• เตรียมสร้างศูนย์วัดพุทธแห่งแรกในมอสโคว์
รัสเซีย : หลังจากเจอโรคเลื่อนมาเกือบ 10 ปี บัดนี้ การก่อสร้างวัดพุทธแห่งแรกในกรุงมอสโคว์ เมืองหลวงของประเทศรัสเซีย กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในปี 2014
จากรายงานของ Voice of Russia ซึ่งเป็นสื่อของรัฐ เผยว่า โครงการดังกล่าวนับเป็นโครงการใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยพระอุโบสถ ศูนย์วัฒนธรรมและการแพทย์ ห้องประชุม และโรงทาน บนพื้นที่ 3,000 ตร.ม. โดยมีชุมชนพุทธแห่งกรุงมอสโคว์ เป็นผู้ดูแลการก่อสร้าง
โดยเบื้องต้นจะก่อสร้างสถูป ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงอนุสรณ์แห่งการล่มสลายของชาวพุทธในสงครามรักชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความปรองดองและมั่นคงของประชาชนชาวรัสเซียอีกด้วย
อเล็กซานเดอร์ โดกาเยฟ สมาชิกกลุ่มพุทธศาสนาแบบทิเบต “มอสโคว์ ดริกุง คักยู” แสดงความหวังภายหลังเยี่ยมชมวัดทองคำ เมืองเอลิสตา สาธารณรัฐคาลมิเกีย ซึ่งเป็นเสาหลักของพุทธศาสนาในรัสเซีย ว่า “ผมแน่ใจว่า เมื่อมีการสร้างวัดที่คล้ายคลึงกันนี้ในกรุงมอสโคว์ ก็จะเป็นสถานที่ที่มิใช่มีแค่เรื่องของศาสนาเพียงอย่างเดียว”
อนึ่ง ในศตวรรษที่ 17 ชาวมองโกเลียที่นับถือศาสนาพุทธ ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในคาลมิเกีย จึงถือเป็นจุดกำเนิดของพุทธศาสนาในรัสเซีย ต่อมาในปี ค.ศ. 1741 จักรพรรดินีเอลิซาเบธแห่งรัสเซีย ทรงประกาศให้คาลมิเกียเป็นหนึ่งในอาณาจักรทางศาสนาอย่างเป็นทางการ
(จาก Shambhalasun)
• ม.ฮ่องกงถวายปริญญาเอก “ติช นัท ฮันห์”
ฮ่องกง : มหาวิทยาลัยฮ่องกง ซึ่งมีแนวคิดยกย่องบุคคลต่างๆทั่วโลก ที่ประกอบคุณงามความดีและช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในด้านต่างๆ ได้มีมติในที่ประชุมครั้งที่ 190 ปี 2014 มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตแก่บุคคลที่มีความโดดเด่นและมีอิทธิพลต่อชาวโลก จากสาขาต่างๆจำนวน 5 คน ซึ่ง 1 ในนั้นคือ “ติช นัท ฮันห์” ด้วยผลงานที่มีอิทธิพลต่อสังคมนานาชาติเป็นระยะเวลายาวนาน
โดย ศจ.ลัพ ชี ซุย รองอธิการบดี และ ศจ.ลี ชัค ฟาน พร้อมด้วยบรรดาผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง ได้เดินทางไปถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมศาสตร์ แก่ “ติช นัท ฮันห์” ภิกษุเซนชื่อดังชาวเวียดนาม ณ หมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือนมีนาคม 2014
ในการนี้ ท่านติช นัท ฮันห์ ได้กล่าวขอบคุณมหาวิทยาลัยฮ่องกง และกล่าวย้ำถึงแรงบันดาลใจที่ได้ก่อตั้งชุมชนสั
ฆะขึ้น เพื่อสานฝันของบุคคลให้เป็นจริง
“ชุมชนสังฆะไม่จำกัดแค่เป็นชุมชนของพระสงฆ์เท่านั้น แต่เป็นที่ซึ่งบุคคลเข้ามาใช้ชีวิตร่วมกันอย่างปรองดอง เสมือนหนึ่งเป็นพี่น้องในครอบครัวเดียวกัน ดังนั้น มหาวิทยาลัยก็สามารถเป็นชุมชนสังฆะได้เช่นกัน การสร้างชุมชนสังฆะจำต้องอาศัยการอุทิศตน ซึ่งพระพุทธเจ้าเองภายหลังตรัสรู้ ก็ทรงก่อตั้งชุมชนสังฆะขึ้น”
