xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับชีวิตประจำวัน : เปลี่ยนความคิด ชีวิตเปลี่ยน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เราคือนวัตกรรมจากความประพฤติซ้ำๆ ของตัวเอง ดังนั้น จงระวังความคิด(ลบ) มันจะกลายเป็นการกระทำ จงระวังการกระทำ มันจะกลายเป็นนิสัย จงระวังนิสัย มันจะกลายเป็นบุคลิกภาพ”

ทุกสิ่งที่เราคิด พูด ทำ หรือสร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นมา ล้วนมีผลกระทบต่อผู้อื่น ดังนั้น ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ต้องนึกถึงอกเขาอกเรา เพราะโดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์ล้วนต้องการเสพสิ่งดี มีคุณภาพ เลิศหรูกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นอาหารอร่อยๆ เครื่องเสียงดีๆ มือถือรุ่นใหม่สุดจ๊าบ จนถึงบ้านหลังโตโอ่อ่าตั้งอยู่บนทำเลทอง

ผลผลิตหรือนวัตกรรมเหล่านี้ ไม่สามารถย้อมแมวขายกันได้ในระยะยาว สังเกตง่ายๆก็คือ “ของดีมีคุณภาพ ของจริงของแท้ ต้องทนต่อการพิสูจน์ และทนต่อกาลเวลา”

เฉกเช่นหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนา ที่ยืนยงมาอย่างยาวนาน เพราะทนทานต่อการพิสูจน์ นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าตรัสรู้กฎแห่งธรรมชาติที่ใต้ต้นโพธิ์ แก่นแท้ของธรรมทั้งหมดก็คือ “การดับทุกข์” ภาษาพระเรียกว่า “อริยสัจสี่”

ใจความก็คือ “ถ้าดับทุกข์ได้ เราก็จะมีความสุข” พระพุทธองค์ทรงชี้บอกหนทางแห่งการดับทุกข์ เพื่อให้เราเปลื้องตนออกจากความทุกข์ ไม่ใช่ให้เราจมจ่อมแช่อยู่กับความทุกข์ หรือยอมจำนนกับโชคชะตา โดยข้อปฏิบัติเบื้องต้นง่ายๆ ก็คือ “หาสาเหตุแห่งทุกข์ให้เจอ” ซึ่งสอดคล้องกับที่นักจิตวิทยาสมัยใหม่เชื่อว่า...

“อยากเปลี่ยนผลลัพธ์ ก็ต้องเปลี่ยนสาเหตุให้ได้
นั่นเพราะเหตุเปลี่ยน...ผลย่อมเปลี่ยน
อยากเปลี่ยนชีวิต ก็ต้องเปลี่ยนความคิดให้ได้
นั่นเพราะเปลี่ยนความคิด...ชีวิตเปลี่ยน”


เราไม่อาจเปลี่ยนคนภายนอกได้ ตราบใดที่ยังไม่สามารถเปลี่ยนคนที่อยู่ภายในตัวเอง บุคลิกภาพเป็นตัวตนภายนอก ความคิดเป็นตัวตนภายใน ดังที่ “ไอน์สไตน์” กล่าวไว้ว่า “คนโง่หรือคนบ้าเท่านั้น ที่มัวเสียเวลาทำซ้ำๆ ด้วยวิธีการเดิมๆ โดยหวังว่ามันจะให้ผลลัพธ์ที่ต่างออกไป”

ธรรมชาติสอนเราอยู่เสมอด้วยวิธีง่ายๆ เพียงแค่เปิดใจสังเกต เช่น ปลูกต้นมะม่วง ผลมันก็ต้องเป็นมะม่วง เป็นไปไม่ได้เลยที่ผลจะออกมาเป็นเงาะ ทุเรียน หรือลำไย ฉะนั้น หากต้องการเปลี่ยนผลลัพธ์ในชีวิต เราก็ต้องเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ความคิดที่อยู่ภายในตัวเรา

