หลายคนคงเคยเจอปัญหาเจ็บปวดตามส่วนต่างๆ ของร่างกายเมื่อเริ่มต้นออกกำลังกาย ซึ่งควรระมัดระวัง เพราะในไม่ช้า อาการเจ็บปวดเล็กๆน้อยๆเหล่านี้ อาจจะกลายเป็นอาการบาดเจ็บขั้นรุนแรง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการวิ่ง เต้นแอโรบิค หรือเล่นกีฬาที่คุณชอบ
มาดูกันว่า อาการเจ็บปวดตามร่างกายส่วนไหนที่เป็นอันตรายไม่มากนัก และส่วนไหนที่ไม่ควรชะล่าใจ และต้องรีบรักษาโดยด่วน
• ส่วนที่มีความเสี่ยงสูง
เจ็บสะโพก
อาการเจ็บปวดบางอย่าง อาจรอดูอาการสัก 1-2 วันได้ แต่อาการบาดเจ็บที่สะโพก รอไม่ได้ และหากยังฝืนทำกิจกรรมนั้นซ้ำๆ อาจทำให้ข้อต่อสะโพกบวมอักเสบ จนรู้สึกเจ็บสะโพกและก้น
ทั้งนี้ อาการเจ็บสะโพกที่น่ากังวล ซึ่งมักเกิดขึ้นทั้งในสตรีวัยสาวและวัยใกล้หมดประจำเดือน ที่ชอบวิ่งออกกำลังกายระยะทางไกล คือ อาการเจ็บบริเวณขาหนีบที่เพิ่มขึ้นตลอดการวิ่ง อันอาจเป็นสัญญาณของภาวะกระดูกหักล้า ซึ่งควรได้รับการตรวจโดยศัลยแพทย์กระดูกและกล้ามเนื้อ เพราะอาจจำเป็นต้องผ่าตัด
• ส่วนที่มีความเสี่ยงปานกลาง
เจ็บไหล่
เมื่อต้องยกกระเป๋าสัมภาระขึ้นวางบนที่สูงในขณะเดินทาง อาจเป็นสาเหตุให้กลุ่มกล้ามเนื้อรอบข้อไหล่ตึงตัวหรือบาดเจ็บ เนื่องจากถูกกระดูกหัวไหล่กดทับ รวมถึงการที่ข้ออักเสบหรือข้อต่อที่หัวไหล่อักเสบ ก็อาจทำให้เจ็บไหล่ได้เช่นกัน
การใช้น้ำแข็งประคบ และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องยกมือเหนือศีรษะ จะช่วยแก้อาการบาดเจ็บที่ไม่รุนแรงได้
แต่หากรู้สึกเหมือนข้อไหล่หลุดออกจากเบ้า หรือเกิดอาการบวมมาก อาจเป็นเพราะกล้ามเนื้อฉีก หรือบาดเจ็บอย่างรุนแรง ซึ่งต้องให้แพทย์ตรวจเช็คอย่างละเอียด
ปวดเข่า
อาการปวดเข่าเฉียบพลันอาจเกิดจากการเคลื่อนไหวที่ผิดจังหวะ หรือค่อยๆก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ จนคุณได้ยินเสียงดังแกร๊กในเข่าขณะนั่งขัดสมาธิ นั่งยองๆ ขึ้นบันได หรือทุกครั้งที่งอเข่า ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า อาการบาดเจ็บที่เข่าส่วนใหญ่ มีน้อยมากที่จะเป็นกรณีฉุกเฉิน ตัวอย่างเช่น อาการปวดเข่าขณะเดินลงบันได มักเกิดจากกระดูกอ่อนในข้อเสื่อม จึงควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ต้องจู่โจมและนั่งยองๆ ก็จะช่วยคลายอาการเจ็บเข่าได้
อย่างไรก็ตาม หากได้ยินเสียงดังก๊อกขณะบาดเจ็บ ให้สังเกตว่ามีอาการบวมที่ข้อเข่า หรือรู้สึกเข่าอ่อนหรือไม่ ซึ่งเป็นอาการของเอ็นฉีก ที่ต้องพบแพทย์โดยด่วน
ปวดบริเวณเอ็นร้อยหวาย
กิจกรรมใดๆที่ใช้แรงปะทะอย่างหนัก อาจเป็นสาเหตุของอาการปวดบริเวณเอ็นร้อยหวาย ซึ่งเป็นเอ็นกล้ามเนื้อที่ใหญ่ที่สุดของร่างกาย ที่ยึดระหว่างกล้ามเนื้อน่องกับกระดูกส้นเท้า ทำให้ส้นเท้าบวมและปวดจนเคลื่อนไหวลำบาก