นอกจากนี้ ท่านติช นัท ฮันห์ ยังได้ชวนคนหนุ่มสาวให้ช่วยกันสร้างชุมชนสังฆะ เพื่อทำฝันของพวกเขาให้เป็นจริง รวมทั้งกระตุ้นให้ทุกคนแบ่งปันความรักแก่เพื่อนร่วมโลกด้วย
(จาก Buddhistdoor)
• ญี่ปุ่นช่วยบูรณะจิตรกรรมฝาผนังวัดเมืองพุกาม
พม่า : บรรดาผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นที่เคยบูรณะจิตรกรรมฝาผนัง ภายในสุสานโบราณของประเทศ กำลังทำงานร่วมกับประเทศพม่า เพื่ออนุรักษ์จิตรกรรมพุทธศิลป์อายุหลายศตวรรษ ตามผนังวัดต่างๆในเมืองพุกาม ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “เมืองแห่งทะเลเจดีย์” เนื่องจากมีวัดและเจดีย์ ที่สร้างระหว่างศตวรรษที่ 11-13 หลงเหลือกว่า 3,000 แห่ง
กองโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ประเทศพม่า เผยว่า จิตรกรรมฝาผนังหลากสีสันหลายแห่งชำรุดเสียหาย เนื่องจากน้ำฝนไหลซึมเข้าไปในรอยแตกของฝาผนัง ที่เกิดจากแผ่นดินไหวและสภาพอากาศ ส่งผลให้ปูนฉาบผนังชำรุด สีที่ทาทับจึงหลุดลอก อีกทั้งประตูและหน้าต่างของวัดปิดไม่สนิท ทำให้ลมและสิ่งแปลกปลอมเล็ดลอดเข้ามาสร้างความเสียหาย มีทั้งเชื้อรา ขี้ค้างคาว รังแมลงต่างๆ และการขีดเขียนบนฝาผนัง
ทั้งนี้ ในปลายปี 2013 รัฐบาลพม่าได้ร่วมกับสถาบันวิจัยทรัพย์สินทางวัฒนธรรมแห่งชาติ (โตบุนเกน) ในสังกัดรัฐบาลญี่ปุ่น เริ่มโครงการบูรณะและอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังวัดเมืองพุกาม
“เราต้องการพัฒนาแบบแผนการบูรณะสไตล์พุกามร่วมกับรัฐบาลพม่า เพื่อที่พวกเขาจะสามารถบูรณะจิตรกรรมฝาผนังต่อไปได้เอง โดยใช้วัสดุที่หาได้ในพม่า เราจะทำงานร่วมกับพวกเขาอย่างน้อย 10 ปี เพื่อบูรณะจิตรกรรมฝาผนังทั้งหมดในเมืองพุกามให้แล้วเสร็จ” วาตารุ คาวาโนเบะ ผู้อำนวยการโตบุนเกน ฝ่ายความร่วมมืองานอนุรักษ์ระดับสากล กล่าว
ขณะที่ เนง วิน ผู้อำนวยการกองโบราณคดีฯ สาขาพุกาม กล่าวว่า “เราจำเป็นต้องทำรายการที่ระบุรายละเอียดความเสียหายของจิตรกรรมฝาผนังทั้งหมดในพุกาม จิตรกรรมฝาผนังมีความสำคัญอย่างใหญ่หลวงต่อชาวพม่า เราจะสามารถอนุรักษ์มันไว้ได้ หากได้เรียนรู้เทคนิคการบูรณะอย่างประณีตของญี่ปุ่น”
(จาก The Asahi Shimbun)
• องค์ทะไล ลามะ ส่งสารอาลัย ‘สังฆราชเวียดนาม’
เวียดนาม : พระ “ติช ตริ ตินห์” พระสังฆราชแห่งเวียดนาม มรณภาพแล้วเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2014 สิริอายุ 98 ปี โดยพิธีศพจัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2014 ที่วัดวันดุค นครโฮจิมินห์ และทำพิธีฝังศพเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2014 มีเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงหลายคนเข้าร่วมในพิธี ท่ามกลางความโศกเศร้าอาลัยของพุทธศาสนิกชนชาวเวียดนามทั่วประเทศ
ทั้งนี้ ก่อนมรณภาพ พระ “ติช ตริ ตินห์” ดำรงตำแหน่งพระสังฆราช และประธานสภาสงฆ์แห่งเวียดนาม รวมทั้งรักษาการประธานคณะกรรมการส่วนกลางปิตุภูมิเวียดนาม (VFF)