กระบวนการเปลี่ยนนั้นต้องประกอบไปด้วยส่วนต่างๆ หลายส่วนร่วมกัน ดังที่ “ทะไล ลามะ องค์ที่ 14” พระผู้เป็นดุจมหาสมุทรแห่งปัญญาของชาวทิเบต กล่าวไว้ว่า

“กระบวนการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจาก ‘การเรียนรู้’ เพราะความรู้จะช่วยให้เกิด ‘ความเชื่อ’ หรือความศรัทธาในศักยภาพของตนเอง จากนั้นความเชื่อจะช่วยให้เกิดเป็น ‘แรงจูงใจ’ ใฝ่กระทำ”

ดังเช่นเด็กนักเรียนคนหนึ่งอยากเรียนเก่ง แต่ไม่เคยอ่านหนังสือสักเล่ม หรือหญิงสาวอ้วนตุ๊ต๊ะที่ปรารถนาเรือนร่างทรงเสน่ห์ แต่ยังไม่ทิ้งนิสัยกินตลอดเวลา ทั้งสองคนนี้คงไปได้ไม่ถึงฝัน หากไม่ปรับเปลี่ยนตัวเอง

เช่นเดียวกับคนที่อยากร่ำรวยเป็นเศรษฐี แทนที่จะมุมานะทำงาน เก็บออมสะสมทรัพย์สิน แต่กลับใช้ชีวิตแบบชนิดที่ต้องมานั่งจ่ายหนี้บัตรเครดิตตลอดเวลา เพราะไม่ยับยั้งชั่งใจในการใช้จ่าย แบบนี้บันไดเศรษฐีคงไม่ทอดมาหา

และโปรดอย่าเชื่อและมั่นใจตัวเองเกินไปนัก เพราะหากสิ่งที่เราเคยทำมาตลอดมันถูกต้อง ป่านนี้มันคงสำเร็จไปแล้ว

ความศรัทธาเชื่อมั่นในตัวเองเป็นสิ่งดี ยกเว้นแต่เราจะเชื่อมั่นในสิ่งผิด แล้วตัวเองก็หลงไปยึดติดถือมั่นกับความเชื่อนั้นอย่างไม่ลืมหูลืมตา ครั้น “เมื่อเหตุผิด...ผลย่อมผิด” ตามไปด้วยเป็นธรรมดา

มีเรื่องเล่าต่อกันมาเป็นโจ๊กขำขันที่ “แฟรงก์ โคช” เขียนไว้ในวารสารของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ดังนี้...

ในคืนเดือนมืด ท่ามกลางมหาสมุทรอันเวิ้งว้าง เรือรบสองลำถูกมอบหมายให้ซ้อมรบในทะเล ซึ่งมีพายุโหมกระหน่ำรุนแรงนานหลายวัน บนเรือมีผู้บังคับบัญชาคอยเฝ้าสังเกตอยู่บนหอบังคับการอย่างแข็งขัน

ตอนนี้เป็นเวลาพลบค่ำ เนื่องจากทัศนวิสัยไม่ค่อยแจ่มชัดนัก เพราะเต็มไปด้วยม่านหมอกที่ลงจัด ดังนั้น กัปตันจึงต้องอยู่บนหอบังคับการ เพื่อคอยสังเกตเหตุการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้น

ขณะที่เรือแล่นฝ่าเกลียวคลื่นมา จู่ๆ เสียงยามรักษาการณ์ก็รายงานขึ้นว่า “มีแสงมาจากทิศทางกราบขวาของหัวเรือครับ” กัปตันถามไปว่า “มันมุ่งมาข้างหน้าหรือถอยไปข้างหลัง”

“มันพุ่งตรงมาทางเรา”
ยามรักษาการณ์ตอบ “ดูเหมือนมันกำลังจะชนเรือของเราครับ”

กัปตันจึงออกคำสั่งด้วยเสียงเฉียบขาด “ให้ส่งสัญญาณบอกเรือลำที่มีแสงนั้น ให้เปลี่ยนทิศทาง 20 องศา”

