xs
xsm
sm
md
lg

ทูตมะกันย่องสำรวจถิ่นทิเบต เร่งจีนทบทวนนโยบายใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ นายแกรี่ ล็อค เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงปักกิ่ง (ซ้าย) เข้าพบประธานาธิบดีหู จิ่นเทา (ขวา) เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ในกรุงปักกิ่ง (ภาพรอยเตอร์ส)
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสท์--แกรี่ ล็อค เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงปักกิ่ง เร่งให้จีนตรวจสอบนโยบายต่อชนชาติทิเบตอีกครั้ง พร้อมกับได้ยอมรับว่า เขาไปเยือนอารามทิเบตอย่างเงียบๆระหว่างสถานการร์ตึงเครียดการประท้วงจุดไฟเผาตัวประท้วงรัฐบาลที่ถี่ยิบขึ้น

แกรี่ ล็อค เอกอัครราชทูตฯ ที่พูดจากกรุงปักกิ่งไปยังการประชุมออนไลน์ในสหรัฐฯ ว่า เขาไปเยือนอารามทิเบตเมื่อเดือนที่แล้ว (ก.ย.) ซึ่งเป็นช่วงตึงเครียดจากเหตุรุนแรงในชุมชนทิเบตเมืองอาป้า เพื่อ “ซึมซับถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวทิเบต”

เมืองอาป้า ตั้งอยู่ในมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) เป็นแคว้นปกครองตัวเองชนชาติทิเบตแห่งหนึ่งและเป็นเกิดการประท้วงต่อต้านนโยบายของรัฐบาลจีนอยู่บ่อยครั้ง

“เราวิงวอนให้รัฐบาลจีนพบกับตัวแทนของชาวทิเบต เพื่อที่จะจัดการปัญหาและพิจารณาใหม่อีกครั้งถึงนโยบายบางอย่าง เพื่อคลี่คลายการปะทะรุนแรงและการจุดไฟเผาตัว” ล็อคกล่าว

นอกจากนี้ เขายังกล่าวอีกว่า “เราเป็นห่วงอย่างยิ่งถึงกรณีความรุนแรงจากการจุดไฟเผาตัว ซึ่งเกิดขึ้นมาหลายปี ไม่มีใครต้องการให้เกิดการกระทำเช่นนี้ หรือชาวบ้านหันไปใช้วิธีเช่นนี้ มีคนตายมากเหลือเกิน” ล็อคยังเรียกเหตุการณ์เผาตัวว่า “เป็นเหตุการณ์ที่น่าสังเวชเหลือเกิน”

สหรัฐฯ เร่งจีนอยู่หลายครั้งในการดูแลความคับข้องใจของชาวทิเบต แต่สำหรับเจ้าหน้าที่หรือสื่อต่างชาติที่จะเข้าไปในพื้นที่ชุมชนทิเบตโดยไม่มีการตรวจสอบนั้นเป็นไปได้ยากมาก

ในแถลงการณ์ก่อนหน้านี้ ทางวอชิงตันได้เร่งให้ผู้นำจีนดำเนินการเจรจาอีกรอบกับองค์ทะไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณสูงสุดของทิเบต และเป็นผู้นำรัฐบาลพลัดถิ่นที่ธรรมศาลา ประเทศอินเดีย ให้กลับสู่บ้านเกิด

การเยี่ยมเยือนเขตชนชาติทิเบตของล็อก แสดงถึงการจัดการของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่กำลังมองหาหนทางใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในจีน ซึ่งโดยปกติแล้วสหรัฐฯ จะวิจารณ์อย่างแรงต่อกรณีนี้

โอบามาต้องเผชิญกับคำวิจารณ์จากคู่แข่งพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งครั้งใหม่ (7 พ.ย.) โดยให้เขาพูดจาตรงไปตรงมากรณีสิทธิมนุษยชนของจีน รวมทั้งการค้าและอัตราแลกเปลี่ยน

ทว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่า ความสำเร็จทางการทูตอย่างไม่เปิดเผยเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้จีนอนุญาตให้เฉิน กวงเฉิง นักเคลื่อนไหวตาบอด ย้ายไปยังนครนิวยอร์กได้

