xs
xsm
sm
md
lg

สิ้นแล้วองค์สังฆบิดร “ประมุขสงฆ์ไทย” สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังการเสด็จเข้าประทับรักษาพระองค์ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๓ ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งประชวรด้วยพระโรคชราภาพ ตามพระอายุขัย กระทั่งกาลเวลาได้ลุล่วงมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๕๖

วันที่ ๒๔ ต.ค. พ.ศ. ๒๕๕๖ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้เผยแพร่แถลงการณ์เรื่อง “พระอาการประชวรของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ขณะประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ฉบับที่ ๙” ความว่า

วันนี้คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษารายงานว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้สิ้นพระชนม์ลงแล้ว เมื่อเวลา ๑๙.๓๐ น.ของวันนี้ สาเหตุเนื่องจากการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต

จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน


ทันทีที่สิ้นเสียงแถลงการณ์ผ่านสื่อสารมวลชนทุกสำนัก พุทธศาสนิกชนชาวไทยต่างตกตะลึงและอยู่ในอาการเศร้าโศกเสียใจร่ำไห้ ต่อการสูญเสียสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก “พระของประชาชน” ผู้เป็นที่รักและบูชายิ่ง

พระครูสังฆสิทธิกร หัวหน้าฝ่ายศาสนวิเทศ สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช กล่าวว่า ในช่วงที่สมเด็จพระสังฆราชยังประชวรอยู่นั้น พระองค์จะเจริญสมาธิอยู่ตลอดเวลา กระทั่งพระองค์สิ้นพระชนม์ ทางคณะแพทย์ที่ถวายการรักษาไม่มีการถวายยาที่มีผลต่อพระสติของพระองค์ เพราะต้องการให้พระองค์จากไปในขณะที่ยังทรงสามารถเจริญสมาธิได้อยู่ จึงถือได้ว่า พระองค์สิ้นพระชนม์อย่างสงบ ในระหว่างการเจริญสมาธิ

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ในวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ทรงเจริญพระชันษาครบ ๑๐๐ ปี จึงทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกของไทยที่มีพระชันษายืนยาวที่สุดเท่าที่มีปรากฏมาในประวัติศาสตร์ของคณะสงฆ์ไทย

ที่สำคัญทรงดำรงสมณศักดิ์สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประมุขคณะสงฆ์ไทย รวม ๒๔ ปี นับแต่การพระราชพิธีสถาปนา เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๒ ซึ่งยาวนานกว่าสมเด็จพระสังฆราชทุกพระองค์ในอดีตที่ผ่านมา


พระประวัติ

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (สุวัฑฒนมหาเถระ) มีพระนามเดิมว่า เจริญ นามสกุล คชวัตร ประสูติเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ เวลาประมาณ ๐๔.๐๐ น. เศษ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีฉลู ณ ต.บ้านเหนือ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี พระองค์ทรงเป็นบุตรชายคนโตในจำนวน ๓ คน ของ นายน้อยและนางกิมน้อย คชวัตร

ทรงบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อพระชนมายุ ๑๔ พรรษา ณ วัดเทวสังฆาราม กาญจนบุรี แล้วเข้ามาอยู่ศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดบวรนิเวศวิหาร จนพระชนมายุครบอุปสมบท จึงทรงอุปสมบท ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๖ โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ประทับอยู่ศึกษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ตลอดมา จนกระทั่งสอบได้เป็นเปรียญธรรม ๙ ประโยค เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์มาโดยลำดับดังนี้

พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นพระราชาคณะ ชั้นสามัญที่ พระโศภนคณาภรณ์ (มีความหมายว่าผู้เป็นอาภรณ์ หรือเครื่องประดับของหมู่คณะอันงาม) ซึ่งเป็นราชทินนาม ที่ตั้งขึ้นใหม่สำหรับพระราชทานแก่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นรูปแรก

พ.ศ. ๒๔๙๕ เป็นพระราชาคณะชั้นราชในราชทินนามเดิม

พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพในราชทินนามเดิม

พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมในราชทินนามที่ พระธรรมวราภรณ์ (มีความหมายว่า ผู้มีธรรมเป็นอาภรณ์คือเครื่องประดับอันประเสริฐ) ซึ่งเป็นราชทินนามที่ตั้งขึ้นใหม่สำหรับพระราชทานแก่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นรูปแรกเช่นกัน

