริง มีตัวตนจริง) ซึ่งด้วยความโด่งดังและความคลาสสิกของเพลงบัวลอย คาราบาวจึงมีการรำลึกพูดถึงบัวลอยต่ออีกในเพลง “มะโหนก”(ถึกควายทุยภาค 6)ในชุด “อเมริโกย” (2528) และในเพลง “ถึกควายทุยภาค 7” จากชุด“ประชาธิปไตย”(2529) ที่แม้จะเป็นเพลงช้าๆเพราะๆ แต่เนื้อนั้นหนักแรง จะเล่นกันถึงตายทีเดียว

นอกจากนี้ในอัลบั้มชุดพิเศษ “หนุ่มบาว สาวปาน”(2548) ที่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างวงคาราบาวกับ “ปาน-ธนพร แวกประยูร” ก็ได้ต่อยอดเพลงรำลึกบัวลอยผ่านเพลง “บัวผัน” โดยการสร้างตัวละครใหม่ขึ้นมา คือ “บัวผัน ภรรยาบัวลอย” ที่ให้ปานมาร้องถ่ายทอดแบบรำพันพร่ำบ่น สะท้อนวิถีความเป็นไปของยุคสมัย โดยเฉพาะพ่อ-แม่ที่ต้องเลี้ยงลูกในยุคที่สังคมโลกเปลี่ยนไป อุดมไปด้วยเทคโนโลยี แต่ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของคนกลับถดถอยลง

มาวันนี้บัวลอยถูกน้าแอ๊ด คาราบาว นำมาพูดถึงอีกครั้งในอัลบั้มใหม่ของเขา “เห็นมั้ย?บัวลอย” ที่หลังจากปล่อยซิงเกิ้ลออกมาได้สักพักก็ส่งอัลบั้มเต็มออกมามีทั้งหมด 11 เพลงด้วยกัน

อัลบั้มชุดนี้น้าแอ๊ดหลังได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติเมื่อปีที่แล้ว(ปี 56) แกมาในลุคที่ดูเป็นวัยรุ่นขึ้น ก็ไม่รู้ว่าจะแข่งหล่อกับหลายชายคนดัง “ตูน บอดี้แสม” หรือเปล่า(ฮา)

เห็นมั้ย?บัวลอยมาในปกตัวการ์ตูนรูปแอ๊ด คาราบาว มือซ้ายถือกีตาร์ มือขวาแบกจอบ ออกแบบโดย “อาจารย์เก๋ ลพบุรี” มีแบ็คกราวน์เป็นเสื้อทหารบัวลอย และมีตัวหนังสือสีเหลืองสะดุดตากับข้อความ “หกสิบปีที่เป็นยืนยง สามสิบปีที่เป็น แอ๊ด’ บาว ยังจะเอาอะไรอีก” (ที่มาจากข้อความเวอร์ชั่นเต็มอยู่ในปกใน)
แอ๊ด คาราบาวมาในชุดนี้กับลุคที่ดูวัยรุ่นขึ้น
เห็นมั้ย?บัวลอยเปิดตัวกันด้วยเพลงชื่อเดียวกับอัลบั้มคือ “เห็นมั้ยบัวลอย” ที่พูดถึงถึงมะเร็งร้ายของเมืองไทย คือปัญหาคอรัปชั่นที่บ้านนี้เมืองนี้มีการโกงกินกันอย่างสุดโต่ง อีกทั้งยังกลายเป็นค่านิยมชื่นชมในการชัก หักหัวคิว กันบานตะเกียง

เพลงนี้มีการนำทำนองเพลงบัวลอยมาเล่นนำเปิดเพลง รวมถึงมีการหยิบยกบัวลอย(ตัวละครที่ตายไปแล้วในเพลง)มาอ้างอิงแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย แต่หากใครที่เป็นแฟนเพลงคาราบาวหรือเคยฟังเพลงบัวลอยก็จะเข้าใจในสื่อเจตนาของน้าแอ๊ดได้ดี

วางดาบ” เพลงร็อกมันๆเนื้อหาออกแนวปรัชญาพูดถึงการปล่อยวาง ลดกิเลส ตามแนวทางของปราชญ์ดัง อย่างขงจื้อ ทะไลลามะ พร้อมกับมีเนื้อหาภาษาสวยๆที่ยังไว้ลายความเป็นแอ๊ด คาราบาว อยู่บ้างในท่อนฮุคที่ร้องว่า “วางดาบ วางใจ วางตนร่นถอยเป็นธรรมดา วางดาบในอุเบกขา เป็นอยู่ธรรมดา ล้ำค่ากว่าสิ่งใดๆ...”

