xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : นักวิชาการเชื่อ “มองโกเลีย” แหล่งขุมทรัพย์คัมภีร์โบราณทางพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บรรดานักวิชาการเชื่อว่า มองโกเลียเป็นแหล่งขุมทรัพย์คัมภีร์โบราณทางพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยถูกเก็บรวบรวมไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ทราบจำนวนที่แน่นอน

หอสมุดแห่งชาติ ประเทศมองโกเลีย ตั้งอยู่ย่านใจกลางเมืองหลวง “อูลานบาตอร์” เป็นสถานที่เก็บรวบรวมคัมภีร์ เอกสารและหนังสือทางพุทธศาสนามากกว่า 1 ล้านเล่ม ในจำนวนนี้มีทั้งชิ้นงานที่เป็นของมองโกเลียดั้งเดิม และที่เป็นฉบับสำเนาเนื้อหาเกี่ยวกับหลักพุทธศาสนาแบบทิเบตในยุคแรกๆที่หาได้ยาก

คัมภีร์ทิเบตดั้งเดิมจำนวนมากสูญหายหรือถูกทำลายในช่วงที่จีนเข้ารุกรานทิเบตในปี 1950 แต่ยังนับว่าโชคดีที่มองโกเลียมีสายสัมพันธ์อันดีกับทิเบตมานานหลายศตวรรษ จึงเชื่อได้ว่า ยังพอมีคัมภีร์ทิเบตดั้งเดิมหลงเหลืออยู่ในมองโกเลีย

ความเชื่อมโยงระหว่างมองโกเลียกับพุทธศาสนาแบบทิเบตนั้น เริ่มขึ้นในศตวรรษที่ 4 และต่อมาในปี 1587 ผู้ปกครองมองโกลในยุคนั้นได้มอบพระนาม “ทะไล ลามะ” (ทะไล เป็นภาษามองโกล แปลว่ามหาสมุทร ส่วน ลามะ เป็นภาษาทิเบต แปลว่า ผู้รู้) ให้ “โซนัม เกียตโซ” ผู้นำจิตวิญญาณแห่งทิเบตองค์ที่สาม จากนั้น “ทะไล ลามะ” ก็ได้กลายเป็นชื่อที่ใช้เรียกผู้นำจิตวิญญาณแห่งทิเบตที่ได้รับการสืบทอดต่อๆมา

ในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา มีการนำคัมภีร์ทิเบตศักดิ์สิทธิ์เข้ามาในมองโกเลียจำนวนหลายแสนเล่ม เพื่อแปลเป็นภาษามองโกลหรือถวายให้แก่วัดต่างๆ

และนอกจากคัมภีร์โบราณของทิเบตและมองโกเลียแล้ว ยังมีคัมภีร์โบราณที่เขียนด้วยลายมือเป็นภาษาสันสกฤตซึ่งหายาก รวมทั้งบทกลอน 800 บทที่เขียนโดยนาคารชุน (นักปราชญ์ชาวอินเดียในศตวรรษที่ 2 เป็นผู้ก่อตั้งสำนักมัธยมกะ (ทางสายกลาง) ในนิกายมหายาน) จารึกบนเปลือกไม้เบิร์ช เก็บรวมอยู่ในหอสมุดแห่งนี้ด้วย

“คัมภีร์เหล่านี้ไม่ใช่เป็นเพียงสมบัติของชาติ แต่เป็นสมบัติของโลก มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ทิเบตหรือมองโกเลียเท่านั้น แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ” ชิลาจาฟ ไคดาฟ ผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติ กล่าว

นัมโมเชียร์ กอนชอก นักวิชาการด้านพุทธศาสนา กล่าวว่า การที่หอสมุดแห่งชาติได้คัมภีร์เหล่านี้มาอยู่ในครอบครอง จนกลายมาเป็นมรดกพุทธศาสนาของชาตินั้น เป็นเรื่องน่ายินดีพอๆกับเป็นความทรงจำอันเจ็บปวดรวดร้าวในยุคที่มองโกเลียถูกปกครองด้วยลัทธิคอมมิวนิสต์

ในช่วงปี 1930 ทหารโซเวียตได้สั่งกวาดล้างพุทธศาสนาในมองโกเลีย ฆ่าพระสงฆ์กว่า 30,000 รูป และรื้อถอนทำลายวัดราว 700 แห่ง เมื่อข่าวการกวาดล้างนี้แพร่สะพัดออกไป ชาวมองโกลทั่วประเทศซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ จึงพากันนำคัมภีร์และโบราณวัตถุทางพุทธศาสนาไปแอบซ่อนไว้ และช่วยกันค้นหาโบราณวัตถุที่ยังหลงเหลือจากซากวัดต่างๆที่ถูกทำลายมาเก็บไว้

