เสียงระเบิดที่ดังขึ้นในยามเช้าตรู่ของวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 ณ พุทธคยา อินเดีย พุทธสถานอันสำคัญยิ่งของชาวพุทธ มิได้ดังกึกก้องและสั่นสะเทือนเฉพาะในสถานที่นั้น แต่มันได้ดังกังวานและสะท้านเข้าไปถึงหัวใจของชาวพุทธทั่วโลกด้วย
เป็นเวลา 2,600 ปีมาแล้ว ที่พุทธคยาแห่งนี้ ได้เป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชน นับเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางสำคัญที่สุดของนักแสวงบุญชาวพุทธทั่วโลก ที่ต้องการมาสักการะสังเวชนียสถานแห่งนี้
ย้อนอดีตพุทธคยา สังเวชนียสถานสำคัญ จุดเริ่มต้นของพุทธศาสนา
ครั้งพุทธกาล พุทธคยาตั้งอยู่ด้านตะวันตกของแม่น้ำเนรัญชรา ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในแคว้นมคธ ชมพูทวีป แต่ปัจจุบัน พุทธคยา ตั้งอยู่ในอำเภอคยา ทางตอนใต้ของเมืองปัฏนา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย เป็น 1 ใน 4 สังเวชนียสถาน และถือว่าเป็นสถานที่สำคัญที่สุดของชาวพุทธทั่วโลก เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนา เป็นสถานที่ที่เจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
บริเวณกลุ่มพุทธสถานพุทธคยา อันเป็นอนุสรณ์สถานระลึกถึงการตรัสรู้ของพระพุทธองค์นั้น เช่น ต้นพระศรีมหาโพธิ์ (เป็นต้นที่สี่ที่แตกหน่อมาจากต้นเดิม ปัจจุบันมีอายุร้อยกว่าปี) พระแท่นวัชรอาสน์ ที่ประทับตรัสรู้ และอนิมิสเจดีย์ รัตนจงกรมเจดีย์ รัตนฆรเจดีย์ เป็นต้น เริ่มสร้างตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช และสร้างต่อเติมเรื่อยมาโดยกษัตริย์ชาวพุทธของอินเดีย
“มหาเจดีย์” สัญลักษณ์สำคัญของพุทธคยา
สัญลักษณ์ที่สำคัญโดดเด่นของพุทธคยา คือ องค์เจดีย์สี่เหลี่ยม สูง 51 เมตร ฐานวัดโดยรอบได้ 121.29 เมตร ผู้สร้างคือ พระเจ้าหุวิชกะ กษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์กุษาณะ ทรงมีพระราชศรัทธาสร้างถวายเป็นพุทธบูชา ในปี พ.ศ. 694 และเพื่อเป็นสถานที่สักการะสำหรับพุทธบริษัท องค์เจดีย์สร้างติดกับพระแท่นวัชรอาสน์ ทางทิศตะวันออก
ภายในประดิษฐาน “พระพุทธเมตตา” พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะแบบปาละ หน้าตักกว้าง 155 เซนติเมตร สูงประมาณ 160 เซนติเมตร ซึ่งรอดจากการถูกทำลายของกษัตริย์ฮินดู พระพุทธรูปองค์นี้ไม่ปรากฏว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่สันนิษฐานว่ามีอายุกว่า 1,500 ปี
พุทธคยาถูกปล่อยให้รกร้าง และถูกชาวฮินดูเข้าครอบครอง เมื่อกองทัพมุสลิมบุกเข้ามาโจมตีอินเดียเมื่อราว พ.ศ. 1742
ต่อมาในปี พ.ศ. 2417 พระเจ้ามินดง กษัตริย์แห่งพม่า ได้ส่งคณะทูตมายังอินเดีย เพื่อขอบูรณปฏิสังขรณ์พุทธสถานแห่งนี้ และหลังจากที่ผู้แทนจากพม่าจำเป็นต้องเดินทางกลับ ทางรัฐบาลอินเดียจึงรับงานบูรณะทั้งหมดมาทำแทน และเสร็จสมบูรณ์ ในปี พ.ศ. 2427
พุทธคยาได้รับการยกย่อง ให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก
กระทั่ง พ.ศ. 2500 เยาวหราล เนรูห์ นายกรัฐมนตรีอินเดีย ได้จัดเฉลิมฉลองพุทธชยันตี โดยเชิญชวนประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาทั่วโลก มาสร้างวัดไว้ในดินแดนพุทธภูมิ ซึ่งประเทศไทยได้เข้ามาดำเนินการสร้างวัดเป็นชาติแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 คือ วัดไทยพุทธคยา เป็นวัดไทยแห่งแรกในประเทศอินเดีย
ดังนั้น นอกจากพุทธสถานโบราณแล้ว บริเวณโดยรอบพุทธคยายังเป็นที่ตั้งของวัดพุทธนานาชาติอีกด้วย