การพักเท้า ใช้น้ำแข็งประคบ ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ จะช่วยบรรเทาอาการลงได้ แต่หากอาการปวดแย่ลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเดินขึ้นที่สูง นั่นอาจเป็นเพราะเอ็นร้อยหวายฉีกขาด ขอให้ไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจจำเป็นต้องผ่าตัด
เจ็บหลังช่วงล่าง
เป็นเรื่องปกติสำหรับคนที่นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันนานหลายชั่วโมง จะรู้สึกตึงบริเวณแผ่นหลังช่วงล่าง ถ้ารู้สึกปวดเบาๆ ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ทำให้อาการแย่ลง อาทิ เดินขึ้นที่สูง เต้นแอโรบิค และยกมือเหนือศีรษะ
การพัก แล้วใช้น้ำแข็งประคบ และยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เป็นวิธีรักษาง่ายๆที่จะช่วยคลายอาการปวดได้
แต่ในกรณีที่รู้สึกปวดและมีอาการทางเส้นประสาทร่วมด้วย เช่น ชาหรือเสียวแปล๊บลงมาที่ขา และรู้สึกอ่อนแรง อาจเกิดจากหมอนรองกระดูกเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาท ต้องไปพบแพทย์ในทันที
• ส่วนที่มีความเสี่ยงต่ำ
ปวดข้อเท้า
ท่าเต้นแอโรบิคที่เท้าแตะพื้นผิดท่า จนทำให้ข้อเท้าพลิก (ข้อเท้าแพลง) และรู้สึกเจ็บนั้น หากยังทนเจ็บและฝืนเต้นต่อจนจบคอร์ส มันจะทำให้เอ็นข้อเท้าด้านนอกเคล็ด ซึ่งอาการอาจเริ่มจากเล็กน้อยจนถึงขั้นรุนแรง
อาการข้อเท้าแพลงเล็กน้อย อาจรักษาด้วยการไม่เคลื่อนไหวข้อเท้า การใช้ผ้าเย็นหรือน้ำแข็งประคบ หรือใช้ผ้าพัน และยกเท้าให้สูง แต่ถ้าเพียงแค่เจ็บข้อเท้า อาจเป็นเพราะเส้นเอ็นอักเสบ ซึ่งเมื่อหายเจ็บดีแล้ว ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายชนิดแบกรับน้ำหนัก อาทิ ว่ายน้ำและขี่จักรยาน
ในกรณีที่ข้อเท้าเคล็ดอย่างรุนแรง มีอาการปวดและบวมจนไม่สามารถยืนได้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อเอกซเรย์ เพราะอาจมีภาวะกระดูกแตกร่วมด้วย
เจ็บหลังส่วนกลางและด้านบน
อาการเจ็บเล็กน้อยระหว่างกระดูกหัวไหล่สองข้างขณะยกน้ำหนัก อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงเทคนิคการยกน้ำหนักที่ผิด เพราะหากคำนวณความเร็วไม่ถูกต้อง การยกน้ำหนักเร็วเกินไปอาจทำให้กระดูกสันหลังทรุดตัวลง อีกทั้งควรยกน้ำหนักที่เหมาะสมกับสรีระของตัวเอง
อย่างไรก็ดี หากเกิดอาการเจ็บแปล๊บหรือหายใจลำบาก ควรรีบพบแพทย์ทันที เพราะอาจเกิดจากหมอนรองกระดูกเคลื่อน และในบางกรณี อาการเจ็บระหว่างกระดูกหัวไหล่สองข้าง อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงภาวะหัวใจวายได้เช่นกัน
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 167 พฤศจิกายน 2557 โดย เบญญา)