xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : วิทยาศาสตร์ยืนยัน 8 ผลดี ของการเจริญเมตตา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


องค์ทะไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณสูงสุดของชาวทิเบต ได้กล่าวไว้ว่า “ความรักและความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นนั้น เป็นสิ่งจำเป็น หาใช่สิ่งฟุ่มเฟือยไม่ เพราะหากปราศจากสิ่งนี้แล้ว มวลมนุษยชาติมิอาจดำรงชีวิตอยู่ได้”

เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ ว่าโลกใบนี้จะงดงามน่าอยู่เพียงใด หากมนุษย์ทุกคนรู้จักแสดงความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน แม้เพียงน้อยนิด

และความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ ไม่เพียงส่งผลดีต่อผู้รับเท่านั้น แต่ผู้ให้ก็ได้รับประโยชน์ไปเต็มๆเช่นกัน

มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันถึงผลดีที่ได้รับจากการเจริญเมตตาภาวนาเป็นประจำ ดังนี้

1. รู้จักรักตัวเองและเห็นอกเห็นใจคนอื่นมากขึ้น
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งชี้ว่า ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ว่า หากใครไม่มี ก็จะไม่มีตลอดไป แต่เป็นเรื่องที่สามารถเรียนรู้และฝึกฝนกันได้ เพราะได้มีการให้กลุ่มทดลองฝึกทำสมาธิเจริญเมตตาภาวนาเป็นเวลา 1 วัน เพื่อปลูกฝังความมีเมตตากรุณาและความรักตัวเองและผู้อื่น

ผลที่ได้คือ พวกเขารู้สึกรักตัวเองมากขึ้น เห็นอกเห็นใจคนอื่นมากขึ้น และสมองบริเวณที่เกี่ยวข้องกับความรัก ความผูกพัน และอารมณ์ด้านดี จะถูกกระตุ้นให้ทำงานมากยิ่งขึ้น

ผู้วิจัยบอกว่า “เปรียบเหมือนการยกน้ำหนัก ซึ่งเมื่อฝึกด้วยวิธีที่เป็นระบบ เราพบว่า กล้ามเนื้อจะเกิดขึ้น เช่นเดียวกับความรู้สึกเห็นอกเห็นใจและอยากช่วยผู้อื่นให้พ้นทุกข์ จะเกิดขึ้นได้เช่นกัน”

2. เกิดคุณธรรมในจิตใจ
ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเป็นเรื่องที่ดี แต่หากเพียงแค่รู้สึก โดยไม่ทำอะไร ย่อมไม่เกิดประโยชน์อันใด เนื่องจากมันเป็นแรงกระตุ้นชั้นดีที่ทำให้เกิดการกระทำขึ้น

ในงานวิจัยที่ให้กลุ่มคนที่เคยฝึกเจริญเมตตาภาวนา ถูกทดสอบเรื่องความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว พวกเขานั่งร่วมกับตัวแปร 2 คน เมื่อมีตัวแปรคนที่ 3 เดินพร้อมไม้พยุงเข้ามา แกล้งแสดงอาการเจ็บปวดให้เห็น ตัวแปร 2 คนแรกยังคงนิ่งเฉย และส่งสัญญาณเป็นนัยว่า ไม่ต้องเข้าไปช่วยเหลือ

ผลปรากฏว่า กลุ่มคนที่เคยฝึกเจริญเมตตาภาวนา มีแนวโน้มที่จะเข้าช่วยเหลือคนบาดเจ็บ มากกว่ากลุ่มคนที่ไม่ได้ฝึกถึง 50% ซึ่งหนึ่งในทีมวิจัยบอกว่า

“สิ่งที่น่าประหลาดใจที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้ คือ การเจริญเมตตาภาวนา ทำให้บุคคลเต็มใจที่จะแสดงออกถึงคุณธรรม คือ ช่วยผู้ที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก ถึงแม้ว่าจะถูกห้ามมิให้กระทำก็ตาม”

3. มีความสุขและสุขภาพดีมากกว่า
ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ ไม่เพียงส่งผลดีต่อผู้อื่น แต่ยังส่งผลให้ตัวเองมีสุขภาพกายและใจดีขึ้นเช่นกัน

เพราะมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ให้กลุ่มทดลองเจริญเมตตาภาวนาให้ตัวเองเป็นเวลา 1 สัปดาห์ จากนั้นให้เจริญเมตตาภาวนาให้คนที่พวกเขารักเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ผลปรากฏว่า คนในกลุ่มทดลองนี้มีความสุขในชีวิตประจำวันมากกว่ากลุ่มคนที่ไม่ได้ทำ อีกทั้งยังมีอาการซึมเศร้าน้อยกว่า พอใจกับชีวิตมากกว่า และมีสุขภาพกายดีกว่าด้วย

