เอเจนซีส์ - อินเดียกับจีนตกลงกันที่จะศึกษาหาวิธีใหม่ๆ ในการคลี่คลายข้อพิพาทเรื่องชายแดนซึ่งบั่นทอนความสัมพันธ์ทวิภาคีมายาวนานหลายสิบปี นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ของจีนแถลงที่กรุงนิวเดลีเมื่อวันจันทร์ (20 พ.ค.) ในระหว่างการเยือนต่างประเทศเที่ยวแรกของเขานับแต่ขึ้นดำรงตำแหน่ง ทั้งนี้เขาเสนอ “การจับมือข้ามเทือกเขาหิมาลัย” ระหว่างแดนมังกรกับแดนภารตะ และย้ำว่าสัมพันธภาพที่แน่นแฟ้นระหว่างมหาอำนาจแห่งเอเชียสองรายนี้ คือกุญแจสำคัญของสันติภาพและความมั่งคั่งของโลก
หลี่ กล่าวระหว่างนำทีมรัฐมนตรีของแดนมังกร ร่วมลงนามในข้อตกลงหลายๆ ฉบับกับแดนภารตะว่า ปักกิ่งมีความมุ่งมั่นจริงจังที่จะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับนิวเดลี
ด้านนายกรัฐมตรี มานโมหัน ซิงห์ ของอินเดีย ผู้เป็นเจ้าบ้าน ก็กล่าวย้ำเช่นกันว่า เขาถือว่าความสัมพันธ์ทวิภาคีอันดีระหว่างสองประเทศนี้ คือกุญแจดอกสำคัญที่สุดสำหรับการพัฒนาภูมิภาคแถบนี้ในวงกว้างออกไป
การเยือนอินเดียของหลี่ในคราวนี้ บังเกิดขึ้นหลังจากข้อพิพาทด้านพรมแดนในบริเวณเทือกเขาหิมาลัยระหว่างสองประเทศได้ปะทุขึ้นมาเมื่อเดือนที่แล้ว โดยที่อินเดียกล่าวหาว่า กองทหารจีนบุกรุกเข้าไปในดินแดนซึ่งอินเดียอ้างอธิปไตยเป็นระยะทางเกือบ 20 กิโลเมตร จึงทำให้เกิดการเผชิญหน้าอยู่นาน 3 สัปดาห์ ก่อนที่จะคลี่คลายลงเมื่อกองกำลังของทั้งสองฝ่ายต่างล่าถอยออกไป
ทั้งนี้ เส้นพรมแดนหรือที่เรียกขานว่า “เส้นควบคุมแท้จริง” ระหว่าง 2 ชาติเพื่อนบ้านที่ต่างมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองนี้ ไม่ได้เคยมีการตกลงปักปันกันอย่างเป็นทางการเลย ถึงแม้ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนามในข้อตกลงหลายฉบับเพื่อรักษาภาวะสันติในบริเวณแนวชายแดนเอาไว้ ภายหลังเกิดสงครามช่วงสั้นๆ ระหว่างประเทศทั้ง 2 เมื่อปี 1962
ซิงห์ แถลงภายหลังการพบปะเจรจากับหลี่ในวันจันทร์ว่า เวลานี้ทั้งสองฝ่ายมีความปรารถนาที่จะแก้ไขข้อพิพาทนี้ และจะมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อให้มีการทำข้อตกลงสุดท้ายกันให้สำเร็จ โดยในเร็วๆ นี้ ผู้แทนพิเศษของสองประเทศจะเปิดการหารือกัน เพื่อกำหนดกรอบโครงของข้อตกลงสำหรับการยุติข้อพิพาทด้วยความเป็นธรรม มีเหตุผล และยอมรับได้ของทั้งสองฝ่าย
ขณะที่หลี่แถลงในโอกาสเดียวกันว่า ข้อพิพาทพรมแดนนี้เป็นสิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์ และประเทศทั้งสองมีความปรารถนาร่วมกันที่จะก้าวข้ามผ่านเรื่องนี้ไป
นายกรัฐมนตรีจีนซึ่งมาถึงนิวเดลีตั้งแต่เย็นวันอาทิตย์ (19) ได้กล่าวก่อนหน้านี้ด้วยว่า ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างอินเดียกับจีนจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงสำหรับสันติภาพในเอเชียและทั่วโลก เช่นเดียวกันพัฒนาการและความมั่งคั่งของโลกไม่สามารถเป็นจริงได้หากปราศจากการร่วมมือและการพัฒนาที่พร้อมเพรียงของจีนและอินเดีย
เขาเขียนบทความซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในหน้าบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์เดอะ ฮินดู ของอินเดียฉบับวันจันทร์ โดยเสนอ “การจับมือกันข้ามเทือกเขาหิมาลัย” ระหว่างแดนมังกรกับแดนภารตะ และระบุว่า หากร่วมมือกัน จีนและอินเดียที่เป็นตลาดเกิดใหม่ยักษ์ใหญ่ จะกลายเป็นเฟืองจักรตัวใหม่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก
สำหรับข้อตกลงที่จีนกับอินเดียลงนามกันในคราวนี้ มีด้วยกันหลายฉบับโดยเป็นความร่วมมือกันตั้งแต่ภาคเกษตรกรรมไปจนถึงการท่องเที่ยวและการค้า
นอกจากนี้ยังมีการตกลงแก้ไขข้อพิพาทเกี่ยวกับแผนการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำเพิ่มอีก 3 แห่งของจีนในแม่น้ำพรหมบุตร หรือ ยาร์ลุง ซางโป ในภาษาจีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นพรมแดนระหว่างสองประเทศ
นอกจากหารือกับซิงห์แล้ว หลี่ยังมีกำหนดการพบปะกับ ซาลมาน คูร์ชิด รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย, ซอนยา คานธี ประธานพรรคคองเกรส ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลผสมชุดปัจจุบันของอินเดีย ตลอดจนคณะสมาชิกอาวุโสของพรรคภระติยะ ชันนะตะ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านใหญ่ที่สุด ก่อนเดินทางต่อไปเยือนเมืองมุมไบ ศูนย์กลางการเงินของอินเดียในวันอังคาร (21)
ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของอินเดีย โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 66,500 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว และสองประเทศหวังว่า ตัวเลขนี้จะเพิ่มเป็น 100,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2015
รายงานระบุว่า มีการปิดถนนสำคัญหลายสายในเมืองหลวงของอินเดียเพื่อป้องกันผู้ประท้วงชาวทิเบตก่อกวนการเยือนของหลี่ ขณะที่กลุ่มผู้ลี้ภัยร้องเรียนเรื่องการใช้นโยบายกดขี่ในสองประเทศเพื่อนบ้าน
เกี่ยวกับเรื่องทิเบตนั้น ก็ได้มีการหยิบยกประเด็นทะไล ลามะขึ้นหารือ โดยจีนมองว่า ทะไล ลามะ เป็นนักแบ่งแยกดินแดนที่ลี้ภัยอยู่ในอินเดีย ขณะที่นิวเดลีย้ำจุดยืนของตนว่า ทะไล ลามะ เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและศาสนา
ภายหลังเสร็จสิ้นการเยือนอินเดีย หลี่ มีกำหนดเดินทางต่อไปยังปากีสถาน สวิตเซอร์แลนด์ และเยอรมนี