กระเสียว” เป็นโฟล์คฟังสบายในกลิ่นอารมณ์เพลงนิว ยัง(Neil Young) ที่ในชุดหลังๆ น้าแอ๊ด แกทำเพลงสไตล์นี้ออกมาอยู่หลายเพลงด้วยกัน เพลงนี้แม้ท่วงทำนองจะออกซ้ำรอยเดิมๆ แต่เนื้อหาใช้ได้ทีเดียว เป็นการมองธรรมชาติที่เขื่อนกระเสียว สุพรรณบุรี แล้วถ่ายทอดแบบรำพึงรำพันออกมาเป็นบทเพลงแบบคนแก่เข้าใจโลก แต่น่าเสียดายตรงที่บางท่อนน้าแอ๊ดแกร้องเสียงหลง ทำสะดุดอารมณ์อยู่พอตัว

ต่อกันด้วย “กรุงเทพเมืองเถื่อน” คันทรีร็อกโจ๊ะๆ เล่าถึงกรุงเทพฯเมืองหลวง เมืองท่องเที่ยวระดับโลก ที่ภายใต้ความศิวิไลซ์นั้นมีความเถื่อน อันตรายหลายรูปแบบแฝงอยู่ เออ ว่าแต่ผมฟังเพลงนี้แล้วกลับอดนึกถึงหม่อมสุขุมพันธ์ไม่ได้

มูซาชิ” ต้องยอมรับว่าพักหลังน้าแอ๊ดแกมักจะหยิบบุคคลสำคัญต่างๆทั้งในประวัติศาสตร์ ในหนังสือมา ในนวนิยายมาบอกเล่าผ่านบทเพลง เพลงนี้เป็นการหยิบเรื่องของ “มิยาโมโต มูซาชิ” ยอดซามูไรชื่อดังแห่งแดนอาทิตย์อุทัยมาถ่ายทอด เนื้อหาแฝงข้อคิดสอนใจดีทีเดียว ขณะที่ภาคดนตรีนั้นก็เด่นไปด้วยกลิ่นอายของความเป็นญี่ปุ่นฟังถึงอารมณ์ แต่ก็มีเรื่องให้สะดุดอารมณ์เหมือนเดิมกับการร้องเสียงหลงในบางท่อนของน้าแอ๊ด
รายชื่อทีมผู้ร่วมงานในชุด เห็นมั้ย?บัวลอย
อยากได้ยิน” เพลงบัลลาดช้าๆ เสียงเปียโนที่เล่นเป็นตัวหลักยืนพื้นนั้นพลิ้วฟังเพลินมาก เนื้อเพลงนี้ออกแนวอุดมคตินิดๆ แต่น้าแอ๊ดแกเขียนได้ซึ้งและถึงเหมือนน้าแอ๊ดในสมัยรุ่งๆ มีวรรคดีๆ เนื้อหาภาษาสวยๆอย่างเช่น “...เพราะในใจเรานั้นไม่ได้ยินใจเขา และในใจเขาก็หาได้ยินใจเรา ถ้าใจคนล่วงรู้ใจกัน ร่วมแบ่งปันทุกข์ความสุขจะไม่ไกล...”

เพลงนี้ผมยกให้เป็นเพลงที่ดีที่สุดในอัลบั้ม เพราะนอกจากตัวเพลงจะเพราะ เนื้อหาภาษาดีอย่างที่กล่าวมาแล้ว น้าแอ๊ดแกร้องเพลงนี้ได้ดี ไม่มีเสียงหลง นี่ถือเป็นเพลงที่อยากได้ยินจากน้าแอ๊ดในยุคหลังๆเป็นอย่างยิ่ง เพราะเดี๋ยวนี้หางานเขียนเพลงดีๆจากน้าแอ๊ดได้ยากเต็มที

พะยุง” เป็นการจับสถานการณ์ไม้พยุงที่โดนคนลักลอบตัดมากมายในบ้านเรามาบอกเล่า กีตาร์โซโลในเพลงนี้เล่นเสียงแตกๆดิบๆฟังเด่นทีเดียว