ต่อคำถามที่เกี่ยวข้องกับ “หอประชุมไชน่าทาวน์” ใน 60 เมืองทั่วทั้งสหรัฐฯ ล็อคกล่าวว่า เขาได้ไปเยือนเมืองอาป้า หลังจากทริปเมืองหลักๆ ในซื่อชวน เพื่อส่งเสริมการค้าสหรัฐฯ

ก่อนหน้านี้ วิคตอเรีย นูแลนด์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศยอมรับว่าล็อคไปเยือนทิเบตจริง หลังจากที่ผู้สื่อข่าวนิวยอร์ก ไทมส์ ลงภาพถ่ายของล็อคในชุดสูท และกำลังทักทายกับลามะทิเบตองค์หนึ่ง

หนังสือพิมพ์ดังกล่าวเผยว่า ล็อคไปเยือนอาราม 2 แห่งในเมืองซ่งพัน หรือหง่าปาในภาษาทิเบต ซึ่งเป็นที่ตั้งของอารามกีรติและมีการจุดไฟเผาตัวประท้วงนโยบายจีน

รายงานสิทธิมนุษยชนแต่ละปีของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เผยว่า จีนปฏิเสธสิทธิทางการเมืองและศาสนาพุทธแบบทิเบต และยังปฏิเสธให้เงินช่วยเหลือ และกล่าวอีกว่าจะนำการลงทุนและความทันสมัยไปสู่ทิเบต

ล็อค เป็นสัญชาติจีน-อเมริกันคนแรกที่ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงปักกิ่ง และดึงดูดสาธารณชนชาวจีนด้วยพฤติกรรมที่อ่อนน้อมถ่อมตน และได้กล่าวไว้ว่า เขาพบว่าจีน “ให้การต้อนรับและเข้ามามีส่วนร่วม” กับเขาอย่างมาก ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง

จากข้อมูลกลุ่มฟรีทิเบต และกลุ่มรณรงค์ฯ เผยว่า ชาวทิเบตจุดไฟเผาตัวในจีนตั้งแต่เดือนก.พ. 2552 เป็นต้นมา โดยรายแรกคือ ลามะหนุ่มนามว่า ทาเพย์ จากอารามกีรติ ขณะจุดไฟเผาตัว ก็ป่าวประกาศต่อต้านรัฐบาลจีน และเรียกร้องให้องค์ทะไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณสูงสุดของทิเบต และเป็นผู้นำรัฐบาลพลัดถิ่นที่ธรรมศาลา ประเทศอินเดีย ให้กลับสู่บ้านเกิด และจนถึงขณะนี้มีเหตุชาวทิเบตประท้วงด้วยการจุดไฟเผาตัวทะลุ 60 รายแล้ว

ฝ่ายรัฐบาลจีน ประณามองค์ทะไล ลามะ ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความไม่สงบ และรัฐบาลฯ ยังคงกวาดล้างลามะทิเบตและแม่ชี ที่สนับสนุนองค์ทะไล ลามะ และกลุ่มเคลื่อนไหวปลดปล่อยชาวทิเบต

ทั้งนี้ หลังจากที่ผู้นำคอมมิวนิสต์สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็ได้ส่งกองกำลังไปยังทิเบต พร้อมกับประกาศผนวกดินแดนให้อยู่ภายใต้การปกครองของจีน ในฐานะเขตปกครองตนเองชนชาติทิเบต แต่ชาวทิเบตได้ลุกฮือ ต่อต้าน และเกิดสงครามปะทะกันอย่างรุนแรง ระหว่างชาวทิเบตและกองทัพปลดแอกประชาชนจีนในปีพ.ศ. 2502 ฝ่ายทิเบตพ่ายแพ้ ทำให้องค์ทะไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณสูงสุดทิเบต ต้องลี้ภัยไปยังประเทศอินเดีย และจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่ธรรมศาลา

ความขัดแย้งระหว่างจีนและรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน แม้มีการเจรจาระหว่างสองฝ่ายหลายครั้ง แต่ก็ยังล้มเหลว จีนยังคงกล่าวหาองค์ทะไล ลามะ ว่าเป็นผู้ยุแหย่ศึกรุนแรงและลัทธิแบ่งแยกดินแดน
กำลังโหลดความคิดเห็น