4. ส่งเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย
ไม่น่าเชื่อว่า พลังของความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันและปฏิกิริยาโต้ตอบความเครียดของร่างกาย

ทั้งนี้ มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งเผยว่า กลุ่มคนที่เจริญเมตตาภาวนาบ่อยครั้ง จะมีภูมิคุ้มกันโต้ตอบความเครียดได้ดีกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่ไม่ทำสมาธิ โดยวัดจากระดับสารอินเตอร์ลูคินและฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งร่างกายจะหลั่งออกมาเมื่ออยู่ในภาวะเครียด

5. ระบบประสาทมีปฏิกิริยาโต้ตอบมากขึ้น
นักประสาทวิทยาค้นพบว่า ระดับความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นที่เพิ่มมากขึ้น สามารถวัดได้จากการทำงานขอ
งสมอง

ในงานวิจัยที่มีการสแกนสมองขณะตั้งใจทำสมาธิเจริญเมตตาภาวนา ขอผู้ที่เจริญเมตตาภาวนาเป็นประจำและผู้ที่เพิ่งเริ่มฝึก โดยหลังจากนั้นได้ปล่อยเสียงที่ทำให้ผู้เข้าทดลองเกิดความรู้สึกเครียดเช่นเดียวกับการที่ได้รับรู้หรือเห็นผู้อื่นเป็นทุกข์

ผลปรากฏว่า บริเวณสมองที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกจะถูกกระตุ้นมากขึ้น เมื่อเทียบกับคนที่อยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำสมาธิ อีกทั้งสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น จะเคลื่อนไหวมากขึ้นด้วย

6. เข้าใจความรู้สึกคนอื่นมากขึ้น
ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นจะช่วยกระตุ้นสมองบริเวณที่เป็นศูนย์ความนึกคิดให้มีการเคลื่อนไหว และเกิดความแม่นยำ

โดยงานวิจัยได้ให้ผู้เข้าร่วม ทำแบบทดสอบเกี่ยวกับการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น ซึ่งต้องคาดเดาอารมณ์ด้วยสายตาเท่านั้น ผลที่ได้คือ กลุ่มคนที่เคยฝึกเจริญเมตตาภาวนามาก่อน ทำแบบทดสอบได้คะแนนดีกว่า ซึ่งชี้ให้เห็นว่า พวกเขามีความแม่นยำมากกว่า

7. ช่วยเหลือคนอื่นมากขึ้น
จากงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ได้ให้ผู้เข้าร่วมการทดลอง เล่นเกมเกี่ยวกับพฤติกรรมการช่วยเหลือผู้อื่น และประเมินผลจากปฏิกิริยาที่พวกเขาแสดงออก เมื่อต้องเผชิญหน้ากับคนที่กำลังเป็นทุกข์

โดยก่อนหน้านี้ ได้ให้ผู้เข้าร่วม ฝึกเจริญเมตตาภาวนาในระยะเวลาสั้นๆ จากนั้นนำผลทดสอบไปเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ฝึกเรื่องความจำ ผลปรากฏว่า กลุ่มที่ฝึกทำสมาธิแสดงพฤติกรรมช่วยเหลือคนอื่นมากกว่ากลุ่มที่ฝึกความจำ

8. กลัวความทุกข์น้อยกว่า
ธรรมชาติของมนุษย์นั้น เมื่อเห็นคนเป็นทุกข์ ก็จะรู้สึกไม่สบายใจไปด้วย จึงเป็นปฏิกิริยาปกติที่คนทั่วไปมักหลีกเลี่ยงการอยู่ร่วมกับคนที่กำลังเศร้าโศก

แต่การวิจัยชิ้นหนึ่งที่ให้กลุ่มทดลองฝึกเจริญเมตตาภาวนา จากนั้นนำวิดีโอเกี่ยวกับคนที่อยู่ในภาวะทุกข์โศกให้ดู ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ พวกเขาสามารถตอบสนองต่อความทุกข์ได้ดี มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเพิ่มขึ้น กลัวความทุกข์น้อยลง และอยากเข้าไปช่วยเหลือคนที่กำลังเป็นทุกข์

งานวิจัยทั้งหมดนี้ จึงยืนยันคำพูดต่อไปนี้ขององค์ทะไล ลามะ ว่า “หากคุณต้องการทำให้คนอื่นมีความสุข ต้องเจริญเมตตาภาวนา หากคุณต้องการทำให้ตัวเองมีความสุข ก็ต้องเจริญเมตตาภาวนา”

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 161 พฤษภาคม 2557 โดย บุญสิตา)

กำลังโหลดความคิดเห็น