พุทธคยาได้รับการยกย่องให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม ขององค์การยูเนสโก ในปี พ.ศ. 2545
ระเบิดพุทธคยา..รอดราวปาฏิหาริย์
เมื่อวันที่ 7 ก.ค. ได้เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่บริเวณพุทธคยา โดยระเบิดเวลาที่คนร้ายนำมาวางไว้มีทั้งหมด 10 ลูก ในจำนวนนี้ 8 ลูกได้ระเบิดต่อเนื่องในช่วงเวลาประมาณ 05.30-06.00 น. ลูกแรกที่ระเบิดนั้นวางอยู่ใกล้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ มีพระสงฆ์ได้รับบาดเจ็บ 2 รูป เป็นพระจากทิเบตวัย 50 ปี และพระจากพม่าวัย 30 ปี แต่ระเบิดทั้งหมดเป็นระเบิดแรงดันต่ำ จึงไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์
ลูกที่สองระเบิดขึ้นที่บริเวณวัดอนิมิสเจดีย์ โรจนะ ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของวัดมหาโพธิ ชั้นไม้ที่วางพระคัมภีร์ได้รับความเสียหาย
ระเบิดลูกต่อมาเกิดขึ้นที่ Butter lamp house ซึ่งอยู่ทางใต้ของวัดมหาโพธิ
ระเบิดลูกที่สี่ระเบิดที่ด้านทิศเหนือของวัด ภายในศาลเล็กๆ แต่พระพุทธรูปที่ประดิษฐานภายในไม่ได้รับความเสียหาย
นอกจากนี้ ระเบิด 3 ลูกได้ระเบิดขึ้นที่วัดทิเบต และอีก 2 ลูกที่วางไว้ใกล้กับพระพุทธรูปหินแกะสลักองค์ใหญ่ สูง 24 เมตร (สร้างโดยเงินสนับสนุนของญี่ปุ่นเมื่อปี 2524) และบริเวณป้ายรถโดยสารนอกวัด เจ้าหน้าที่สามารถเก็บกู้ได้
เอสเค พารวัช ผู้บัญชาการตำรวจประจำรัฐพิหาร เปิดเผยว่า ประตูด้านหนึ่งของวัดพุทธคยาได้รับความเสียหายอย่างหนัก อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจสันนิษฐานเบื้องต้นว่า น่าจะเป็นการกระทำของกลุ่มมูจาฮิดีนอินเดีย ซึ่งเคยก่อเหตุวางระเบิดตามสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศอินเดียมาแล้ว
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจกรุงนิวเดลียืนยันว่า เคยแจ้งล่วงหน้ามายังรัฐบาลรัฐพิหารเมื่อเดือนตุลาคมปี 2555 แล้วว่าจะมีการลอบวางระเบิดที่วัดมหาโพธิ และแม้จะมีการเสริมกำลังรักษาความปลอดภัย แต่ก็ทำได้แค่บริเวณรอบนอกวัด ไม่ใช่ด้านในวัด ซึ่งเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่วัดดูแลอยู่ เพราะปัจจุบัน พุทธคยาอยู่ในความดูแลของคณะกรรมการร่วม “พุทธ-ฮินดู”
เสียงประณามจากผู้นำ
นายมันโมฮัน ซิงห์ นายกรัฐมนตรีอินเดีย ได้ออกมาประณามอย่างรุนแรงต่อเหตุระเบิดดังกล่าวว่า "องค์ประกอบทางวัฒนธรรมและประเพณีของเรา สอนให้เราเคารพทุกศาสนา อินเดียจะไม่อดกลั้นต่อการโจมตีสถานที่ทางศาสนาเช่นนี้"
นายนิทิช กุมาร มุขมนตรีแห่งรัฐพิหาร ได้กล่าวประณามการกระทำครั้งนี้ และขอให้รัฐบาลกลางดูแลรักษาความปลอดภัยเป็นพิเศษอย่างเร่งด่วนแก่วัดมหาโพธิ
ส่วนกระทรวงมหาดไทยของอินเดียได้ออกประกาศคำเตือนไปยังทุกรัฐของอินเดีย ให้มีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษในเขตพุทธสถาน โบราณสถานที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา และเขตที่พักอาศัยของชาวทิเบต
ขณะที่นายมหินธา ราชปักษา ประธานาธิบดีแห่งศรีลังกา ถึงกับช็อคเมื่อทราบข่าว และรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่งกับเหตุการณ์ในครั้งนี้
องค์กรสงฆ์ร่วมประณาม
All India Bhiku Sangha ซึ่งเป็นองค์กรสงฆ์แห่งอินเดีย ได้ประณามเหตุการณ์ดังกล่าว ว่าเป็นการโจมตีผู้ส่งสารแห่งสันติภาพ โดย ภันเต สดานันท์ มหัสธาเวอร์ ประธานองค์กรสงฆ์กล่าวว่า