พ.ศ. ๒๕๐๔ เป็นราชาคณะชั้นเจ้าคณะรอง (คือรองเจ้าคณะใหญ่ หรือรองสมเด็จพระราชาคณะ) ที่ พระสาสนโสภณ (มีความหมายว่า ผู้งามในพระศาสนา หรือผู้ยังพระศาสนาให้งาม)

พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร (มีความหมายว่า ผู้สำรวมในญาณคือความรู้) ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร เป็นตำแหน่งพิเศษ ที่โปรดพระราชทานสถาปนาแก่พระเถระผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระเท่านั้น เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เป็นรูปที่ ๒ ในตำแหน่งนี้ ส่วนรูปแรกคือสมเด็จพระสังฆราช(สุก ญาณสังวร)

พ.ศ. ๒๕๓๒ เป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในราชทินนามเดิมคือ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช แทนราชทินนามสำหรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชที่ถือเป็นประเพณีปฏิบัติกันมาคือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ทั้งนี้ก็เพื่อให้พระเกียรติคุณทางวิปัสสนาธุระของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ยังเป็นที่ปรากฏอยู่สืบไป แม้เมื่อทรงได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้ว นับเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงสำเร็จเปรียญธรรม ๙ ประโยค อันเป็นชั้นสูงสุดของหลักสูตรการศึกษาด้านปริยัติของคณะสงฆ์ ทรงเป็นผู้ใคร่ในการศึกษา ทรงมีพระอัธยาศัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนมาตั้งแต่ทรงเป็นพระเปรียญ โดยเฉพาะในด้านภาษา ทรงศึกษาภาษาต่างๆ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน จีน และ สันสกฤต จนสามารถใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี

กระทั่งเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ พระอุปัชฌาย์ของพระองค์ทรงเห็นว่า จะเพลินในการศึกษามากไป วันหนึ่งทรงเตือนว่า ควรทำกรรมฐานเสียบ้าง เป็นเหตุให้พระองค์ทรงเริ่มทำกรรมฐานมาแต่บัดนั้น และทำตลอดมาอย่างต่อเนื่อง จึงทรงเป็นพระมหาเถระที่ทรงภูมิธรรมทั้งด้านปริยัติและด้านปฏิบัติ

เนื่องจากทรงรอบรู้ภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี จึงทรงศึกษาหาความรู้สมัยใหม่ด้วยการอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ ทั้งทางคดีโลกและคดีธรรม เป็นเหตุให้ทรงมีทัศนะกว้างขวาง ทันต่อเหตุการณ์บ้านเมือง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการสั่งสอนและเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก เป็นเหตุให้ทรงนิพนธ์หนังสือทางพระพุทธศาสนาได้อย่างสมสมัย เหมาะแก่บุคคลและสถานการณ์ในยุคปัจจุบัน และทรงสั่งสอนพระพุทธศาสนาทั้งแก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ

ในด้านการศึกษา ได้ทรงมีพระดำริทางการศึกษาที่กว้างไกล ทรงมีส่วนร่วมในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งแรกของไทย คือมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยมาแต่ต้น ทรงริเริ่มให้มีสานักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อฝึกอบรมพระธรรมทูตไทยที่จะไปปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศ

ทรงเป็นพระมหาเถระไทยรูปแรกที่ได้ดำเนินงานพระธรรมทูตในต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

โดยเริ่มจากทรงเป็นประธานกรรมการอำนวยการสานักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศเป็นรูปแรก เสด็จไปเป็นประธานสงฆ์ในพิธีเปิดวัดไทยแห่งแรกในทวีปยุโรป คือ วัดพุทธปทีป ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ทรงนำพระพุทธศาสนาเถรวาทไปสู่ทวีปออสเตรเลียเป็นครั้งแรก โดยการสร้างวัดพุทธรังษี ณ นครซิดนีย์