ในการนี้ องค์ทะไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณสูงสุดแห่งทิเบต ได้ส่งสารถึงสภาสงฆ์แห่งเวียดนาม เพื่อแสดงความอาลัย โดยกล่าวว่า “วิธีดีที่สุดเพื่อแสดงการยกย่องท่าน คือ ขอให้น้อมนำคำสอนของพระพุทธองค์ในเรื่องการทำใจให้สงบ ไม่ใช้ความรุนแรง และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน”
(จาก VNA/VNS)
• วัดจีนชื่อดังจัดตั้งทีมรับมือก่อการร้าย
จีน : เมื่อเดือนเมษายน 2014 วัดหลิงหยิน ซึ่งเป็นวัดพุทธโบราณที่มีชื่อเสียง อายุ 1,700 ปี ตั้งอยู่ที่เมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง ทางตะวันออกของประเทศจีน ได้ริเริ่มจัดตั้งทีมดูแลการก่อการร้ายและปราบจลาจลขึ้นมา เพื่อรับมือภาวะฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูการท่องเที่ยว
นับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดตั้งทีมดังกล่าวขึ้นภายในวัด ซึ่งประกอบด้วยพระสงฆ์ 20 รูป อายุระหว่าง 20-40 ปี และการ์ดรักษาความปลอดภัยกว่า 20 คน ทุกคนมีโล่ สเปรย์พริกไทย และไม้กระบอง เป็นอุปกรณ์ป้องกันตัว
พระจูเฮง เจ้าอาวาสวัดหลิงหยิน กล่าวว่า “พระสงฆ์ที่อยู่ในทีม จะประกอบศาสนกิจในช่วงกลางวัน และฝึกอบรมป้องกันภัยในช่วงกลางคืน โดยมีตำรวจท้องถิ่นเป็นผู้ฝึกสอน เราจัดตั้งทีมนี้ขึ้นเพื่อรับมือเหตุรุนแรงและการโจมตีของผู้ก่อการร้าย เพื่อรักษาความปลอดภัยให้แก่พุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวที่มาเยือนราว 10,000 คนต่อวัน ซึ่งตัวเลขอาจเพิ่มขึ้นในวันหยุดสำคัญ”
(จาก Xinhua)
• วัดญี่ปุ่นจัดแสดงภาพวาดพุทธศิลป์โบราณของศิลปินชื่อดัง
ญี่ปุ่น : เมื่อเดือนเมษายน 2014 วัดฮอนโปจิ เขตคามิเกียว เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ได้จัดแสดงภาพวาดขนาดใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดของประเทศภาพหนึ่ง ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 10 เมตร ต้องใช้คนถึง 9 คน ช่วยกันแขวนจากเพดานวัด
ภาพดังกล่าวเป็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน แวดล้อมด้วยบรรดาสาวกและสัตว์ต่างๆที่แสดงความเศร้าโศก มีชื่อภาพว่า “บุตสึเนะฮันซุ” วาดโดย “ฮาเซกาวา โตฮากุ” หนึ่งในจิตรกรที่มีชื่อเสียงโด่งดังในยุคศักดินา “อะซุชิ-โมะโมะยะมะ” (1568-1600) ทั้งนี้ รัฐบาลได้ขึ้นทะเบียนภาพวาดดังกล่าวเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมชิ้นสำคัญ
(จาก The Asahi Shimbun)
• จีนไอเดียเก๋...ผุดโรงแรมแนวคิด ‘เซน’
จีน : โรงแรมโกลบ ฟลาวเวอร์ (Globe Flower Hotel) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณอู่ไถซาน หนึ่งในสี่ภูพุทธศักดิ์สิทธิ์ของประเทศ ในมณฑลซานซี ทางตอนเหนือของจีน ผุดไอเดียเก๋ จัดทำโรงแรมแนวคิด “เซน” โดยจัดบริเวณล็อบบี้ให้มีบรรยากาศเงียบสงบ หอมกลิ่นธูป ซึ่งแขกสามารถนั่งผ่อนคลาย ฟังเสียงเทศนา หรือหากอยากสวดมนต์ ก็สามารถใช้บริการในห้องสวดมนต์ได้ เช่นเดียวกับห้องอาหาร ที่ออกแบบสไตล์เซน รองรับแขกได้ 500 คน และพนักงานทุกคนแต่งกายในแบบชาวพุทธเซน
(จาก People’s Daily Online)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 161 พฤษภาคม 2557 โดย เภตรา)