แต่กลับได้รับสัญญาณตอบกลับมาว่า ให้เรือของกัปตันเปลี่ยนทิศทาง 20 องศาแทน

ดังนั้น กัปตันก็ส่งสัญญาณออกไปอีกครั้งว่า “นี่คือกัปตัน ขอให้เรือของท่านเปลี่ยนทิศทาง 20 องศา”

คำตอบที่ได้รับคือ “ผมคือชาวทะเล ขอให้ท่านเปลี่ยนทิศทาง 20 องศาไปจะดีกว่า”

ตอนนี้กัปตันรู้สึกฉุนกึ๊กขึ้นมา จึงสั่งเสียงแข็งให้ส่งสัญญาณออกไปใหม่ว่า “นี่เป็นเรือรบ รีบเปลี่ยนทิศทาง 20 องศาเดี๋ยวนี้”

มีสัญญาณตอบกลับมาในทันทีว่า “สัญญาณนี้ส่งมาจากประภาคาร จึงไม่สามารถเปลี่ยนทิศทางได้”

ในที่สุดเรือรบก็จำต้องยอมเป็นฝ่ายหันหัวเรือจากไป!!

ลองนำเรื่องของกัปตันผู้นี้มาเทียบกับตัวเรา ขณะที่บางอย่างเราสามารถเปลี่ยนได้ เช่น การเปลี่ยนองศาทิศทางเดินเรือ แต่บางอย่างเราก็ไม่สามารถเปลี่ยนได้ อย่างประภาคาร บางครั้งเหตุที่เรายังไม่เปลี่ยนก็เพียงเพราะถูกม่านหมอกแห่งอวิชาคือ “ความไม่รู้” ปกคลุมอยู่ แต่เมื่อใส่ความรู้ที่ถูกต้องลงไป ก็จะเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อระบบความคิดหรือทัศนคติของเรา

คิดดูหากดาราคนดังอย่าง “แบรด พิตต์” สามีสุดที่รักของ “แองเจลีน่า โจลี” ไม่ยอมเปลี่ยนทิศทางตัวเองในอดีต ที่จากเดิมแต่งตัวเป็นไก่กระพือปีกไปมา และคอยต้อนรับลูกค้าเข้าสู่ร้าน เพื่อให้ตัวเองมีเงินไปซื้อเสื้อผ้า ตลับเทปเพลง และเลี้ยงข้าวสาวๆ โลกคงไม่มีวันรู้จักดาราสุดเท่ห์ผู้นี้แน่นอน

หรือแม้แต่ “จอห์นนี่ เดปป์” ที่อดีตเป็นเซลแมนเร่ขายปากกา ซึ่งตัวเขาเองก็ยอมรับว่า ไม่มีทักษะทางด้านการขาย ดังนั้น หากยังดันทุรังยึดอาชีพนี้ต่อไป ฮอลลีวู้ดคงขาดดาวดวงใหญ่ที่สุกสกาวแสงจนทุกวันนี้ แต่เพราะทั้งแบรดและจอห์นนี่ยอมเปลี่ยนทิศทางตัวเอง ชีวิตของทั้งคู่จึงเปลี่ยนไป กลายเป็นดาวดวงใหญ่ที่โคจรอยู่ในโลกมายา

สรุปแล้วความคิดหรือทัศนคติที่ถูกต้องนั่นเองที่เราควรเปลี่ยน หากต้องการชีวิตในแบบที่เจริญรุ่งเรืองถูกต้องดีงาม เหมาะสมกับศักยภาพของตน เหตุนี้เองพระพุทธองค์จึงตรัสให้ “สัมมาทิฏฐิ” คือ ความเห็นถูก เห็นตรง เป็นธรรมหมายเลขหนึ่งในอริยมรรคมีองค์แปด โปรดจำ(ให้ขึ้นใจ)อีกครั้ง...

“เหตุเปลี่ยน...ผลเปลี่ยน
เปลี่ยนความคิด...ชีวิตเปลี่ยน”


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 166 ตุลาคม 2557 โดย ทาสโพธิญาณ)

กำลังโหลดความคิดเห็น