ทรงให้กำเนิดคณะสงฆ์เถรวาทขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย ทรงช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาเถรวาทในประเทศเนปาล โดยเสด็จไปให้การบรรพชาแก่ศากยะกุลบุตรในประเทศเนปาลเป็นครั้งแรก ทำให้ประเพณีการบวชฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งหนึ่งในเนปาลยุคปัจจุบัน

ทรงเจริญศาสนไมตรีกับองค์ทะไล ลามะ ประมุขแห่งศาสนจักรทิเบต กระทั่งเป็นที่ทรงคุ้นเคยและได้วิสาสะกันหลายครั้ง องค์ทะไล ลามะ ได้ตรัสทักทายเจ้าพระคุณสมเด็จฯเมื่อทรงพบกันในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ว่า “พี่ชายคนโตของข้าพเจ้า”

และทรงเป็นพระประมุขแห่งศาสนจักรพระองค์แรกที่ได้รับทูลเชิญให้เสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการในประวัติศาสตร์จีน

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจทั้งภายในประเทศและต่างประเทศเป็นเอนกประการ ทรงเป็นนักวิชาการและนักวิเคราะห์ธรรมตามหลักการของพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่า ธัมมวิจยะ หรือธัมมวิจัย เพื่อแสดงให้เห็นว่า พุทธธรรมนั้นสามารถประยุกต์ใช้กับกิจกรรมของชีวิตได้ทุกระดับ ตั้งแต่ระดับพื้นฐานไปจนถึงระดับสูงสุด

ทรงมีผลงานด้านพระนิพนธ์ทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษจำนวนกว่า ๑๕๐ เรื่อง ประกอบด้วยพระนิพนธ์แสดงคำสอนทางพระพุทธศาสนาทั้งระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูง รวมถึงความเรียงเชิงศาสนคดีอีกจำนวนมาก ซึ่งล้วนมีคุณค่าควรแก่การศึกษา

สถาบันการศึกษาของชาติหลายแห่งตระหนักถึงพระปรีชาสามารถและคุณค่าแห่งงานพระนิพนธ์ ตลอดถึงพระกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติ จึงได้ทูลถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์เป็นการเทิดพระเกียรติหลายสาขา

พระเกียรติคุณดีเด่น ซึ่งเป็นที่ยอมรับด้านวิชาการอีกอย่างหนึ่ง คือ พระองค์ทรงได้รับเลือกเป็นกรรมการในคณะกรรมการรจนาพจนานุกรมภาษาบาลีที่มีชื่อว่า A Critical Pali Dictionary ของราชบัณฑิตสมาคมทางวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์แห่งประเทศเดนมาร์ก

นอกจากพระกรณียกิจตามหน้าที่ตำแหน่งแล้ว เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ยังได้ทรงปฏิบัติหน้าที่พิเศษ อันมีความสำคัญยิ่งอีกหลายวาระ กล่าวคือ

ทรงเป็นพระอภิบาลในพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน เมื่อครั้งเสด็จออกทรงพระผนวช เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ พร้อมทั้งทรงถวายความรู้ในพระธรรมวินัยตลอดระยะเวลาแห่งการทรงพระผนวช

จากการที่ได้ทรงปฏิบัติหน้าที่พระอภิบาลในการทรงผนวชครั้งนี้ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จึงได้ทรงเป็นที่ทรงเคารพนับถือในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาแต่บัดนั้น และทรงรับหน้าที่ถวายพระธรรมเทศนาและถวายธรรมกถา แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสต่างๆตลอดมา ทั้งที่เป็นงานพระราชพิธีและเป็นการส่วนพระองค์

ทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อครั้งเสด็จออกทรงพระผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงดำรงตำแหน่งหน้าที่สำคัญทางการคณะสงฆ์ในด้านต่างๆ มาเป็นลำดับ เป็นเหตุให้ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจเป็นประโยชน์ต่อพระศาสนา ประเทศชาติ และประชาชน เป็นเอนกประการ นับได้ว่าทรงเป็นพระมหาเถระที่ทรงเพียบพร้อมด้วยอัตตสมบัติและปรหิตปฏิบัติ และทรงเป็นครุฐานียบุคคลของชาติ ทั้งในด้านพุทธจักรและอาณาจักร