“บรรดาพระสงฆ์ทั่วประเทศรู้สึกเศร้าใจต่อเหตุโจมตีครั้งนี้ รวมถึงนานาประเทศด้วย เราพยายามนำพาผู้คนไปสู่หนทางที่ถูกต้อง และเราได้ตกเป็นเป้าหมายของการก่อการร้าย องค์กรสงฆ์แห่งอินเดียขอประณามการโจมตีครั้งนี้ ซึ่งไม่น่าเกิดขึ้น เราเป็นผู้ส่งสารแห่งสันติภาพไปทั่วโลก นี่คือความพยายามสร้างความหวาดกลัวและความขัดแย้งในหมู่ผู้ส่งสารแห่งสันติภาพ
พุทธคยาเป็นสถานที่ส่งสารแห่งสันติภาพไปทั่วโลก เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นแหล่งกำเนิดของการตรัสรู้ ปรัชญา และการศึกษา แก่ชาวโลก มีมหาวิทยาลัยและศูนย์การเรียนรู้หลายแห่งถือกำเนิดจากที่นี่”
นอกจากนี้ พระสงฆ์ในเมืองโกลกาตา เมืองหลวงของรัฐเบงกอลตะวันตกได้ออกมาเดินขบวนประท้วงเหตุระเบิดในครั้งนี้ด้วย
ขณะที่ประเทศไทย องค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก พร้อมทั้งเครือข่ายพระสงฆ์นานาชาติกว่า 10 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว ทิเบต เนปาล บังคลาเทศ พม่า ศรีลังกา อินเดีย เวียดนาม ไต้หวัน ที่ศึกษาอยู่ในประเทศไทย และองค์กรพุทธอื่นๆ รวมกว่า 500 รูป/คน ได้มาร่วมกันแสดงพลังในการปกป้องพระพุทธศาสนา ณ องค์การสหประชาชาติ และสถานทูตอินเดีย ประจำประเทศไทย โดยเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติ เข้ามาดูแลเรื่องสันติภาพและความปลอดภัยของพุทธคยา และให้รัฐบาลอินเดียเพิ่มมาตรการการป้องกันความปลอดภัยภายในพุทธสถานแห่งนี้
องค์ทะไล ลามะ แสดงความเสียใจ
องค์ทะไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณแห่งทิเบต ได้แสดงความเสียใจต่อเหตุระเบิดติดต่อกันหลายครั้งที่พุทธคยา
“เหตุการณ์นี้เกิดจากการกระทำของคนไม่กี่คน เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่แน่นอน มันเป็นเรื่องน่าเศร้าใจอย่างยิ่ง อาตมารู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้ง เมื่อทราบข่าวเหตุระเบิดติดต่อกันที่วัดมหาโพธิ พุทธคยา อาตมาขอสวดมนต์ให้พระคุ้มครองบรรดาผู้บาดเจ็บและครอบครัวของพวกเขา”
ด้านพระราชรัตนรังษี เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล เปิดเผยว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศฯ ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ได้สอบถามถึงสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้น และแสดงความห่วงใยพระธรรมทูตไทย และผู้จาริกแสวงบุญชาวไทยในพุทธคยา พร้อมทั้งได้แนะนำให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเคร่งครัด รวมทั้งได้มอบปัจจัย จำนวน 20,000 บาท เป็นเบื้องต้นให้แก่องค์กรที่ดูแลบริเวณต้นพระศรีมหาโพธิ์ เพื่อปรับภูมิทัศน์สภาพโดยรอบให้กลับคืนสภาพปกติโดยเร็ว และได้สอบถามถึงอาการบาดเจ็บของพระภิกษุผู้ประสบเหตุทั้งสองรูป
“ในฐานะที่วัดไทยพุทธคยาเป็นองค์กรสงฆ์นานาชาติ ที่มีบทบาทในฐานะเป็นศูนย์ประสานงานพระธรรมทูตไทยสายประเทศอินเดีย-เนปาล จึงได้ส่งผู้แทนสงฆ์เข้าร่วมประชุมกับองค์กรสงฆ์นานาชาติ เพื่อหามาตรการป้องกันและรักษาความปลอดภัยต่อพุทธสถานที่สำคัญแห่งนี้”
ทั้งนี้ หลังเหตุการณ์สงบ พระสงฆ์จาก 50 ประเทศในพุทธคยา ได้จัดพิธีสวดมนต์ขึ้นเป็นพิเศษที่วัดมหาโพธิ
สารจาก “เกียลวัง กรรมาปะ ที่17”
สังฆนายกแห่งพุทธศาสนามหายาน นิกายกาจูปะ