ถัดมาเป็น “เหมือนเดิม” มาในจังหวะสโลร็อกเจือกลิ่นบลูส์กับเนื้อหาแต่งร้อยเรียงเรื่องราวเก่าของหลวงพ่อประจักษ์ที่ต่อสู้เรื่องป่าไม้จนต้องติดคุกติดตะราง มาถึงวันนี้หลวงพ่อประจักษ์เหมือนเกิดใหม่ มีสำนักสงฆ์ที่ใหม่ แต่ยังคงดำรงวิถีอนุรักษ์เหมือนเดิม ขณะที่เสียงร้องของน้าแอ๊ดในเพลงนี้ก็ยังคง(โคตร)หลงเหมือนเดิม นับเป็นอีกหนึ่งเพลงที่น่าเสียดายมาก เพราะภาษาเนื้อหานั้นใช้ได้ ดนตรีดี ทำนองฟังไพเราะในแบบแอ๊ด คาราบาว แต่น้าแกดันร้องหลง ร้องเพี้ยน ฟังน่าอึดอัด ชนิดกว่าจะฟังจบเพลงต้องลุ้นกันเหนื่อย

อาจารย์เสก” สำหรับผมนี่คือ 1 ใน 2 ของเพลงห่วยประจำอัลบั้ม เป็นการแต่งเพลงอวย อ.เสกสรรค์ ประเสิรฐกุล กันแบบเยอะไปหน่อย เพลงนี้มันจึงออกมาในลักษณะดนตรีประกอบการเขียนยำเยินยอ อ.เสกสรรค์ของน้าแอ๊ดมากกว่า ซึ่งใครที่ติดตามข้อมูลข่าวสารจะพบว่าพักหลัง อ.เสกสรรค์แกมีแนวคิดเช่นใด มันเป็นจริงตามเนื้อเพลงที่แต่งอวยเว่อร์กันหรือเปล่า(นี่ยังดีนะที่ชุดนี้มีแค่เพลงที่น้าแอ๊ดแกแต่งอวย อ.เสก(สรรค์)คนเดียว เพราะถ้าขืนแกเกิดใส่แต่งชมบัก“เสก เมายา” เข้ามาด้วย งานนี้คงมีใครบางคนได้ยินได้ฟังแล้วอาจอ้วกพุ่งกันบ้างล่ะ)

ตี่จู้เอี้ยะ” เป็นการจับเรื่องตี่จู้ เจ้าที่เจ้าทางหรือเทพอารักษ์ในภาษาจีน ที่มาช่วยปกป้องแผ่นดินไทย พร้อมกับโยงไปถึงวิถีเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวง และการทำหน้าที่ให้ดีที่สุดว่าเป็นสิ่งกันภัยที่ดีที่สุดของเรา

ปิดท้ายกันกับ “นาวารัฐบุรุษ” ที่ผมยกให้เป็นอีกหนึ่ง(ในสอง)เพลงห่วยประจำอัลบั้ม เพลงนี้แสดงความเป็นเสือปืนไวของน้าแอ๊ด เพราะหลังคสช.ยึดอำนาจได้ไม่ดี่วัน น้าแอ๊ดก็แต่งเพลงนี้ออกมา กับเนื้อหาว่านาวาคุณสมชายจะพาประเทศไปได้แค่ไหน ถ้าสามารถเปลี่ยนประเทศไปในทางที่ดีได้ก็เป็น รัฐบุรุษ

หลายคนบอกไม่รู้ว่าน้าแอ๊ดจะรีบแต่งเพลงนี้ออกมาทำไม เพราะงานที่ออกมาหยาบมาก เนื้อหาฟังไม่ลงตัว ดนตรีก็ขาดเสน่ห์ แถมยังทำออกมาแบบเร่งรีบสุกเอาเผากิน แต่ที่ฟังแล้วสัมผัสได้ก็คือเพลงนี้ออกไปในทางอวยหัวหน้าคสช.ที่วันนี้ได้เป็นนายกรัฐมนตรีไปเรียบร้อยแล้ว

กับเพลงนี้ถือได้ว่าน้าแอ๊ดเป็นเสือปืนไวที่กระสุนด้าน เพราะแต่งออกมาแล้วถูกคนด่ามากกว่าคนชม แต่อย่างไรก็ตามก็มีอีกหลายคนบอกว่านี่แหละคือจุดยืนน้าแอ๊ด ครับเท็จ-จริงอย่างไร ใครอยากรู้ลองศึกษางานของน้าแอ๊ดในอดีตกันเอาเองแล้วกัน
ปกหลังอัลบั้ม เห็นมั้ย?บัวลอย
และนั่นก็คือ 11 บทเพลงในอัลบั้ม เห็นมั้ยบัวลอย ผลงานอัลบั้มเดี่ยวชุดใหม่ล่าสุดของ “แอ๊ด คาราบาว” หรือ “ยืนยง โอภากุล” ที่งานภาคดนตรีในอัลบั้มชุดนี้ ทำออกมาฟังแกนๆ ท่วงทำนองเดิม ๆดนตรีเดิมๆ นับว่าน่าเสียดายที่ในช่วงหลังๆทั้งในงานเดี่ยวและงานในนามวงคาราบาว น้าแอ๊ดแกเคยพยายามฉีกไปทำดนตรีคันทรีร็อก โฟล์คร็อก เสียงใสๆ ที่ทำออกมาได้ดี ละมุน มีเสน่ห์ น่าฟัง แต่ในชุดนี้กับไม่มีทางดนตรีเพราะๆแบบนั้นให้ฟังกัน