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงเป็นที่เคารพสักการะตลอดไปถึงพุทธศาสนิกชนในนานาประเทศ ด้วยเหตุนี้ ทางรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ จึงได้ทูลถวายตำแหน่ง “อภิธชมหารัฐคุรุ” อันเป็นสมณศักดิ์สูงสุดแห่งคณะสงฆ์เมียนมาร์ และในการประชุมผู้นำสูงสุดแห่งพุทธศาสนาโลก เมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๕ ณ ประเทศญี่ปุ่น ที่ประชุมได้ทูลถวายตำแหน่ง “ผู้นำสูงสุดแห่งพระพุทธศาสนาโลก”

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นแบบอย่างของพระสงฆ์ที่ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย ทรงมักน้อย อดทน และสันโดษ การดำเนินชีวิตของพระองค์เป็นไปอย่างพอเหมาะแก่ความเป็นสมณะ แม้จะทรงดำรงสมณศักดิ์อยู่ในฐานะประมุขของคณะสงฆ์ก็ตาม

ทรงมีพระจริยวัตรและปฏิบัติพระกรณียกิจเปี่ยมด้วยพระเมตตาธรรมอันประเสริฐ สมดังพระเกียรติคุณในฐานะ “พระสังฆบิดร” ของสังฆมณฑลและประชาชนชาวไทย


บุพนิมิตก่อนเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์

สำหรับ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ นั้น “ป้าเฮง” ผู้เป็นที่สาวของนางกิมน้อย ได้ขอมาเลี้ยงตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และทรงอยู่ในความเลี้ยงดูของป้าเฮงมาตลอด จนกระทั่งทรงบรรพชาเป็นสามเณร ป้าเฮงได้เลี้ยงดูเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ด้วยความทะนุถนอมเอาใจใส่เป็นอย่างยิ่ง จนพากันเป็นห่วงว่า จะทำให้เสียเด็ก เพราะเลี้ยงแบบตามใจเกินไป

ชีวิตในปฐมวัยของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ นับว่าเป็นสุขและอบอุ่น เพราะมีป้าคอยดูแลเอาใจใส่อย่างทะนุถนอม ส่วนที่นับว่าเป็นทุกข์ของชีวิตในวัยนี้ก็คือ ความเจ็บป่วยออดแอดของร่างกาย ในเยาว์วัยเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงเจ็บป่วยออดแอดอยู่เสมอ

จนคราวหนึ่งทรงป่วยหนักถึงกับญาติๆ พากันคิดว่าคงจะไม่รอดและบนว่า ถ้าหายป่วยจะให้บวชแก้บน ประกอบกับเมื่อเรียนจบประถมห้า ไม่รู้จะทำอะไร ในขณะที่เพื่อนๆเข้ากรุงเทพฯมาเรียนต่อ ส่วนพระองค์ท่านไม่มีทุน ไม่มีคนส่งเสีย โยมป้าจึงบอกว่า เมื่อหายเจ็บไข้แล้ว ก็บวชแก้บนเสียเลย เรื่องนี้นับเป็นเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ทรงบรรพชาเป็นสามเณรในเวลาต่อมา

พระนิสัยของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เมื่อเยาว์วัยนั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นบุพนิมิต หรือเป็นสิ่งแสดงถึงวิถีชีวิตในอนาคตของพระองค์ได้อย่างหนึ่ง กล่าวคือ เมื่อทรงพระเยาว์ พระนิสัยที่ทรงแสดงออกอยู่เสมอ ได้แก่ การชอบเล่นเป็นพระ หรือเล่นเกี่ยวกับการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น เล่นสร้างถ้ำ ก่อเจดีย์ เล่นทอดผ้าป่า ทอดกฐิน เล่นทิ้งกระจาด แม้ของเล่นก็ชอบทำของเล่นที่เกี่ยวกับพระ เช่น ทำคัมภีร์เทศน์เล็กๆ ตาลปัตรเล็กๆ ให้น้องๆ และเพื่อนข้างบ้านไปฟังท่าน

และพระนิสัยที่แปลกอีกอย่างหนึ่ง คือ ทรงชอบเล่นเทียน เนื่องจากป้าต้องออกไปทำงานตั้งแต่ยังไม่สว่าง เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จึงต้องพลอยตื่นแต่ดึกตามป้าด้วย แล้วไม่ยอมนอนต่อ ป้าจึงต้องหาของให้เล่น คือหาเทียนไว้ให้จุดเล่น เจ้าพระคุณสมเด็จฯก็จะจุดเทียนเล่น และนั่งดูเทียนเล่นอยู่คนเดียวจนสว่าง