อาตมารู้สึกเศร้าใจที่ได้ยินว่า เกิดเหตุรุนแรงที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นที่วัดมหาโพธิและบริเวณพุทธคยา อันเป็นสถานที่ซึ่งบรรดาพุทธศาสนิกชนจากอินเดียและทั่วโลก ได้เดินทางมาแสวงบุญ เพื่อสักการะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและคำสอนของพระองค์
แม้ขณะนี้ เรายังไม่ทราบสาเหตุหรือตัวบุคคลผู้กระทำ อย่างไรก็ดี อาตมามั่นใจว่า ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน วิธีโต้ตอบเหตุการณ์ครั้งนี้เพื่อถวายเป็นสักการบูชาสูงสุดแด่พระพุทธองค์ คือการยึดมั่นในคำสอนของพระองค์ เรื่องความรักความเมตตาและอหิงสา(การไม่ใช้ความรุนแรง)
ดังนั้น อาตมาขอให้ชาวพุทธทั้งหลาย โปรดตั้งอยู่ในความสงบและยับยั้งจากการกระทำใดๆที่ก่อให้เกิดความรุนแรงยิ่งขึ้น อาตมาขอสวดมนต์ให้เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายและครอบครัวของเขา และวิงวอนชาวพุทธทั่วทุกหนแห่ง ให้น้อมนำคำสอนของพระพุทธองค์มาปฏิบัติอย่างแท้จริง
สารจาก “พระคาร์ดินัลออสวอลด์ กราเซียส์”
ประธานสภาพระสังฆราชแห่งอินเดีย (CBCI)
เลขาธิการสหพันธ์สภาพระสังฆราชแห่งเอเชีย (FABC)
ในฐานะที่เป็นชาวอินเดีย ข้าพเจ้ารู้สึกเจ็บปวดอย่างลึกซึ้งต่อเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นที่พุทธคยา ข้าพเจ้าขอให้ชาวพุทธที่เดินทางมาแสวงบุญจากทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากศรีลังกา จีน ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เชื่อมั่นว่า อินเดียเป็นดินแดนแห่งสันติภาพ มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และมีความปรองดอง พวกเราจะให้การสนับสนุนและสามัคคีกัน
ขอส่งความรักและห่วงใยให้แก่ผู้อยู่ในเหตุรุนแรงครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ
สารจาก “นายมหินธา ราชปักษา”
ประธานาธิบดีศรีลังกา
ด้วยความเศร้าสลดใจอย่างสุดซึ้ง ข้าพเจ้าขอประณามเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นที่พุทธคยา ในรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในพุทธสถานศักดิ์สิทธิ์สูงสุด เป็นที่เคารพบูชาอย่างสูง ไม่เพียงในหมู่พุทธศาสนิกชนทั่วโลก แต่ของปวงมนุษยชาติที่รักสันติภาพอีกด้วย
ศรีลังกาเคยเผชิญเหตุการณ์เศร้าสลดเช่นนี้มาก่อน เมื่อครั้งที่วัดพระเขี้ยวแก้ว ซึ่งเป็นวัดศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของประเทศ และต้นพระศรีมหาโพธิ์ ถูกผู้ก่อการร้ายโจมตีอย่างไร้ความปราณีเมื่อหลายปีก่อน เพราะฉะนั้น ประชาชนและรัฐบาลศรีลังกาจะให้การสนับสนุนประชาชนและรัฐบาลอินเดียอย่างเต็มที่ ในช่วงเวลาเลวร้ายนี้
เราหวังว่าผู้บาดเจ็บจากแรงระเบิด จะฟื้นตัวในเร็ววัน และขอภาวนาให้การบูรณะพุทธคยากลับมาเหมือนเดิมโดยเร็ว เพื่อให้ชาวพุทธและนักแสวงบุญอื่นๆ สามารถประกอบพิธีทางศาสนาได้ดังเดิม
การเคารพในทุกศาสนาและศาสนสถานที่เป็นที่เคารพบูชา เป็นสิ่งที่ต้องกระทำ หากเราต้องการสร้างสังคมที่เน้นเรื่องความสงบสุขและการอยู่ร่วมกัน การกระทำในลักษณะที่เป็นการก่อวินาศกรรม ทำลายล้าง และทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ที่มุ่งเป้าไปยังศาสนสถานใดๆ ต้องถูกประณามอย่างรุนแรง และปวงมนุษยชาติที่รักสันติภาพทั้งหลาย ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม ต้องร่วมมือกันขุดรากถอนโคนการกระทำใดๆ ที่มุ่งร้ายต่อศาสนาและศาสนสถานที่เป็นที่เคารพบูชา
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 152 สิงหาคม 2556 โดย กองบรรณาธิการ)