คัมภีร์ที่ถูกเก็บซ่อนไว้ เริ่มทยอยนำออกมาในช่วงยุค 1960 เมื่อสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติได้ก่อตั้งกองมองโกเลียและทิเบตศึกษาขึ้นในปี 1985 ทันทีที่ชาวบ้านเชื่อว่าจะมีการอนุรักษ์คัมภีร์พุทธศาสนา จึงพร้อมใจกันนำคัมภีร์โบราณมาบริจาค

ในปี 1999 Asian Classic Input Project (ACIP) ที่ตั้งอยู่ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่แสวงผลกำไร มีจุดมุ่งหมายเพื่อค้นหาคัมภีร์โบราณภาษาทิเบตและสันสกฤตที่ล้ำค่าและหายาก จัดเก็บเป็นบัญชีรายชื่อ อนุรักษ์ลงในรูปแบบดิจิตอล และเผยแพร่โดยไม่คิดมูลค่า ได้เข้ามาช่วยเหลือโดยเริ่มจัดทำบัญชีรายชื่อคัมภีร์ที่เก็บอยู่ในห้องสมุด แต่การดำเนินงานได้สะดุดหยุดลงในปี 2008

กอนชอกบอกว่า อุปสรรคในการอนุรักษ์คัมภีร์โบราณของACIP มาจากการที่คนทั่วไปรับรู้ว่าคัมภีร์เหล่านี้ตีมูลค่าเป็นเงินได้ รวมทั้งเกิดความคลางแคลงใจในหมู่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ถึงสาเหตุที่ต่างชาติให้ความสนใจในคัมภีร์

“ผู้คนคิดว่าคัมภีร์เหล่านี้สามารถขายได้เป็นเงินจำนวนมาก แต่คุณค่าที่แท้จริง อยู่ที่เนื้อหาในคัมภีร์ต่างหาก ความรู้ที่ประเมินค่ามิได้นี้ เป็นสิ่งที่เราต้องเข้าใจและอนุรักษ์ไว้”

อย่างไรก็ตาม หลังจากโครงการอนุรักษ์คัมภีร์โบราณได้หยุดดำเนินการไปนานเกือบ 5 ปี ACIPก็ได้กลับมารื้อฟื้นโครงการอีกครั้ง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2013 ด้วยเงินสนับสนุนชั่วคราวจาก Global Institute For Tomorrow (GIFT) ที่ตั้งอยู่ในสิงคโปร์ และ Think-Tank ซึ่งคาดว่าจะใช้เงิน 1.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 33 ล้านบาท)

“มันเป็นงานที่เดินไปอย่างช้าๆและเป็นแบบแผน” งาวัง เกียตโซ ชาวทิเบตที่อาศัยอยู่ในอินเดีย และเป็นผู้ดูแลการจัดทำบัญชีรายชื่อให้หอสมุดกล่าว

คัมภีร์แต่ละหน้าต้องศึกษาอย่างระมัดระวังว่า ใช้วัสดุชนิดใด มีแหล่งกำเนิดจากไหน รวมถึงรูปแบบตัวหนังสือและการพิมพ์ ตรายางประทับของวัด รายละเอียดเหล่านี้จะช่วยให้ตัดสินได้ว่า เอกสารถูกทำขึ้นที่ไหน เมื่อไร หลังจากนั้นต้องแปลงชื่อคัมภีร์เป็นตัวอักษรละติน และบันทึกรายละเอียดของคัมภีร์ลงในฐานข้อมูล

ผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติยอมรับว่า มีคัมภีร์จำนวนมากอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างหนัก และถูกเก็บในสภาพที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากสถานที่เก็บคับแคบ จึงต้องวางเป็นกองๆซ้อนกันในห้องเก็บของ แม้รัฐบาลจะให้งบประมาณในการวิจัยและอนุรักษ์คัมภีร์มองโกลโบราณ แต่ก็เพิ่งดำเนินการไปเพียงเล็กน้อย

ทั้งนี้ ACIP ได้ปรับปรุงฮาร์ดแวร์ให้ทันสมัย และเผยว่า ด้วยงบประมาณที่เพียงพอ จะสามารถจัดทำบัญชีรายชื่อคัมภีร์ทั้งหมดในหอสมุดได้สมบูรณ์ภายใน 3 ปี

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 147 มีนาคม 2556 โดย บุญสิตา)




กำลังโหลดความคิดเห็น