สิ้นอาลัยจนเกือบลาสิกขา

ครั้งหนึ่งใน พ.ศ. ๒๔๘๐ ขณะทรงเป็นพระเปรียญธรรม ๗ ประโยค ทรงเกิดความรู้สึกสิ้นอาลัยในสมณเพศ มีความคิดที่จะลาสิกขา ตามประเพณีแล้ว ในฐานะพระมหาเปรียญ พระองค์จึงต้องทำหนังสือขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตลาสิกขา ยื่นไปยังกระทรวงธรรมการ ในเดือนธันวาคม โดยมีกำหนดจะลาสิกขาในวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑

แต่แล้วเมื่อความทราบถึงพระชนนี ท่านจึงรีบเดินทางจากเมืองกาญจนบุรีมายังวัดบวรนิเวศวิหาร แล้วออกปากห้ามปราม ว่า “ถ้าคุณมหาสึก อิฉันจะผูกคอตาย”

ได้ยินพระชนนีกล่าวให้สติเพียงเท่านี้ พระองค์ก็ทรงละความปรารถนาที่จะสึกจนหมดสิ้น แล้วรีบทำหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงธรรมการอีกฉบับหนึ่งว่า ขอถอนหนังสือลาสิกขาที่เคยส่งมาก่อนหน้านี้ โดยให้เหตุผลว่า

“บัดนี้ อาตมภาพมีความจำเป็นอย่างที่สุดที่จะลาสิกขาไม่ได้”

กตัญญุตาพระชนนี

แม้ว่าในวัยเด็ก พระองค์จะไม่ได้ทรงอยู่กับพระชนกและพระชนนี (พระชนกถึงแก่กรรมตั้งแต่พระองค์ทรงเยาว์วัย) แต่ความรัก ความผูกพัน และความกตัญญูที่มีให้แก่พระชนนีนั้นไม่เคยเสื่อมคลาย และในยามที่พระชนนีชราภาพ พระองค์ได้ทรงรับมาอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเวลากว่า ๑๐ ปี เพื่อปรนนิบัติดูแลอย่างใกล้ชิด โดยให้พักที่เรือนไม้หลังเล็กๆ ข้างตำหนักคอยท่าปราโมชที่พระองค์ประทับอยู่

ในระหว่างที่พระชนนีพำนักอยู่ด้วย พระองค์ทรงแสดงความรักความห่วงใยต่อพระชนนีอย่างเสมอต้นเสมอปลาย กิจวัตรประจำวันของพระองค์ที่ทรงมีต่อพระชนนีก็คือ ในตอนเย็นของทุกวัน จะเสด็จไปดูพระชนนีที่เรือนพัก และทุกครั้งจะทรงเริ่มการสนทนากับพระชนนีด้วยประโยคว่า

“โยม..วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง”

พระชนนีเป็นคนขยัน ไม่อยู่นิ่งจึงมักทำโน่นทำนี่ทั้งวัน บางครั้งจึงเกิดอารมณ์เสียกับพวกเด็กๆ ศิษย์วัดที่ทำอะไรไม่เรียบร้อย เป็นเหตุให้พระชนนีต้องคอยเก็บคอยว่า บางทีก็มีเสียงดังกับเด็กๆศิษย์วัด เมื่อเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ยินเสียงก็จะต้องเสด็จมาหา พร้อมตรัสปลอบประโลมพระชนนีว่า

“เป็นอย่างไรโยม..ช่างมันเถอะ ปล่อยวางเสียบ้าง”

พระชนนีก็มักตอบกลับว่า “เรื่องของอิฉัน เจ้าคุณไม่เกี่ยว”

แล้วเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็จะทรงยิ้มกลับไป

ในความเป็นแม่ พระชนนีมักทำอะไรถวายเล็กๆน้อยๆ ที่ทำทุกวัน คือ จีบหมากถวาย (เมื่อพระชนนีถึงแก่กรรม ก็ทรงเลิกเสวยหมาก ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ)