ส่วนงานภาคเนื้อเพลง ในส่วนของเนื้อหานั้น แม้ฟังไม่มีอะไรใหม่(สำหรับน้าแอ๊ด) แต่ในมุมมองแฝงปรัชญา คารวะต่อธรรมชาติ อย่างเพลง วางดาบ กระเสียว อยากได้ยิน มูซาชิ น้าแกทำออกมาได้ดีทีเดียว เป็นมุมมองที่ค่อนข้างลุ่มลึกของคนผ่านโลก

ขณะที่สิ่งถือว่าเป็นจุดเด่นของอัลบั้มนี้ก็คือ ภาษา ถ้อยคำ สำนวน ในเนื้อเพลง ที่ในหลายเพลงน้าแอ๊ดเขียนเพลงใช้ภาษาได้สวย รื่นไหล มีสัมผัสสวยงาม แม้จะไม่ยอดเยี่ยมเหมือนในยุครุ่งโรจน์ แต่นี่ก็ยังเป็นการไว้ลายยอดฝีมือในการเขียนเพลงแบบแอ๊ด คาราบาวได้ดีทีเดียว เพราะในพักหลัง ดูเหมือนน้าแอ๊ด แกพยายามจะเขียนเพลงแบบร่วมสมัย เป็นกลอนเปล่า ไม่มีสัมผัส ซึ่งค่อนข้างแป้ก เพราะไม่ใช่ทางถนัดของแก

อย่างไรก็ดีในจุดเด่นของชุดนี้ดังที่กล่าวมานั้น มันได้ถูกทำลายโดยจุดด้อยสำคัญ นั่นก็คือ เสียงร้อง การร้องเพลงของน้าแอ๊ด ที่บางเพลงร้องเพี้ยน เสียงสูงดันขึ้นไปไม่ถึง หลายเพลงร้องเสียงหลง
เพี้ยน โดยเฉพาะในเพลงเหมือนเดิมที่งานเพลง ดนตรี เนื้อหา เนื้อร้อง ทำออกมาค่อนข้างดี แต่ด้วยเสียงร้องที่โคตรหลงได้ทำลายคุณค่าของเพลงไปมากโข ส่วนใน 2 เพลงที่ผมถือเป็นเพลงห่วยประจำอัลบั้ม คือ “อาจารย์เสก” กับ “นาวารัฐบุรุษ” นั้นก็ต้องถือว่าเสียของ

สำหรับอัลบั้มเห็นมั้ย?บัวลอยโดยรวมก็แล้วต้องบอกว่า เป็นงานเพลงที่ไม่มีอะไรโดดเด่น จะฟังหรือไม่ฟังก็ได้ เพราะนี่เป็นงานเพลงธรรมดาๆ ตามมาตรฐานการทำเพลงของน้าแอ๊ดที่ลุ้นไม่ขึ้น ถึงแม้จะใช้บุญเก่าไปเรียกวิญญาณบัวลอยกลับมาเป็นตัวชูโรง มันก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ เพราะงานเพลงมันเป็นการสะท้อนในสิ่งที่ทำออกมา ซึ่งบางทีผมคิดว่าน้าแอ๊ดแกไม่จำเป็นต้องทำอัลบั้มออกมาถี่ ไม่ต้องเกาะอาศัยสถานการณ์แล้วทำเพลงสั่วๆสุกเอาเผากินออกมา แต่ระดับแกควรตกผลึกคัดแต่เพลงดีๆ เนื้อหาดีๆ ดนตรีดีๆ รวมถึงร้องในโทนเสียงธรรมชาติของแกที่ฟังสบายไม่มีเสียงหลง นั่นก็จะเป็นจะถือเป็นงานที่ทรงคุณค่าน่าฟัง

แต่ประทานโทษ!!! ผมไม่ได้เจองานดีๆจากน้าแอ๊ดมานานมากแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น