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ยังคงเก็บรักษาสิ่งของที่พระชนนีทำถวายไว้โดยตลอด เช่น ตู้หนังสือที่พระชนนีถวายเมื่อครั้งสอบได้เปรียญ ๗ หรืออาสนะสำหรับนั่งที่พระชนนีเย็บถวายแต่ครั้งยังเป็นพระเปรียญ เพื่อทรงใช้สอย และก็ทรงใช้มาตลอด แม้จะเก่าขาดเปื่อยไปบ้างแล้ว ก็ยังทรงวางไว้ใต้อาสนะผืนใหม่ ด้วยความเคารพรักเสมอ

แม้เมื่อทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้ว อาสนะผืนดังกล่าว ก็โปรดให้วางไว้ใต้อาสนะที่ประทับ เคยมีเด็กจะเอาไปทิ้ง เพราะเห็นเป็นผ้าเก่าๆขาดๆ ทรงมีรับสั่งว่า “นั่นของโยมแม่ เอาไว้ที่เดิม”

และเมื่อพระชนนีถึงแก่กรรมแล้ว เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็ได้ทรงตั้งกองทุนชื่อว่า “นิธิน้อย คชวัตร” เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระชนกชนนีของพระองค์ ซึ่งมีนามว่าน้อยเหมือนกัน สำหรับเป็นทุนส่งเสริมการศึกษาของภิกษุสามเณรและเยาวชน เจ้าพระคุณสมเด็จฯ มักทรงปรารภว่า “เราไม่มีโอกาสเรียน จึงอยากส่งเสริมคนอื่นให้ได้เรียนมากๆ”

วัตรปฏิบัติ

ทรงตื่นบรรทมราวตีสี่ทุกวัน สวดมนต์ ทำวัตร และนั่งสมาธิ จากนั้นเสด็จรับบิณฑบาต พระองค์เสวยเพียงมื้อเดียวประมาณ 9 โมงเช้า และเสวยในบาตร หลังจากนั้นเป็นเวลาที่ทรงรับผู้มาเข้าเฝ้าประมาณ 1 ชั่วโมงในช่วงเช้า และช่วงบ่าย วันไหนหากไม่มีผู้มาเข้าเฝ้าก็จะทรงอ่านหนังสือและเขียนหนังสือ ถ้าเป็นวันพระตอนค่ำจะสอนสมาธิกรรมฐาน และลงพระอุโบสถทำวัตรค่ำ หลังจากนั้นจะเดินจงกรมบริเวณหน้าตำหนักราว 1 ชั่วโมง นั่งสมาธิ แล้วทรงงานต่อจนดึกดื่น จึงเข้าบรรทม

โปรดการปฏิบัติธรรม ณ วัดป่า

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงมีพระอัธยาศัยน้อมไปในทางวิเวก เมื่อมีโอกาสจึงเสด็จไปในสำนักวัดป่าทางภาคอีสาน เพื่อปฏิบัติสมาธิกรรมฐานเสมอๆ

พระองค์มักเสด็จไปพบครูบาอาจารย์กรรมฐานสายวัดป่าต่างๆ และประทับแรมที่วัดป่าทางภาคอีสานเสมอ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสนทนาธรรมอยู่เป็นนิจ เช่น เสด็จไปสนทนาธรรมกับพระอริยสงฆ์อย่างหลวงปู่ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่ดูลย์ อตุโล, หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี, หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน, หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ฯลฯ รวมทั้งเสด็จขึ้นเหนือไปพบหลวงปู่แหวน สุจิณโณ และเสด็จลงใต้ไปเยี่ยมเยียนท่านพุทธทาส อินทปัญโญ ที่สวนโมกขลาราม

หลวงปู่แหวนกล่าวกับศิษย์ผู้หนึ่งที่เดินทางไปกราบหลวงปู่ที่วัดดอยแม่ปั๋ง ว่า

“อยากกราบพระดีไม่ต้องดั้นด้นเดินทางมาถึงเชียงใหม่หรอก กราบอยู่ที่กรุงเทพฯก็ได้ สมเด็จญาณฯนั่นไง”

พระธรรมวิสุทธิมงคล หรือหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี ได้เคยกล่าวถึงเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ว่า

“ท่านเคยมาภาวนาที่นี่(วัดป่าบ้านตาด) แต่ก่อนที่ท่านยังไม่ได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช มาพักอยู่กับเรา ท่านมาแต่ละครั้งเป็นอาทิตย์ๆ ท่านมาบ่อยแหละ ท่านไปอยู่ทางกุฏิท่านสุดใจ แต่ก่อนหลังเล็กกว่านั้น ท่านไปพักอยู่คนเดียวตลอด เอาจริงเอาจังนะเวลาภาวนา..”

และแม้วัดญาณสังวรารามที่ทรงอำนวยการให้สร้างขึ้นที่บางละมุง จังหวัดชลบุรี ก็ทรงจัดให้มีเสนาสนะบริเวณเขาชีจรรย์สำหรับเป็นที่สงัดให้พระภิกษุสามเณรได้พำนักปฏิบัติธรรม และพระองค์เองก็ได้เสด็จไปพำนักเป็นระยะๆตลอดมา

“พระของประชาชน” ผู้สมถะ

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงปฏิบัติพระองค์อย่างเรียบง่าย แม้เสนาสนะที่อยู่อาศัยก็ไม่โปรดให้ประดับตกแต่ง ทรงเตือนพระภิกษุสามเณรอยู่เสมอว่า “พระเณรไม่ควรอยู่อย่างหรูหรา”

พระภิกษุที่ถวายการปรนนิบัติดูแลเล่าว่า แม้กระทั่งทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชแล้ว ที่บรรทมในตำหนักที่ประทับ ก็ยังคงเป็นเพียงเก้าอี้สปริงตัวเก่า ซึ่งสั้นเกินกว่าจะใช้นอนได้ จึงต้องใช้ตั่งต่อทางปลาย เพื่อวางพระบาท ถัดจากด้านปลายพระบาทไปก็เป็นโต๊ะเล็กๆอีกตัว ตั้งพัดลมเก่าๆ

และเมื่อครั้งที่รัฐบาลของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้กราบทูลอาราธนาเจ้าพระคุณสมเด็จฯ เสด็จเยือนจีนอย่างเป็นทางการนั้น ทางการจีนจัดการรับรองเจ้าพระคุณสมเด็จฯในระดับเดียวกับประมุขของประเทศ พระภิกษุผู้ติดตามเสด็จในครั้งนั้นยังจำได้ดีว่า

แม้ห้องบรรทมที่ทางการจีนจัดเตรียมไว้รับรองนั้นหรูหราราวกับห้องบรรทมของฮ่องเต้ ทว่าเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็ทรงเลือกที่จะปูผ้าอาบน้ำฝนบนพื้นพรม แล้วบรรทมตามวิสัยของสมณะ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ทรงมีสมณสัญญาและทรงระลึกถึงสมณสารูปอยู่เสมอ

สมัญญานาม “นั่งเหมือนสมเด็จญาณ”

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ทรงเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยสงบนิ่ง ตรัสแต่น้อยและเท่าที่จำเป็น ไม่นิยมพูดเล่น ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด ทรงอยู่ในอาการสำรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาอยู่ในอิริยาบถนั่ง แม้แต่ในงานพระราชพิธีก็จะประทับหลับตา แต่รู้เวลาที่จะทรงปฏิบัติกิจ เป็นที่รู้กันในหมู่ผู้ที่เกี่ยวข้อง จนเป็นที่มาของคำกล่าวว่า “นั่งเหมือนสมเด็จญาณ” คล้ายกับสมัญญานามที่คนทั่วไป ถวายสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) ว่า “พระสังฆราชไก่เถื่อน” ฉะนั้น

“ที่นี่” สรรพนามของเจ้าพระคุณสมเด็จฯ

เจ้าพระคุณสมเด็จฯ มีรับสั่งเสมอว่า “ที่นี่ เป็นพระของประชาชน จะไปลำเอียงไม่รับงานโน้นงานนี้ไม่ได้” (คำว่า “ที่นี่” เป็นสรรพนามที่ทรงใช้แทนพระองค์เองกับผู้ใกล้ชิด หรือในหมู่ญาติพี่น้อง)

ดังนั้น พระองค์จึงทรงรับกิจนิมนต์ไปงานต่างๆ แทบไม่ว่างเว้น มักเสด็จไปทุกงานที่กราบทูลอาราธนาเท่าที่เวลาจะอำนวย โดยไม่เลือกว่าจะเป็นงานเล็กหรืองานใหญ่ บางครั้งมีกิจนิมนต์ทั้งวัน แต่ก็ไม่เคยมีเสียงบ่นถึงความเหน็ดเหนื่อย แม้ว่าจะประชวรอยู่ก็ตาม

ครั้งหนึ่งตั้งแต่ทรงดำรงสมณศักดิ์ที่พระสาสนโสภณ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ทรงเข้ารับการรักษาพระองค์ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แต่ยังมีกิจนิมนต์ในพิธีเปิดศาลาการเปรียญที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดยโสธร ซึ่งทรงรับไว้ก่อนแล้ว จึงทรงขออนุญาตแพทย์เจ้าของไข้ไปในพิธีดังกล่าว ขณะที่ญาติโยมพากันกราบทูลคัดค้านไม่ให้เสด็จไป แต่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ กลับรับสั่งว่า “รับนิมนต์แล้วต้องไป ไม่เช่นนั้นงานเขาจะเสีย”

ในที่สุดก็เสด็จออกจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ประทับรถยนต์ไปตลอดคืน ไปสว่างที่จังหวัดยโสธรพอดี เมื่อเสร็จภารกิจในพิธีนั้นแล้ว ก็เสด็จกลับมาประทับรักษาพระองค์ที่โรงพยาบาลต่อไป

โทรจิตของพระสังฆราช

พลตรีอมรรัตน์ จินตกานนท์ อดีตนายทหารประสานงานของราชสำนักซึ่งได้ถึงแก่กรรมแล้วเคยเล่าว่า สมัยหนึ่งเมื่อครั้งยังปฏิบัติหน้าที่ราชการอยู่ ได้รับพระราชกระแสให้ไปนิมนต์พระมหาเถระฝ่ายอรัญวาสีองค์สำคัญของภาคอีสาน เพื่อมาร่วมงานราชพิธีส่วนพระองค์ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

พลตรีอมรรัตน์ จินตกานนท์ ได้ติดต่อไปทางจังหวัดประสานงานไปทางอำเภอ ตำบล และต้องให้คนขี่มอเตอร์ไซค์ไปที่วัด แต่ปรากฏว่าพระมหาเถระรูปนั้นได้ออกธุดงค์ไปแล้ว ไม่สามารถติดต่อได้ จึงนำความมากราบบังคมทูลให้ทรงทราบ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งว่าให้ไปเรียนพระสาสนโสภณ(ตำแหน่งเดิมของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช) ให้ช่วยนิมนต์ให้ ดังนั้น พลตรีอมรรัตน์ จินตกานนท์ จึงนำความไปเรียนให้พระสาสนโสภณทราบ ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณบ่ายโมงเศษ พระสาสนโสภณได้แจ้งว่าให้มาฟังผลในเวลา 16 นาฬิกา แล้วเดินขึ้นไปบนกุฏิชั้นบน

พลตรีอมรรัตน์ จินตกานนท์ ได้รอคอยจนถึงเวลา 16 นาฬิกา ก็ได้รับคำบอกกล่าวจากพระสาสนโสภณว่า ได้นิมนต์ตามพระราชประสงค์แล้ว ให้เอารถไปรับที่จุดนัดพบในเวลาที่นัดหมาย

พลตรีอมรรัตน์ จินตกานนท์ เดิมสำคัญว่า พระสาสนโสภณมีข่ายงานติดต่อพิเศษของคณะสงฆ์ แต่ก็รู้สึกแปลกใจ จึงสอบถามพระเลขานุการว่าการติดต่อได้ใช้วิธีใด ก็ได้รับคำบอกว่าเป็นการติดต่อทางโทรจิต

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพ : เว็บไซต์วัดบวรนิเวศวิหาร, หนังสือพระประวัติ, หนังสือพระผู้สำรวมพร้อม, หนังสือพระของประชาชน และหนังสือ ๙๙ คำถามเกี่ยวกับสมเด็จพระสังฆราช

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 155 พฤศจิกายน 2556 โดย กองบรรณาธิการ)
























กำลังโหลดความคิดเห็น